เรื่องลับๆ ฉบับวังหลวง : แผ่นดิน2กษัตริย์ สู่รอยร้าวในราชสำนัก!

ซ้าย- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขวา- พระเจ้าบวรวงศ์เธอฯ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ครั้งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราชวงศ์วงศ์จักรีได้มีพระเจ้าอยู่หัวถึงสองพระองค์ครองราชสมบัติปกครองประเทศร่วมกัน คือ สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) ทรงมีพระอนุชา (น้องชาย) อยู่หนึ่งพระองค์นามว่า "สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑามณี" ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงให้ความรักและเมตตาต่อพระอนุชาองค์นี้มาก และพระอนุชาเองก็ทรงให้ความรักและเคารพต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ผู้เป็นพี่ชายเช่นกัน ทั้งสองพระองค์เป็นพี่น้องที่ประสูติจากแม่เดียวกัน ประทับร่วมกัน ผ่านสุขร่วมทุกข์กันมาโดยตลอด
ด้วยความรักของพี่น้องที่มีต่อกัน ประกอบกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีวิชาความรู้ทางโหราศาสตร์ พระองค์เห็นว่าดวงพระชะตาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑามณีนั้นแข็งแกร่งมาก บารมีไม่ได้น้อยไปกว่าพระองค์เลย ตัวของสมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฑามณีนั้นก็รับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นถึงผู้บัญชาการกรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืน เป็นต้น นับว่าประสบการณ์มีมากนัก หากยกขึ้นเป็นกษัตริย์คู่กับพระองค์แล้วไซร้ ก็จะเป็นผลดีต่อราชสำนักสืบไป
พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฑามณี ขึ้นเป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษก ทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"
ในต้นปี พ.ศ. 2408 สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงมีพระอาการประชวรที่หาสาเหตุพระโรคได้ไม่แน่ชัด พระจอมเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทับเยี่ยมไข้ที่วังหน้า (ธรรมศาสตร์) เป็นประจำทุกวัน ดูแลพระอนุชาจนนาทีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ จนเวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา หลังจากนั้นเพียง 3 ปีเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ก็สวรรคต สิ้นสุดแผ่นดินสองกษัตริย์




เรื่องลับๆ ฉบับวังหลวง : แผ่นดิน2กษัตริย์ สู่รอยร้าวในราชสำนัก!

กำเนิดรอยร้าว ระหว่างลูกพระจอมกับลูกพระปิ่น

เหตุการณ์หลังการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
1. ในที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางได้มีมติเอกฉันท์เห็นควรให้ยกราชสมบัติตกแก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่4 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 พระนามว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระชนมายุ 15 พรรษา ปกครองพระบรมหาราชวัง หรือวังหลวง

2. ในที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางได้มีมติเอกฉันท์เห็นควรให้ยกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร(พระมหาอุปราช,วังหน้า) แก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้า พระนามว่า พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยูรยศ ขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขณะนั้นพระชนมายุ๓๑ พรรษา ปกครองพระราชวังบวร หรือวังหน้า(ธรรมศาสตร์)
ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2417 พระองค์ทรงริเริ่มปฏิรูปการปกครองประเทศโดยการดึงอำนาจเข้าศูนย์กลาง ทรงตั้งระบบหอรัษฎากรพิพัฒน์ (ปัจจุบันคือ กระทรวงการคลัง) เพื่อรวบรวมการเก็บภาษีทั้งหมดมาไว้ในที่เดียว ซึ่งทำให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่บางท่านไม่พอใจ เพราะกระทบต่อการเก็บรายได้ โดยเฉพาะเจ้าวังหน้าที่แต่เดิมนั้นมีรายได้ถึง 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ในที่สุดก็มีข่าวว่าวังหน้าริเริ่มสะสมกำลังทหารซึ่งมีมากถึง 2,000 นาย สถานการณ์ทั้ง 2 วังเริ่มตึงเครียด ความสัมพันธ์ของวังหลวงและวังหน้าได้ตัดขาดลงบางส่วน ชาวบ้านประชาชนหวั่นเกรงว่าอีกไม่นานต้องเกิดสงครามระหว่าง กษัตริย์กับอุปราชเป็นแน่

