“เมื่อลูกร้องเอาแต่ใจ เราสั่งให้เขาเงียบหรือเปล่า?”

ลองนั่งคิดเล่นๆ หากเรากำลังร้องไห้อยู่แล้วมีคนมาบังคับให้เราเงียบ เราจะทำได้ทันทีทันใดจริงหรือ?

ที่เราบังคับให้เขาหยุดร้อง เป็นเพราะอะไร?
เสียงเขาดังรบกวน?
เราไม่ชอบ?
เรารำคาญ?

ในความเป็นจริงแล้ว
นี่เป็นพฤติกรรมที่ตรงไปตรงมาที่สุดของเด็ก เมื่อเขาไม่ได้ดั่งใจ
หากเขาไม่แสดงออกแบบนี้ จะให้เขาแสดงออกอย่างไร?

การร้องไห้เป็นสิ่งที่ติดตัวมากับมนุษย์.....
เป็นสิ่งที่เราควรยอมรับ....
เราควรยอมรับเสียงร้องไห้ของลูก แม้ว่าเขาจะเอาแต่ใจ
ไม่กดดันให้เงียบ แต่ก็ไม่โอ๋เสมือนว่าเขาจะได้ประโยชน์จากน้ำตา

การยอมรับเสียงร้องไห้ ไม่ใช่การยอมรับพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขา
เราต้องแยกเรื่องออกจากกัน....
ยอมรับความรู้สึกและการร้องไห้ที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ
แต่ไม่ยอมรับพฤติกรรมที่เอาแต่ใจ

ดังนั้นเมื่อลูกสงบดีแล้ว หลังจากที่เรารอเวลา
เพียงรอเวลาให้ลูกเงียบสงบพอที่จะคุยได้...
เราก็มาสื่อสารกับเขา ถามไถ่เรื่องราวที่เขาเอาแต่ใจเมื่อครู่นี้
แล้วก็อบรมสั่งสอนกันไป....
เชื่อเถอะว่า คุยกันตอนสงบ....ได้ผลดีทั้งเราและลูก

การใช้อารมณ์ของเรากดดันให้ลูกเงียบ...
อาจทำให้เกิดการเงียบเสียงจริงและเงียบเร็ว...
แต่การเงียบอย่างทันใจเรานั้นเกิดจากความกลัวของลูก..
ความกลัวบอกเขาว่าให้รีบจบ.....
ความเข้าใจลึกซึ้งถึงความหวังดีของเราอาจเข้าไม่ถึง
เขาอาจพยักหน้าเสมือนยอมรับความผิด 
แต่อาจเป็นการยอมรับผิดเพื่อให้รอด!...
แต่ใจลึกๆอาจต่อต้านไม่อยากเรียนรู้

หรือหากเรียนรู้ที่จะไม่ทำอีก แต่นั่นน่าจะเพราะความกลัว....

หากเราทำบ่อยๆ จะกลายเป็นการเพาะบ่มความคิดให้คนเรากลัว

กลัวผู้ใหญ่ดุ จึงไม่กล้าทำอีก...
การเรียนรู้ชนิดที่ให้ความกลัวผู้ใหญ่เป็นพระเอก
อาจเกิดผลกระทบหลายอย่าง....
เช่น หากไม่มีใครเห็น ก็ไม่ต้องกลัว แอบทำไปเลย

หรือ อาจกลายเป็นกลัวได้ง่ายๆ ไม่มีวิจารณญาณตามจริง
เช่น ผู้ใหญ่หลายคนที่แม้โตแล้ว อยากลองทำงานอะไรบางอย่าง แต่ก็กลัวพ่อแม่ต่อว่าหากเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา
ทั้งๆที่ เมื่อพิจารณาลงไปในเนื้องานจริงๆแล้ว แม้ล้มเหลวก็ไม่ถึงกับแย่มาก น่าจะได้เรียนรู้ด้วยซ้ำไป
แต่เพราะจิตใต้สำนึกมีความกลัว จึงหยุดยั้งตนเองไว้
เผลอปิดกั้นโอกาสตัวเอง ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่ม....

ดังนั้นความกลัวจึงมักเข้ามาเบี่ยงเบนประเด็นของเนื้อแท้ที่คนเราควรจะเข้าใจตามจริง
ความกลัวเบี่ยงเบนลูกไปที่การหยุดตนเองมากกว่าคิดให้ลึกซึ้งว่าพ่อแม่สอนแบบนี้เพราะอะไร
ความกลัวเบี่ยงเบนลูกให้มองเห็นความหวังดีของเรายาก และอาจกลายเป็นมองเราในแง่ร้า

ไม่ต้องรีบกดดันให้ลูกเงียบ ไม่ต้องดุ ไม่ต้องขู่.....
ยังไง....เขาก็ต้องเงียบอยู่แล้ว
สิ่งที่เราควรโฟกัสมากกว่าคือ.... 
การเป็นต้นแบบของอารมณ์ที่สงบนิ่ง....
และการพูดคุยอย่างมีเหตุผลหลังจากเงียบเสียง
เพ่งความคิดเราไปที่เนื้อหาตอนสอนลูกจะดีกว่า.....
และควรชื่นชมที่ลูกพยายามคิดปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อีกในครั้งต่อไป

เมื่อเราใช้อารมณ์น้อยลง คุมอารมณ์ตนเองได้มากขึ้น
มีเหตุผลและเข้าใจลูก....
รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับลูกมากพอ....
เสียงร้องไห้เอาแต่ใจของลูกจะลดน้อยลงๆอย่างมาก
กลายเป็นว่า.....เสียงร้องไห้ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราสามารถยอมรับได้อย่างสบายๆนั้น
กลับไม่เกิดขึ้นให้เห็นอีกเลย....

นั่นเป็นเพราะว่า....ต้นแบบของบ้าน
พ่อแม่ของเขามีความมั่นคงในจิตใจ มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์นำ
เมื่อบ้านลดอารมณ์ เด็กก็ลดอารมณ์ตามค่ะ

หมอเสาวภา

ขอบคุณบทความจาก FB พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์

“เมื่อลูกร้องเอาแต่ใจ เราสั่งให้เขาเงียบหรือเปล่า?”

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์