อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

ชีวาวายชีพสิ้น    กายยัง
อุทิศให้เป็นคลัง   แหล่งรู้
เพื่อการแพทย์รุ่นหลัง  ยอมสละ
พระคุณหาใดสู้    ศิษย์น้อมบูชา”
(คำไว้อาลัยอาจารย์ใหญ่ โดยนักศึกษาแพทย์ โต๊ะที่ 75 ปีการศึกษา 2555)

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

ในการเรียนการสอนวิชาแพทย์ วิชาหนึ่งที่สำคัญและนักศึกษาแพทย์ทุกคนจะต้องเรียน คือวิชา “กายวิภาคศาสตร์” เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายในเพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้าง อวัยวะ และระบบของร่างกาย เป็นการปูพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะเรียนเกี่ยวกับโรค และความผิดปกติต่างๆ

วิชากายวิภาคศาสตร์แบ่งเป็น 4 สาขาย่อย ได้แก่ มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ วิทยาเอมบริโอ และประสาทกายวิภาคศาสตร์ สำหรับสาขาที่นักศึกษาแพทย์เรียนเป็นวิชาแรกคือ มหกายวิภาคศาสตร์ เรียนรู้ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ด้วยตาเปล่า ซึ่งแน่นอนว่า สื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ ร่างกายมนุษย์ ที่ได้มาจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคร่างของตนเมื่อเสียชีวิตแล้วเพื่อการเรียนการสอน โดยนักศึกษาแพทย์จำเป็นต้องเรียนโครงสร้างร่างกายผ่านการชำแหละส่วนต่างๆ จากศพมนุษย์หรือที่เรียกกันว่า “อาจารย์ใหญ่”
อาจารย์ใหญ่ในสาขาวิชาแพทย์นั้น อาจแตกต่างจากอาจารย์ในความหมายทั่วไปที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับผู้เรียนได้ แต่สำหรับอาจารย์ใหญ่ในศาสตร์ทางการแพทย์หมายถึง ครู ผู้อุทิศร่างกายตนเองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ผ่านร่างกายที่ไร้ซึ่งลมหายใจ
การเรียนการสอนกายวิภาคศาสตร์ในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มสอนวิชาแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชในราว พ.ศ. 2433 ในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา นักศึกษาจึงเรียนวิชานี้โดยใช้เพียงหุ่นจำลอง ทำให้ไม่สามารถเข้าใจร่างกายมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้ การเรียนโดยใช้ร่างกายมนุษย์จริงจึงเกิดขึ้น

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

ในระยะแรกใช้ศพผู้ป่วยที่ญาติยกให้เป็นสื่อการสอนดังเห็นได้จากบันทึกของ พ.ต.อัทย์ หะสิตะเวชว่า “มีการสอนผ่าศพเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ใจกล้า แลเห็นอวัยวะเส้นเอ็นโดยชัดเจน” นักศึกษาแพทย์จำเป็นต้องเรียนผ่าศพพร้อมกันทุกชั้นปีทีละประมาณ 12-16 คนต่อ 1 ศพ หากมีผู้เรียนเป็นจำนวนมากจะต้องจัดร่างกายออกเป็นส่วนๆ ให้นักศึกษาเรียนเป็นรอบๆ จนนักเรียนคนหนึ่งได้เรียนครบทุกส่วนของร่างกาย สมัยนั้นมีการฉีดน้ำยารักษาสภาพศพแต่ก็ยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อปีพ.ศ. 2466 ศาสตราจารย์เอ็ดการ์ด เดวิดสัน คองดอน นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาคศาสตร์จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เข้ามาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิชานี้ รวมทั้งปรับปรุงสูตรน้ำยารักษาสภาพศพให้มีประสิทธิภาพ ช่วยคงสภาพศพให้อยู่ได้นานและอ่อนนุ่มเหมาะแก่การศึกษามากยิ่งขึ้น
หลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์ ได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานขึ้นตามลำดับ นักเรียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาจารย์ใหญ่จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย และเริ่มมีการบอกบุญขอบริจาคร่างกาย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2484 พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ)อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำพินัยกรรมบริจาคร่างกายที่ไร้ชีวิตของท่านเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อยังประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ภายใต้เจตนารมณ์และวาทะอมตะที่ว่า “ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป” คำกล่าวของอาจารย์ใหญ่ท่านแรกในประเทศไทย ยังคงทรงอิทธิพลและตราตรึงอยู่ในสังคมไทย ในฐานะที่ท่านได้เป็นต้นแบบของครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

