การแชทหรือการส่งข้อความในตอนกลาง มีผลกระทบ?

"หยุดแชทหรือหยุดส่งข้อความไม่ได้ใช่ไหม" ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นแล้วหล่ะก็ นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนตกและทำให้รู้สึกง่วงนอนและมักจะหาวตลอดเวลาตอนอยู่ที่โรงเรียน อ้างอิงจากผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัย Rutgers

งานวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Child Neurology ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการแชทหรือการส่งข้อความในตอนกลางคืนของวัยรุ่นอเมริกันเข้ากับสุขภาพการนอนหลับและผลการเรียน

Xue Ming ศาสตราจารย์ด้านระบบประสาทและประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัย Rutgers New Jersey Medical School ได้กล่าวว่า "พวกเราต้องระวังวัยรุ่นที่กำลังใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป ที่อาจส่งผลกระทบต่อกลไกทางชีวภาพ วัยรุ่นเหล่านี้มักจะนอนดึกและตื่นสาย ซึ่งเป็นการทำลายจังหวะทางธรรมชาติของร่างกาย ที่ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของพวกเขาลดลง"

The American Academy of Pediatrics รายงานว่าการใช้สื่อกับเด็กในทุกช่วงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างทวีคูณ การศึกษามากมายพบว่าเด็กอายุ 8 ถึง 18 ปี ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน

การศึกษาของ Ming เป็นส่วนเล็ก ๆ แต่ถือได้ว่าเป็นหลักฐานที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งสำคัญของผลกระทบในเชิงลบของเครื่องมือสื่อสารที่มีผลต่อการนอนหลับและการเรียนรู้ที่โรงเรียน อย่างไรก็ดี Ming กล่าวว่า ยังมีการศึกษากันน้อยมากที่มุ่งความสนใจไปที่สาเหตุจากการพิมพ์-ส่งข้อความ

"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉันได้สังเกตเห็นว่าคนไข้ที่ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากขึ้น จะมีปัญหาในการนอนหลับเพิ่มมากขึ้นด้วย ฉันต้องการแยกประเด็นที่ว่าการพิมพ์ส่งข้อความในช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากปิดไฟในห้องนอนแล้วนั้น มันส่งผลต่อปัญหาในการนอนหลับและประสิทธิภาพในการเรียนรู้อย่างไร" Ming กล่าว

ในการศึกษาของ Ming นั้น เธอได้ทำการสำรวจนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาใน New Jersey ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่อยู่นอกเมืองและในเมือง และนักเรียนโรงเรียนเอกชน รวมทั้งสิ้น 1,537 คน ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของเกรดเฉลี่ย เพศ ช่วงเวลาในการรับ-ส่งข้อความและการพิมพ์ข้อความในช่วงก่อนหรือหลังปิดไฟเข้านอน

Ming พบว่านักเรียนที่ปิดอุปกรณ์สื่อสารหรือมีการการแชท-ส่งข้อความที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที หลังจากปิดไฟเข้านอนจะมีผลการเรียนดีกว่านักเรียนที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารนานกว่า 30 นาที หลังจากปิดไฟ จากการศึกษาพบว่านักเรียนที่พิมพ์-ส่งข้อความในความมืดจะนอนน้อยและรู้สึกเพลียหรือง่วงนอนในระหว่างวันมากกว่ากลุ่มที่หยุดส่งข้อความเมื่อพวกเขาเข้านอน และพวกเขายังพบอีกว่าการพิมพ์ข้อความก่อนที่จะปิดไฟนั้นไม่มีผลต่อการเรียนแต่อย่างใด

Ming กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าเด็กผู้หญิงจะพิมพ์-ส่งข้อความและมีอาการง่วงนอนในตอนกลางวันมากกว่าเด็กผู้ชายก็ตาม แต่เด็กผู้หญิงกลับมีผลการเรียนที่ดีกว่า ทั้งนี้เพราะเด็กผู้หญิงจะพิมพ์-ส่งข้อความในช่วงเวลาก่อนปิดไฟเข้านอนเป็นส่วนใหญ่ โดยการปลดปล่อยของแสงสีฟ้า "blue light"จากโทรศัพท์หรือแท็ปเลทจะเข้มขึ้น เมื่ออยู่ภายในห้องมืด แสงความยาวคลื่นสั้นนี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออาการง่วงนอนตอนกลางวัน เพราะมันจะไปชะลอการหลั่งเมลาโทนิน ทำให้นอนไม่หลับ ถึงแม้ว่าจะหลับตาลงแล้วก็ตาม" "เมื่อพวกเราปิดไฟลง ร่างกายก็ควรจะเปลี่ยนจากสภาวะตื่นเข้าสู่สภาวะพักผ่อน แต่ถ้าคนที่ยังคงพิมพ์-ส่งข้อความต่อไปจะทำให้สมองยังคงตื่นตัว และเมื่อรวมเข้ากับแสงสีฟ้าที่ถูกปลดปล่อยออกมา มันก็จะสามารถรบกวนจังหวะรอบวัน ช่วงการนอนหลับลึก (Rapid Eye Movement) ถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้ การรวบรวมความทรงจำ และการปรับตัวทางสังคมของวัยรุ่น ดังนั้นเมื่อช่วงการนอนหลับลึกถูกชะลอออกไปแต่ระยะเวลาในการพักผ่อนไม่ได้เพิ่มตาม การหลับลึกในขั้น REM จะถูกทำให้หดสั้นลง ซึ่งจะกระทบต่อการเรียนรู้และความทรงจำ"

Ming ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการใช้สื่อในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ อาทิเช่น ความสะดวกในการประสานงานของโครงงานวิจัยที่โรงเรียน การอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่เพียงพอสำหรับการติวหนังสือสอบ การเพิ่มความพร้อมของโรงเรียน หรือการสร้างระบบที่ส่งเสริมในเรื่องของอารมณ์

Ming ได้แนะนำว่าคุณครูควรตระหนักถึงความต้องการในการนอนหลับของวัยรุ่นและการนำเอาการศึกษาการนอนหลับใส่เข้าไปในหลักสูตร "การนอนไม่ใช่สิ่งที่ไม่จำเป็น แต่มันคือความต้องการทางชีววิทยา เด็กวัยรุ่นควรได้นอนหลับพักผ่อนเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงครึ่งถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอได้เป็นประเด็นที่สำคัญในการถกเถียงกันว่า โรงเรียนควรเลื่อนเวลาเข้าเรียนเป็น 9 โมงหรือไม่"


ที่มา : vcharkarn.com


การแชทหรือการส่งข้อความในตอนกลาง มีผลกระทบ?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์