แม่บ้านห้ามพลาด!! เคล็ดลับการเลือกผักและเครื่องเทศ

เนื่องจากอาหารไทยอุดมด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศสดที่มีสรรพคุณทางยาและให้กลิ่นหอมเฉพาะตัว วิธีทำอาหารไทยนั้นไม่ยาก แต่วิธีการทำอาหารไทยให้อร่อย ต้องเริ่มต้นจากเครื่องเทศและสมุนไพร พิถีพิถันในการเลือกซื้อ เลือกหาเครื่องปรุงที่สดใหม่ จัดเก็บไว้อย่างดีและถูกต้อง เพื่อดึงกลิ่นหอมและรสชาติของสมุนไพรให้ออกมาอย่างเต็มที่

1.พริกขี้หนู พริกขี้หนูสวน - มีขนาดเล็ก รสเผ็ด กลิ่นหอม เลือกขั้วเขียวสด ถ้าเป็นประเภทเด็ดขั้วขาย ให้เลือกส่วนหัวที่ขาวอยู่ เพราะแสดงว่าเป็นพริกที่เพิ่งเด็ดขั้วใหม่ๆ
2.พริกชี้ฟ้าสีเขียว สีแดง - เลือกซื้อพริกที่ผิวเปลือกสดเต่งตึง เนื้อพริกหนา ไม่เหี่ยว ขั้วมีสีเขียวสดนำมาหั่นหรือแกะสลักสำหรับตกแต่งจานอาหาร รวมทั้งใส่ในแกงและผัด
3.พริกแห้ง - มีทั้งพริกขี้หนูแห้งและพริกแห้งเม็ดใหญ่ เลือกพริกขี้หนูแห้งสีส้มแดง แห้ง ไม่คล้ำ พริกแห้งเม็ดใหญ่มี 2 ชนิด คือ พริกชี้ฟ้าสุกนำไปตากแดดจนแห้ง และพริกแห้งบางช้างมีเม็ดใหญ่กว่า ทำให้แห้งด้วยการรมควัน มีสีแดงคล้ำและกลิ่นหอมกว่า
4.ผักชีฝรั่ง - ใบเรียวยาว ขอบใบเป็นหยักๆ คล้ายฟันเลื่อย มีกลิ่นหอม ทานเป็นผักสดพร้อมน้ำพริก ลาบ ยำ หรือซอยใส่ต้มยำ ต้มแซ่บ ช่วยดับกลิ่นคาวของปลา เนื้อ หมู ด้านความสดให้เลือกซื้อที่มีใบอ่อนมากกว่าใบแก่ภายในหนึ่งต้น ใบมีสีเขียวสด
5.ผักชี - ผักกลิ่นหอม เลือกใบเขียวอ่อน สด มีรากติดอยู่ การเก็บผักชีให้สด ต้องล้างรากให้สะอาด ห่อด้วยกระดาษ แช่รากลงในถังน้ำช่วยให้ผักชีสด เมื่อผักชีฟื้นแล้ว ทำต้นผักชีให้สะเด็ดน้ำ ใส่ถุงพลาสติกแช่ตู้เย็นช่องผัก
6.รากผักชี  - เลือกใช้รากขนาดกลาง รากใหญ่มีเส้นใยมาก รากเล็กกลิ่นไม่หอมแรง เมื่อใช้ปรุงอาหารต้องตัดจากโคนรากขึ้นมา 1 ซ.ม. ล้างจนหมดรอยเปื้อน นำไปทุบใส่น้ำซุป หรือหั่นก่อนโขลกละเอียด ใส่หมูบะช่อ ใส่น้ำจิ้มซีฟู้ด และใส่เครื่องหมักของเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ
7.กระเทียม  - ทั้งกระเทียมไทย หัวเล็ก กลิ่นฉุน รสเผ็ด เปลือกบาง และกระเทียมจีนหัวใหญ่ มีขาย 2 ประเภท คือ หัวและแกะเป็นกลีบๆ หากทำอาหารเป็นประจำควรเลือกซื้อหัวกระเทียมที่เปลือกใส แขวนบริเวณอากาศถ่ายเท ทำให้กระเทียมไม่ฝ่อ
8.หอมแดง  - เลือกหัวที่แห้ง ไม่ฝ่อ ไม่มีเชื้อรา มีกลิ่นรสความเผ็ดจากน้ำมันหอมละเหย ถ้าต้องการกลิ่นฉุนมากๆ ต้องเลือกหัวที่มีเปลือกสีม่วงแดงเป็นมันเงา หรือถ้าต้องการรสหวาน เลือกหัวที่เปลือกสีส้มปนเหลือง
9.หอมใหญ่  - เลือกซื้อหัวที่มีน้ำหนักมาก ผิวเรียบไม่มีรอยช้ำ ตรงจุกหัวไม่เน่า เปลือกแห้ง เก็บรักษาในตะกร้าเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก หอมจะไม่ขึ้นรา ห้ามนำไปแช่ตู้เย็น เพราะทำให้หอมงอกได้
10.ข่า - มีกลิ่นหอมฉุน รสปรา ข่าอ่อนควรเลือกแง่งอ้วน สด เปลือกมีสีชมพูปนขาว สามารถใช้เล็บจิกเนื้อได้ ก่อนนำไปปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาด หั่นเป็นแว่นบาง เมื่อหั่นหรือซอยแล้วให้บีบมะนาวลงไป ข่าจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูน่ารับประทาน ส่วนข่าแก่ต้องเลือกเปลือกสีน้ำตาล
11.ตะไคร้  - ให้เลือกต้นอวบๆ โคนต้นมีสีม่วงเรื่อๆ สังเกตจากกาบใบไม่เหี่ยว เนื้อตะไคร้จะมีน้ำ กลิ่นหอม ก่อนซอยต้องลอกกาบใบด้านนอกออก ขณะซอยให้เอียงมีดเล็กน้อยช่วยให้ซอยง่ายขึ้น
12.ลูกมะกรูด ใบมะกรูด  - เลือกใบที่ไม่อ่อน มีความนุ่ม สด เป็นมัน หั่นหรือฉีกใส่อาหารทันทีกลิ่นจะหอม เลือกลูกมะกรูดแก่ที่ผิวขรุขระ เป็นมัน ฝานบางๆ เอาแต่ผิวโขลกใส่ในน้ำพริกแกง
13.กะเพรา - เลือกใบสดขนาดกลาง กลิ่นหอมกว่าใบใหญ่ กะเพรามีทั้งกะเพราขาว ใบสีเขียว และกะเพราแดง ใบสีเขียวปนม่วง กลิ่นฉุน เผ็ดร้อนกว่ากะเพราขาว วิธีการเด็ดใบกะเพราต้องเด็ดชิดใบ ไม่ให้มีก้านใบติดอยู่
14.โหระพา - ใบสีเขียวเข้ม ก้านใบสีแดง ใบหนากว่าใบกะเพรา มีกลิ่นรสเฉพาะตัว เลือกใช้ใบสด ไม่หยิกหรืองอ นิยมใช้ยอดตกแต่งจานอาหาร หรือใส่ในแกงต่างๆ

        เมื่อเรียนรู้จัก วิธีการใช้ วิธีการเลือกซื้อ วิธีการจัดเก็บ เครื่องเทศและสมุนไพรที่จำเป็นสำหรับอาหารไทยพอสังเขปแล้ว การดึงรสชาติของจานอาหารไทยให้ได้รสกลมกล่อม ลงตัว มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะจานไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป  

แม่บ้านห้ามพลาด!! เคล็ดลับการเลือกผักและเครื่องเทศ

ที่มา Knorr.co.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์