แต่แล้ว!!ในปีเดียวกันนั้นเวลาประมาณห้าทุ่มเศษ ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่วังหลวงซึ่งเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้คลังแสงและวัดพระแก้ว ในเวลาเดียวกันนั้นก็พบเหล่าทหารวังหน้าที่ดูเหมือนจะบังเอิญมาประจำการอยู่บริเวณรอบๆจุดเกิดเหตุ และพยายามที่จะเข้ามาช่วยดับไฟแต่กับมีอาวุธติดกายมาด้วย ทหารวังหลวงเห็นเข้าจึงขัดขวางและปฏิเสธความช่วยเหลือ


ซ้าย- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขวา- พระเจ้าบวรวงศ์เธอฯ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในวังหลวงผ่านไป สถานการณ์ยิ่งทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ตึกรามบ้านช่องการค้าขายเงียบสนิท เวลากลางวันไม่ต่างอะไรกับเวลากลางคืน ชาวบ้านในเกาะรัตนโกสินทร์ต่างพากันร่ำลือไปต่างๆนาๆ ไม่นานนักวังหลวงจึงเกณฑ์ทหารราชองครักษ์ออกมาล้อมวังพร้อมติดอาวุธลาดตระเวนตลอดทั้งวันทั้งคืน กรมพระราชวังบวรฯแห่งวังหน้าเห็นกาลเป็นเช่นนั้นจึงบัญชาการทหารราชองครักษ์ออกมาล้อมวังเช่นกัน นับจำนวนพลได้ 600 นาย

ปัญหาต่างๆยังไม่ทันคลี่คลาย ก็มาปรากฏตัวแปรสำคัญของวิกฤตการณ์ครั้งนี้อีก 1 คน (มีกล่าวไว้ในบางช่วงของหนังสือ โครงกระดูกในตู้ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) คือ หม่อมเจ้าหญิงสายวังหลวง พระนามว่า หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เจ้าหญิงผู้มีอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว ปราดเปรียว แตกต่างไปจากราชนารีในสมัยนั้น ครั้นเป็นสาวแรกรุ่นได้รับการหมั้นหมายให้ไปเป็นชายาเอกของ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล แต่มารู้ภายหลังว่าพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลมีหม่อมอยู่แล้วในวัง จึงมิทรงยอม และโยนสินสอดทองหมั้นทิ้งหน้าต่างตำหนักเรี่ยราดไปกับพื้น จนพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลต้องให้มหาดเล็กมาเก็บคืนไป จากนั้นไม่นานหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดจึงเสกสมรสกับ พระองค์เจ้าชายเฉลิมลักษณ์ ผู้เป็นพระอนุชา (น้องชาย) ของกรมพระราชวังบวรฯ หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงเป็นสะใภ้วังหน้าอย่างเต็มตัว เริ่มเอาพระทัยออกห่างจากวังหลวงขึ้นตรงกับวังหน้า ในวันเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่วังหลวง อยู่ๆท่านหญิงฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาขนสมบัติทิ้งพระสวามีหนีไปยังเขมร เหมือนกับว่าไปทำความผิดร้ายแรงรู้เห็นเป็นใจในเรื่องที่เกิดขึ้น

เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำในข่าวที่ร่ำลือ จนแพร่กระจายไปจนถึงวังหน้า ว่า! พระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 5 จะบัญชาการให้ทัพวังหลวงบุกเข้าตีวังหน้าเพื่อจะจับตัวกรมพระราชวังบวรฯให้ได้ เมื่อทางวังหน้าได้ข่าวมาเช่นนั้น เหล่าพระราชวงศ์ และขุนนางของวังหน้าจึงทูลเชิญกรมพระราชวังบวรฯให้เสด็จหนีไปยังบริเวณท่าน้ำ(ท่าน้ำธรรมศาสตร์)โดยเรือพระที่นั่งกลไฟทันทีโดยมีเจ้าคุณจอมมารดาเอมผู้เป็นแม่และพระขนิษฐากับคนสนิทรวมแล้วกว่า 6 คน ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปขึ้นยังท่าบางรักเพื่อขอลี้ภัยอยู่ในสถานทูตประเทศอังกฤษ เนื่องจากพระองค์ทรงรู้จักมักคุ้นกับนายน๊อกซ์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกงสุลอยู่ ทางสถานทูตประเทศอังกฤษให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและในคืนนั้นเองทางสถานทูตก็ส่งเรือกลไฟไปรับเจ้านายที่ยังอยู่ในวังหน้าเข้าประทับยังสถานทูตอีกด้วย


