"นางอั้วเชียงแสน" ราชินีแห่งแคว้นพะเยา
คําว่า "อั้ว" นี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ แต่เป็นคำระบุให้เห็นปูมหลังเดิมว่าเป็นเจ้าหญิงจากแว่นแคว้นไหน
อันเป็นธรรมเนียมการเรียกชื่อสตรีล้านนาในเขตลุ่มน้ำโขง กก อิง ยม
ตั้งแต่เชียงราย-เชียงแสน-พะเยา ไปจนถึงสิบสองปันนา เช่น
"อั้วมิ่งจอมเมือง" เป็นราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง มีฐานะเป็นพระราชชนนีของพระญามังรายหรือ
"อั้วมิ่งเวียงไชย" เป็นพระมเหสีของพระญามังราย สืบเชื้อสายมาจากเวียงไชยปราการ
เช่นเดียวกับ "อั้วเชียงแสน" ราชธิดาของกษัตริย์เชียงแสน อันที่จริงพระนางมีนามว่า "สิม"
ตำนานบางเล่มจึงเรียกอีกชื่อว่า "นางอั้วสิม" ผู้เป็นพระมเหสีของพญางำเมือง
ส่วนพญางำเมืองเป็นกษัตริย์เมืองพะเยา หรือภูกามยาว (ผายาว)
มีศักดิ์เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับพญามังราย กษัตริย์เชียงราย (หิรัญนครเงินยาง)
ทั้งคู่ประสูติปีเดียวกันประมาณ พ.ศ.1781-1782 จึงถือว่าเป็นสหชาติกัน
เหตุที่มีนามว่า "งำเมือง" นั้น เป็นเพราะมีอิทธิฤทธิ์ไม่ต่างจากพระร่วงเจ้า เสด็จไปทางไหน แดดก็ไม่ร้อน ฝนก็ไม่เปียก สามารถเสกท้องฟ้าให้ปกงำบดบังเมฆได้
เพราะร่ำเรียนวิชชาอาคมมาจากสำนักเขาสมอคอล
(บ้างเรียกดอยด้วน บ้างเรียกสำนักสุกกะทันตะฤษี) กรุงละโว้
โดยมีพระร่วงเป็นเพื่อนร่วมสำนัก แล้วเหตุไฉนเพื่อนเราจึงมาเผาเรือนชู้ทางใจ หรือชู้การเมือง?
น่าแปลกใจที่เรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างนางอั้วเชียงแสนกับพระร่วง
ถูกบันทึกไว้อย่างเปิดเผยในเอกสารโบราณหลายฉบับ ราวกับเป็นเรื่องปกติสามัญ
แสดงว่าคนในอดีตมองว่าเหตุการณ์ตอนนี้มีความสำคัญ
ปฐมเหตุเกิดจากการที่พระร่วงคิดถึงสหายเก่าร่วมสำนัก
จึงได้เดินทางไปรดน้ำดำหัวพระญางำเมืองที่พะเยาแถบลุ่มแม่น้ำโขงในวันสงกรานต์
แสดงว่าอาณาเขตของพะเยาครั้งนั้นกว้างใหญ่ไพศาลจนจรดแม่น้ำโขง
น่าจะสร้างความสะพรึงกลัวให้แก่พญามังรายที่มีเขตแดนชนกันไม่น้อย
สอดรับกับข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวว่า
"น้ำในตระพังโพยสีใสรสกินดีเหมือนดั่งกูกินโขงเมื่อแล้ง"
ชัดเจนว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยมาดื่มชิมน้ำในแม่น้ำโขงคราวหน้าแล้ง
ซึ่งก็ตรงกับเดือนเมษายน ถึงได้สามารถพรรณนาเปรียบเทียบรสชาติน้ำ
จากแม่โขงกับที่สระตระพังโพยในกรุงสุโขทัยว่ามีรสชาติดีพอๆ กัน