มีนามเดิมว่า แจ่ม เป็นบุตรีของพระนมเปรม ผู้บริบาลถวายการเลี้ยงดู สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาแต่เยาว์วัยภายหลังพระนมเปรมจึงได้รับแต่งตั้งเป็นท้าวศรีสัจจา ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า เจ้าคุณวังหน้า และยังเป็นน้องสาวของพระยาเพทราชา (ทองคำ) จางวางกรมคชบาลขวา ต่อมานางได้ถวายตัวเป็นบาทบริจากริกาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงโปรดสถาปนาไว้ในตำแหน่ง "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" พระสนมเอก ของพระนารายณ์มหาราช
ด้วยเป็นที่รู้กันว่านางเป็นผู้มากด้วยกามคุณ สร้างความอื้อฉาวแก่ประชาชนเสมอ จนราษฎรนำกันร้องเพลงเกริ่นความผิดปกติวิสัยของนางให้เกร่อไป ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ได้เกิดความพึงพอใจในสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงใช้เล่ห์เพทุบายล่อลวงจนเจ้าฟ้าน้อยเสพสังวาสด้วยกับนางแต่เป็นการลับไม่ถึงพระเนตรพระกรรณ แต่ความเกิดแตกเนื่องจากตัวพระสนมเอง โดยนางได้ผ่านทางเข้าห้องที่ประทับของในหลวง ได้เห็นฉลองพระองค์ชั้นนอกของเจ้าฟ้าน้อยถอดวางไว้ ด้วยเป็นธรรมเนียมของการเข้าเฝ้าที่ต้องเปลือยกายครึ่งท่อนเสียก่อน ครั้นนางจำฉลองพระองค์ขององค์ชายได้ จึงให้นางทาสีหยิบนำไปเก็บไว้ที่ห้องของนางเสีย ด้วยคิดว่าองค์ชายจะทราบดีว่าผู้ใดเอาไป แล้วจะได้ติดตามไปในตำหนักของพระนาง แต่เจ้าชายหาได้เฉลียวใจเช่นนั้น เมื่อเจ้าชายออกมาไม่พบฉลองพระองค์ แต่โขลนทวารไม่ทราบว่าผู้ใดเอาไป จึงได้เที่ยวกันตามหาทั่วพระราชวัง เรื่องจึงเข้าถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์จึงทรงพิโรธเป็นอันมากที่มีผู้เข้ามาลักทรัพย์ถึงในพระราชฐาน แค่พระทวารห้องที่ประทับของพระองค์แท้ๆ และผู้ที่มาหยิบก็ต้องออกมาจากพระราชฐานฝ่ายในเท่านั้น จึงมีรับสั่งให้ค้นให้ทั่วทันที โดยเข้าไปในตำหนักของพระสนมเอกก่อน จึงได้พบฉลองพระงค์ของเจ้าชาย ที่มิได้ซุกซ่อนให้มิดชิดวางอยู่ เหล่านางกำนัล และนางทาสีจึงชิงกันกราบทูลกล่าวโทษพระสนม สร้างความพิโรธแก่สมเด็จพระนารายณ์ฯเป็นอันมาก แม้กระนั้นพระองค์ก็มิทรงปรารถนาที่จะถือเอาแต่โทสจริต หรือวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้คณะที่ปรึกษาแผ่นดินของพระองค์เป็นผู้วินิจฉัยคนทั้งสอง
พระเพทราชาซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่ในแผ่นดินด้วยการสนับสนุนของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นน้องสาว มิได้คัดค้านคำพิจารณาพิพากษา หรือขอรับพระราชทานอภัยโทษให้แก่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เลย กลับเป็นคนแรกที่ธำรงอำนาจวาสนาตนไว้ ด้วยการเสนอให้พิจารณาลงโทษนางที่เคยพระคุณต่อตนถึงขั้นประหารชีวิต คณะที่ปรึกษาได้พิจารณาลงโทษให้เอานางสนมไปโยนให้เสือกินเสีย ส่วนเจ้าฟ้าน้อยนั้นก็ทรงต้องระวางโทษให้สำเร็จโทษด้วยการใช้ไม้จันทน์สองท่อนบีบอัดเสียให้สิ้นพระชนม์ โดยอย่าให้โลหิตตกต้องแผ่นดินได้ โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประหารพระสนมเอกตามคำพิพากษา ส่วนพระอนุชาธิราชได้พระราชทานผ่อนโทษลง ด้วยเหตุที่ว่า พระเชษฐภคินีองค์หนึ่งซึ่งพระองค์ทรงรักใคร่มากนั้น เมื่อใกล้จะถึงกาลกิริยาได้กราบทูลขอให้พระองค์ทรงชุบเลี้ยงพระอนุชาธิราชพระองค์นี้ เสมอว่าพระองค์เป็นพระบิดา ด้วยพระนางเธออำรุงเลี้ยงมาด้วยความเสน่หายิ่ง สมเด็จพระนารายณ์ฯจึงให้ลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตร แต่ด้วยถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงทรงทรงพิจารณาลงทัณฑ์ให้สาหัสด้วยหวาย และทรงเห็นว่าพระเพทราชาเป็นผู้หนึ่งที่ปรารถนาที่จะสำเร็จโทษเจ้าชาย เพื่อเป็นการแก้แค้นที่กระทำการลบหลู่พระเกียรติของพระองค์ จึงมีพระราชอาญาให้พระเพทราชา กับพระปีย์เป็นผู้ลงโทษ