เรื่องลับๆ ฉบับวังหลวง : แผ่นดิน2กษัตริย์ สู่รอยร้าวในราชสำนัก!

ซ้าย - กรมพระราชวังบวรฯ ขวา- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ทูลกระหม่อมใหญ่)

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรฯ ได้อ่านพระราชหัตถเลขาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ส่งมาแล้วนั้น พระองค์จึงมีพระราชสารเชิงเป็นข้อเรียกร้องส่งกลับไปยังวังหลวง โดยมีใจความสำคัญบางช่วงดังนี้

..อย่าต้องไล่บ่าวไพร่ข้าหลวงออกจากวังหน้าเลย ให้คงไว้ดังเดิมข้าพเจ้ามิประสงค์ที่จะเห็นบ่าวพลัดนาย แลขุนนางข้าราชการท่านใดเห็นว่ามีความผิดก็ขอให้ทางวังหลวงดำเนินโทษได้ตามหลักความยุติธรรม ภาษีอากรที่วังหน้าเคยเก็บได้มาแต่ต้นแลสิ่งของทรัพย์สินที่หามาได้นั้นขอให้คงไว้ดังเดิม อย่าริบรอน....เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวินิจฉัยถึงพระราชสารฉบับนี้แล้ว ทรงโปรดให้ สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลา และคุณชายช่วง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) รวมถึงเสนาบดีทั้งหลายประชุมปรึกษาหารือเพื่อนำข้อเรียกร้องนี้มาพิจารณาว่าข้อความใดบ้างที่ควรจะยอมตามพระประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ หลังจากนั้นก็มีราชสารประนีประนอมกันอยู่หลายฉบับ จนกระทั่ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ในที่สุดฝ่ายวังหลวงจึงมีพระราชสารอัญเชิญให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับคืนเข้าประทับยังวังหน้าดังเดิม
ในการเสด็จกลับของกรมพระราชวังบวรฯ นั้นพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเกียรติยศเต็มที่ โปรดให้จัดขบวนไปรับเสด็จ และจัดเรือเก๋งส่วนพระองค์ไปรับกรมพระราชวังบวรฯถึงสถานทูตอังกฤษอย่างสมพระเกียรติ แลเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ เข้ายังพระบรมหาราชวังโดยขบวนพระเกียรติยศแห่แหนเข้ายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับยังเบื้องหน้าองค์พระแก้ว แล้วให้กรมพระราชวังบวรฯเข้าถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามโบราณราชประเพณี ทั้งยังทรงโปรดให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่ นับเป็นการปิดฉากความบาดหมางระหว่างวังหลวง และวังหน้าลงโดยปราศจากความรุนแรง
หลังจากงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และถือน้ำพิพัฒน์สัตยาผ่านไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยพระราชอำนาจในการแต่งตั้งองค์รัชทายาทเพื่อเป็นการปูทางในอนาคต หากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสถาปนาพระราชโอรสเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ของพระองค์สืบราชสมบัติต่อไป โดยมิต้องไปเป็นวังหน้า

