มาดู ๔ ธรรมเนียม ที่ถูกยกเลิกไป ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ในสมัยโบราณ ธรรมเนียมการไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพ ก่อนรัชกาลสมัยในรัชกาลที่ ๖ มีธรรมเนียมไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพิธีการที่แตกต่างจากยุคปัจจุบัน ซึ่งธรรมเนียมบางอย่างได้ยกเลิกไปแล้ว ตามเงื่อนไขของแต่ละยุคสมัย ซึ่งธรรมเนียมประเพณีแต่เดิมเท่าที่สืบค้นพอสรุปได้ดังนี้

 

๑.นุ่งสีน้ำเงินไว้ทุกข์

ในพระราชนิพนธ์ของ "ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล" พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ที่ชื่อ ‘สีไว้ทุกข์ในสมัย ร.๕' ว่า แต่เดิม ‘สี' ของเครื่องแต่งกาย ที่ใช้สำหรับไว้ทุกข์มี ๓ สี ๑) สีดำ ๒) สีขาว และ ๓) สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่

‘สีดำ' ใช้สำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย

‘สีขาว' ใช้สำหรับผู้เยาว์ หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย

ส่วน ‘สีม่วงแก่' หรือ ‘สีน้ำเงินแก่' ใช้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ญาติกับผู้ตายแต่อย่างใด

ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ยังทรงระบุไว้ด้วยว่า ในงานพระบรมศพที่พระมหาปราสาท เวลาที่จะไปเฝ้าพระบรมศพ ทุกคนต้อง ‘นุ่งขาว' ไม่มีใครแต่งดำได้ในเวลางาน จะนุ่งดำได้เฉพาะเวลาอยู่บ้าน หรือไปไหนมาไหนตามปกติ

ที่ใช้เฉพาะ ‘สีดำ' สำหรับไว้ทุกข์อย่างเช่นทุกวันนี้ เป็นเพียงธรรมเนียมที่ปรับใช้ใหม่ในยุคหลังเพื่อความสะดวกเท่านั้น

 

๒.โกนผมไว้ทุกข์

ส่วนการโกนผม เป็นการแสดงความเคารพอาลัยตามโบราณราชประเพณี ในอดีตเมื่อเจ้านายเสียชีวิต ผู้ที่สังกัดมูลนายจะต้องโกนผมเพื่อไว้ทุกข์ต่อนายของตนเอง ยกเว้นแต่การสวรรคตของพระมหากษัตริย์ที่ต้องโกนผมทุกคน ซึ่งในประกาศบางฉบับในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังช่วยให้ทราบด้วยว่า การโกนผมไว้ทุกข์ยังเป็นธรรมเนียมของราษฎรโดยทั่วไป ที่บิดามารดา และสามี เสียชีวิต ของชนชาวไทยมาแต่เดิม ธรรมเนียมการโกนผมไว้ทุกข์ให้กับเจ้านาย และพระมหากษัตริย์ได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยมีความว่า"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสไว้ก่อนเสด็จสวรรคตให้ยกเลิกการโกนผมแทนการไว้ทุกข์" ตามประกาศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ความว่า

"มีรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งได้สำเร็จราชการแผ่นดิน ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระโรคพระธาตุพิการมาแต่ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พระโรคกลายไปในทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่ ถึง ณ วันเสาร์ ที่ ๒๒ ตุลาคม เสด็จสวรรคต เวลา ๒ ยาม กับ ๔๕ นาที จะได้เชิญพระบรมศพสู่พระโกษฐ์แห่จากพระราชวังดุสิต ไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม

ความเศร้าโศรกสาหัสอันบังเกิดขึ้นในพระบรมราชวงษ์ครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงแน่ในพระหฤทัยว่า จะเปนความเศร้าโศรกแก่ประชาชนทั้งหลายทั่วไปในพระราชอาณาจักร เพราะเหตุที่สมเด็จพระบรมชนกาธิราชได้ทรงพระกรุณาทนุบำรุงมาทั่วกัน

อนึ่งตามโบราณราชประเพณี ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ ราษฎรทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถ ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมากให้ยกเลิกเสียทีเดียว

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙"

หมายเหตุ

- คงการเขียนและสะกดตามอย่างเอกสารจดหมายเหตุ

- เวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที หรือเท่ากับ เวลา ๐ นาฬิกา ๔๕ นาที ของคืนวันที่ ๒๒ นับเป็นวันใหม่ คือ วันที่ ๒๓

