โศกนาฎกรรม พระนางเรือล่ม ที่รักยิ่งของ “องค์พระพุทธเจ้าหลวง”
เหตุการณ์คราวนั้นถึงกับทำให้ "เจ้าเหนือหัว" ของคนไทย "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ถึงกับทรงพระกรรณแสง เพราะเป็นที่รู้กันตามประวัติศาสตร์ว่า ในบรรดาพระมเหสีและเจ้าจอมทั้งหลายนั้น "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี" หรือที่เราคนไทยคุ้นกับพระนามของพระองค์ว่า "พระนางเรือล่ม" นั้นทรงเป็น "ที่รัก" และโปรดปรานยิ่งของ "องค์พระพุทธเจ้าหลวง"
พระประวัติ "พระนางเรือล่ม" พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลำดับที่ 50 พระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2403 ณ พระบรมมหาราชวังทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 17 พรรษา ด้วยมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระอัครมเหสี" และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่น ๆ
เหตุสลดในวันนั้นเล่ากันว่า สาเหตุที่ทำให้เรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ล่ม เนื่องเพราะเรือพระพันปีหลวง หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถบรมราชชนนี พันปีหลวงแล่นแซง ประกอบกับนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ เมาเหล้า ขาดสติในการควบคุมเรือเรือจึงล่ม และทั้งที่พระองค์ก็ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงต้องสิ้นพระชนม์ไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งพระพี่เลี้ยง รวมทั้งสิ้น 4 ศพ ที่จมอยู่ใต้ท้องเรือโดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสีมิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร
โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นนี้ก่อนเกิดเหตุ ได้มีลางร้ายมาเตือนล่วงหน้าแล้วโดยก่อนที่เรือจะล่มในคืนหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ครุ่นคิดถึงการเสด็จฯ ไปพระราชวังบางปะอิน ในวันรุ่งขึ้นว่าต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์เป็นแน่ แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงชะตากรรมไม่ได้จนพบจุดจบในที่สุด
และเพราะเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงสิ้นพระชนม์จากเรือพระที่นั่งล่มที่หน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของพระองค์ ซึ่งต่อมาหลังจากผ่านเหตุการณ์นี้มานานมากแล้ว ก็ยังเกิดเรื่องเล่าถึงดวงวิญญาณพระนางเรือล่มตามมามากมาย
อาถรรพณ์จากความศักดิ์สิทธิ์ของพระนางเรือล่มยังมีเล่ากันต่อมาอีกว่า เคยมีบางคนลบหลู่ไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ พูดจาดูหมิ่นขณะพูดจบไม่ทันไรก็มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น โดยจู่ ๆ ก็วิ่งไปที่ท่าน้ำไม่รู้เนื้อรู้ตัวทำท่าจะกระโดดน้ำตาย หรืออย่างบางคนที่ชอบมาท้าสาบานที่ศาลของพระองค์ว่า ถ้าผิดจริงขอให้จมน้ำตาย ปรากฏว่าได้ตายสมใจ โดยตายอยู่ในอ่างน้ำตื้น ๆ ดังนั้นถ้าใครคิดมาลองสาบานอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าที่ศาลพระนางเรือล่ม ที่วัดกู้ ต้องขอบอกก่อนว่าอย่าเสี่ยงเป็นอันขาด