เพราะในประวัติศาสตร์ราชวงศ์นั้น วังหลวง และวังหน้ามักจะมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะการซ่องสุมกำลังพล และความระแวงต่อกันในเรื่องการสืบราชบัลลังก์ เพราะแต่เดิมนั้นหากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตลง พระราชวงศ์ที่มีอำนาจรองจากพระเจ้าอยู่หัว และมีกองกำลังอยู่ในมือก็จะขึ้นครองราชบัลลังก์ทันที ซึ่งพระราชวงศ์พระองค์นั้นก็คือ พระมหาอุปราชแห่งวังหน้านั่นเอง พระมหาอุปราช หรือวังหน้าคือใคร ส่วนใหญ่ก็คือพระราชวงศ์ที่มีความใกล้ชิดทางเครือญาติมากที่สุด มีความรู้ความสามารถมากที่สุด เช่น พระอนุชาในพระเจ้าอยู่หัว (น้องชายกษัตริย์) หรือพระปิตุลาในพระเจ้าอยู่หัว (ลุง หรืออาของกษัตริย์) หรือพระภาดา (พี่ชาย หรือน้องชายในลักษณะลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์) ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใดๆเริ่มมีพระอาการประชวรมิสู้ดีนัก พระเจ้าอยู่หัวจะรับสั่งให้เหล่าทหารวังไปล้อมตำหนักที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายของพระองค์ไว้ เพื่อป้องกันการลอบปลงพระชนม์ แลแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่าง อากับหลาน ลุงกับหลาน พี่กับน้อง ขุนนางกับกษัตริย์ เป็นต้น

ไม่นานนัก ในปี พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จทิวงคตลงด้วยพระชนมายุเพียง 48 พรรษา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มิทรงสถาปนาพระราชวงศ์พระองค์ใดขึ้นเป็นพระมหาอุปราชไปประทับยังวังหน้าอีกเลย และโปรดให้พระราชวงศ์ฝ่ายใน (พระราชวงศ์ผู้หญิง)วังหน้าย้ายเข้ามาประทับยังวังหลวง จากนั้นจึงสถาปนาพระราชโอรส ซึ่งเป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ผู้เป็นพระอัครมเหสี ขึ้นเป็นองค์รัชทายาทพร้อมกับสถาปนาพระราชอิสริยยศคือ "สยามมกุฎราชกุมาร" ดังมีพระนามว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร" ชาววังออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมใหญ่ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมมายุเพียง 7 พรรษาเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการสถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ให้เป็นตำแหน่งรัชทายาท แทนตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือวังหน้า

ทูลกระหม่อมใหญ่พระองค์นี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงหมายมั่นปั้นมือให้เป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป โปรดที่จะให้ประทับอยู่เคียงข้างพระวรกายเพื่อเรียนรู้งานราชการเสมอ โปรดให้ออกรับฎีกาด้วยพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในขณะเดียวกันนั้นพระราชโอรสพระองค์อื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวจะส่งไปเล่าเรียนยังต่างประเทศเพื่อที่จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญคอยช่วยเหลืองานพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ และเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจะสระราชสมบัติไปประทับยังวังสวนดุสิตคอยเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ทูลกระหม่อมใหญ่ทรงประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 ขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา 6 เดือน นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของราชวงศ์จักรี เพราะทูลกระหม่อมใหญ่พระองค์นี้ทรงเป็นที่รักใคร่ของชาววัง พระองค์ทรงเขียนบันทึกประจำวันเป็นภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เล่ากันว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีผู้เป็นพระราชมารดาทรงเสียพระทัยมากถึงขนาดนำฉากไปกั้นเป็นที่ประทับ เพื่อบรรทมเฝ้าพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และการสวรรคตของทูลกระหม่อมใหญ่ในครั้งนี้ก็ส่งผลให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาสูญเสียตำแหน่งอัครมเหสีไปด้วย

ด้านหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช ที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วนั้น หลังจากที่ท่านหลบหนีไปยังเขมร ครั้งเวลาล่วงเลยไป ท่านจึงตัดสินพระทัยคืนสู่สยาม ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 โดยหม่อมเจ้าฉวีวาดได้มีบุตรชายกับชาวเขมร 1 คน ชื่อนุด และทรงบวชเป็นรูปชี ใช้พระชนม์ชีพอย่างสงบ และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อมีพระชนมายุได้ 80 ปี

เรื่องลับๆ ฉบับวังหลวง : แผ่นดิน2กษัตริย์ สู่รอยร้าวในราชสำนัก!

ที่มา Fanpage คลังประวัติศาตร์ไทย
https://www.facebook.com/ThailandhistoryOFwarehouse


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์