นักวิจัยเชื่อ “ย่าทวดลูซี” น่าจะมี “หมอตำแย” ช่วยทำคลอดเพราะ!!!

มนุษย์สมัยใหม่มีวิธีการคลอดที่ค่อนข้างต่างไปจากเครือญาติตระกูลไพรเมต และการคลอดก็ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นและความตายของทั้งแม่และลูก ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้การช่วยเหลือ และนักวิจัยก็เชื่อกันว่า ลักษณะพิเศษนี้น่าเริ่มพบในมนุษย์วานรสมัยดึกดำบรรพ์ย้อนกลับไปเป็นล้านปี อย่าง "ลูซี" มนุษย์วานรสายพันธุ์ Australopithecus afarensis ซึ่งน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อราว 2.9-3.8 ล้านปีก่อน ถ้าหากเธอได้มีลูกก่อนตายก็น่าจะมีหมอตำแยช่วยทำคลอดด้วยเหมือนกัน

เจเรมี เดอซิลวา (Jereme DeSilva) นักมานุษยวิทยาโบราณ จาก Dartmouth College อธิบายว่าสำหรับสัตว์ตระกูลไพรเมตส่วนใหญ่ ทารกจะมีขนาดกะโหลกจากด้านหน้าถึงด้านหลังที่ยาวกว่าเมื่อเทียบกับความยาวของกะโหลกจากหน้าผากถึงคาง และระยะระหว่างด้านซ้ายและด้านขวา (พูดง่ายๆ ว่า กะโหลกแคบแล้วก็หน้าสั้นนั่นเอง) และช่องคลอดของไพรเมตก็มักจะมีความยาวจากด้านหนัาถึงหลังของลำตัวเพศเมียที่มากกว่า ทำให้ตัวเมียสามารถเอื้อมมือมาช่วยดึงทารกออกจากช่องคลอดได้เอง

ในทางตรงกันข้าม มนุษย์สมัยใหม่มีช่องคลอดที่มีความกว้างจากด้านซ้ายถึงขวาของลำตัวที่มากกว่าเมื่อเทียบกับความยาวจากด้านหน้าถึงด้านหลัง ทำให้เวลาทารกเคลื่อนตัวสู่ช่องคลอดจึงต้องหันหัวไปด้านหลังของแม่เพื่อให้ไหล่สามารถเคลื่อนตัวออกได้ และด้วยทารกมีขนาดที่ใหญ่แทบคับช่องคลอด มนุษย์เพศเมียจึงต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างน้อยหนึ่งคน

การที่นักวิจัยไม่มีกระดูกเชิงกรานที่สมบูรณ์ของมนุษย์วานรเพศเมียซึ่งวิวัฒนาการแยกสายออกมาจากชิมแปนซีมาทำการศึกษา มันจึงยากจะบอกได้ว่าวิวัฒนาการของกระดูกเชิงกรานในกลุ่มมนุษย์วานรโบราณเป็นอย่างไร การกลับตัวตอนเกิด เริ่มเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติตอนไหน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าน่าจะเริ่มตอนที่สัตว์ตระกูลนี้วิวัฒนาการจนมีสมองขนาดใหญ่ขึ้น จนเข้าสู่สายพันธุ์มนุษย์สกุล Homo แล้ว แต่ก็มีคนบอกว่า มนุษย์วานรอย่าง Australopithecus ก็น่าจะมีการคลอดในลักษณะนี้แล้ว

เดอซิลวา และคณะบอกว่า ก่อนหน้านี้การศึกษาการคลอดของมนุษย์ hominin ยุคแรกๆ มักจะเน้นไปที่ขนาดศรีษะของทารก และกระดูกเชิงกรานของแม่ โดยไม่ค่อยใส่ใจเรื่องของไหล่ทารก ซึ่งเขาบอกว่า ไหล่นี่แหละน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบอกถึงลักษณะการคลอดของสัตว์ตระกูลนี้ เพราะไหล่ของทั้งมนุษย์และลิงใหญ่ล้วนมีความกว้างและแข็งแรงมั่นคง มนุษย์ hominin ก็คงเหมือนๆ กัน

"นี่เป็นครั้งแรกที่ความกว้างของไหล่ ถูกนำมาใช้พิจารณาในการจำลองวิธีการให้กำเนิดของ hominin ยุคแรก" เดอซิลวากล่าว

นักวิจัยกลุ่มนี้ได้วิเคราะห์กระดูกเชิงกรานของลูซี พร้อมกับสร้างแบบจำลองของทารก A. afarensis ขึ้นโดยให้กะโหลกมีขนาดใหญ่กว่าทารกชิมแปนซีเล็กน้อย ซึ่งเทียบเอาจากการที่มนุษย์ A. afarensis โตเต็มวัยมีขนาดของกะโหลกใหญ่กว่าชิมแปนซียุคใหม่ราว 20 เปอร์เซนต์ และขนาดของไหล่ก็เทียบเอากับขนาดของทารกสัตว์ในตระกูลไพรเมตทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ด้วย

ด้วยกระบวนการดังกล่าว พวกเขาพบว่า เวลาทารก A. afarensis คลอดออกมาก็จะต้องหันศรีษะเหมือนกัน แต่อาจจะไม่ถึง 90 องศาเหมือนอย่างทารกมนุษย์ เพื่อให้ไหล่สามารถเคลื่อนตัวออกมาได้

เดอซิลวาบอกว่า เวลาคนพูดถึง Australopithecus คนมักจะมองว่ามีความเป็นลิงมากกว่าเป็นคน ซึ่งมันก็จริงในหลายๆ ด้าน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการให้กำเนิดแล้วเขาเชื่อว่าพวกเขามีความเหมือนมนุษย์มากกว่าเหมือนลิง แม้จะไม่ได้เหมือนแบบเป๊ะๆ ก็ตาม

นักวิจัยยังบอกว่า ด้วยความที่ ทารก A. afarensis มีขนาดที่ค่อนข้างคับช่องคลอด พวกเขาก็คงมีความยากลำบากในการคลอดเช่นกัน และน่าจะต้องมีคนช่วยในเวลาคลอดด้วย

"ต้นกำเนิดของหมอตำแย อาจจะย้อนกลับไปได้ถึง 3 ล้านปี" เดอซิลวากล่าว


  นักวิจัยเชื่อ “ย่าทวดลูซี” น่าจะมี “หมอตำแย” ช่วยทำคลอดเพราะ!!!

ที่มา - silpa-mag


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์