๓.ขบวนนางร้องไห้

"นางร้องไห้" ธรรมเนียมเก่าแก่ที่คนในสมัยก่อนยึดถือและปฏิบัติกันมา พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย กรีก โรมัน เป็นต้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานการมีนางร้องไห้ในคำให้การ "ขุนหลวงหาวัด" อธิบายถึงการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่าได้เกณฑ์นางสนม นางกำนัลมาเป็นนางร้องไห้ ซึ่งในการร้องไห้จะร้องควบคู่กับการประโคมมโหรีปี่พาทย์

ธรรมเนียมนี้ทำสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพ รัชกาลที่๑ ซึ่งมีนางร้องไห้และประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์แต่ครั้งก่อน

วิธีการร้องไห้ต้องใช้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะใช้นางพระสนม นางพระกำนัล หรือผู้ที่ได้ถวายตัว มีต้นเสียง ๔ คน และมีคู่ร้องรับประมาณ ๘๐-๑๐๐ คน ครั้งสุดท้ายที่มี "นางร้องไห้" ตามราชประเพณีคืองานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัด "นางร้องไห้" คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี โดยให้เจ้าจอมและพนักงานคอยร้องไห้ตามบท ในเวลาประโคมย่ำยาม คือ ย่ำรุ่ง เที่ยง ย่ำค่ำ สองยาม สามยาม มีเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นเสียงร้องนำ

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความเห็นว่า "ให้รู้สึกรกหูเสียจริง ๆ และร้องซ้ำไปซ้ำมา ไม่เป็นการร้องให้จริง ๆ กับทั้งยังส่งเสียงรบกวนเวลาที่พระกำลังถวายพระธรรมเทศนา รวมไปถึงความประพฤติของผู้ที่ไปฟังและตัวของนางร้องไห้เอง ที่แสดงกิริยาขาดความเคารพในกาลเทศะ อย่างยิ่ง"

ความไม่เหมาะสมหลายประการ ที่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงมีพระราชดำริที่จะยกเลิกธรรมเนียมการพระบรมศพดังกล่าว

 

 


๔.การถวายรูด - ถวายพระเพลิงพระบุพโพกลางแจ้ง

เรื่องของ"ราชสำนัก" เฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดแจงการ"พระบรมศพ"ของพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงมาพอสมควร ก็จะทราบข้อเท็จจริงประการหนึ่งได้ว่า ในยุคสมัยก่อนที่ยังไม่มี "ฟอร์มาลีน"หรือยารักษาสภาพศพนั้น การเก็บหรือตั้งพระบรมศพหรือพระศพไว้บำเพ็ญพระราชกุศลนานๆนั้น สิ่งที่น่ากลัวและหวั่นใจมากที่สุดของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนทุกท่านก็คือเรื่องของ "กลิ่น" ที่เกิดจากการกระบวนการ"คืนธาตุ"ของพระสรีรกาย อันเป็นไปตามธรรมดาของโลกนั่นเอง

แม้จะเอาน้ำหอมน้ำปรุงมาชโลมเทใส่มากมายมหาศาลสักปานใด ก็ไม่อาจที่จะกลบกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวให้เหือดหายได้ไม่

หนทางแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยการเอาพระบรมศพหรือพระศพนั้นมาต้มในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ให้พระมังสะเนื้อหนังทั้งสิ้นเปื่อยนุ่ม ก่อน "ถวายรูด" เพื่อ "สำรอก"เอาเนื้อหนังแลตับไตไส้พุงตลอดจนน้ำเลือดน้ำหนองของศพออกมา "เผา" หรือ "ถวายพระเพลิง" ให้สิ้น คงเหลือไว้แต่พระบรมอัฐิ,พระอัฐิ ตามแต่ละกรณี อันไม่อาจจะเน่าเสียเสื่อมสลายส่งกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาใดๆได้อีก

 

แล้วจึงค่อยอัญเชิญเอา "อัฐิกัง" คือ "กระดูก"นี้แลมาใส่โกศ หรือโลง เพื่อบำเพ็ญกุศลต่อไปอีกที


มาดู ๔ ธรรมเนียม ที่ถูกยกเลิกไป ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ


มาดู ๔ ธรรมเนียม ที่ถูกยกเลิกไป ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ


มาดู ๔ ธรรมเนียม ที่ถูกยกเลิกไป ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ


มาดู ๔ ธรรมเนียม ที่ถูกยกเลิกไป ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ


มาดู ๔ ธรรมเนียม ที่ถูกยกเลิกไป ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ที่มาที่มาของเอกสารจดหมายเหตุ : ร.๖ บ ๑.๑/๑ ประกาศยกเลิกการโกนผมแทนการไว้ทุกข์

ที่มาข่าว : FB สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

- สาระน่ารู้จากเอกสารจดหมายเหตุ ตอน "ประกาศยกเลิกการโกนผมแทนการไว้ทุกข์"

- liekr.com

- thailandonlysociety.com



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์