พระยาอุปกิตศิลปสาร

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

โครงกระดูกพระยาอุปกิตศิลปสาร

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

ทัศนคติในการบริจาคร่างกาย ยังคงมีบางคนที่เชื่อว่าการบริจาคร่างกายหรืออวัยวะ จะทำให้ร่างกายที่เกิดใหม่ในโลกหน้ามีองค์ประกอบไม่ครบ แต่เมื่อพิจารณาถึงคำสอนของพุทธศาสนาแล้ว การให้ในลักษณะนี้ถือเป็นทานที่ก่อเกิดเป็น “อุปบารมี” คือบารมีระดับรองที่เกิดจากการเสียสละ บริจาคอวัยวะหรือร่างกายของตนเองเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นซึ่งเป็นทานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญในครั้งที่เสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์การเกิดใหม่ในโลกหน้าจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับสภาพของกายในโลกนี้ ดังเช่นคำกล่าวของแม่ชีศันสนีย์ว่า
“…การเกิดใหม่ไม่ได้เอาร่างกายไป…ร่างกายในภพนี้ไม่เป็นตัวเอื้อเกิดในภพหน้า แต่เป็นสภาวะของจิต สภาวะของจิตเป็นอำนาจที่จะส่งไปเพื่อที่จะปฏิสนธิใหม่ ถ้ามีโอกาสที่จะเกิดใหม่ด้วยกุศลจิต เป็นจิตที่มีความเยือกเย็น จิตที่มีความสุขกับการให้ เป็นจิตที่เต็มเปี่ยม ที่ทำให้การเกิดครั้งใหม่ มีอวัยวะครบถ้วนและงดงามด้วยจิตใจ…”
ดังนั้นแล้วการบริจาคร่างกายจึงเป็นบารมีที่จะเสริมสร้างบุญกุศลให้กับตนเอง เกิดเป็นวิทยาทานที่หาไม่ได้จากสื่อการสอนอื่นใด เพื่อให้นักศึกษาแพทย์สามารถทำประโยชน์ ช่วยเหลือคนเจ็บอีกหลายชีวิตให้รอดพ้นจากโรคภัยต่อไปได้ในอนาคต
การอุทิศตนเพื่อการศึกษานั้น สามารถทำได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ โดยเมื่อผู้อุทิศตนสิ้นลมหายใจลงแล้ว ญาติจะแจ้งให้ภาควิชาทราบ เพื่อรีบดำเนินการฉีดน้ำยารักษาสภาพศพภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากนั้น ร่างกายที่ไร้ชีวิตจะต้องผ่านกระบวนการรักษาสภาพศพอีกหลายขั้นตอน ใช้ระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้เหมาะแก่การเรียน
เมื่อใกล้เปิดปีการศึกษา พนักงานรักษาศพจะนำร่างอาจารย์ใหญ่ขึ้นมาอาบน้ำ ทำความสะอาดเพื่อเตรียมให้นักศึกษาแพทย์เรียน “อาจารย์ใหญ่” เริ่มทำหน้าที่ของท่าน ให้ความรู้แก่นักศึกษาแพทย์สมดังประสงค์ เป็นเวลากว่า 10 เดือนที่นักศึกษาแพทย์จะได้เรียนรู้โครงสร้างอวัยวะ ทั้งภายนอกและภายในร่วมกับการศึกษาคู่มือตำราเรียนและคำแนะนำจากอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ใหญ่ 1 ร่าง จะมีนักศึกษาเรียน 4 คนด้วยกัน คนหนึ่งอ่านคู่มือชำแหละ เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและร่างไม่เสียหาย อีกคนหนึ่งอ่านตำราเรียน เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ชำแหละได้อย่างถ่องแท้ ส่วนสองคนที่เหลือนั้นจะเป็นผู้ลงมือผ่าชำแหละสลับกันไป การเรียนจะเริ่มต้นชำแหละตั้งแต่ส่วนบริเวณหน้าอกไปจนถึงส่วนที่เล็กละเอียดอย่างหูชั้นในเป็นส่วนสุดท้าย        นักศึกษาแพทย์ทุกคนล้วนตั้งใจกับการเรียนวิชานี้ และจะถูกสอนให้เคารพศพและระลึกถึงความเสียสละของอาจารย์ใหญ่อยู่เสมอ แม้กระทั่งเวลาสอบ อาจารย์ใหญ่ก็ยังเป็นเสมือนที่พึ่งทางใจที่จะช่วยอวยพรให้การสอบของศิษย์ผ่านไปได้ด้วยดี

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

อาจารย์ใหญ่แต่ละร่างจะหมดหน้าที่เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา แต่นักศึกษาแพทย์ในฐานะศิษย์ก็มีภารกิจสำคัญที่แสดงถึงความเคารพต่อท่าน โดยการจัดงานบำเพ็ญกุศล และพิธีพระราชทานเพลิงศพให้แก่อาจารย์ใหญ่ทุกท่าน ที่ศาลากายวิทยาทาน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อันเป็นสถานที่เริ่มแรกของการเตรียมพร้อมเป็นอาจารย์ใหญ่ และเป็นสถานที่สุดท้ายที่นักศึกษาจะได้รำลึกถึงพระคุณที่ท่านมอบให้ตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

พิธีบำเพ็ญกุศลอาจารย์ใหญ่

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

พิธีบำเพ็ญกุศลอาจารย์ใหญ่

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

งานพิธีทั้งหมดนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตั้งแต่ขั้นตอนการเชิญญาติของผู้อุทิศตน การจัดทำหนังสือที่ระลึกแสดงความไว้อาลัยต่ออาจารย์ การจัดเตรียมสถานที่จนจบพิธี เนื่องมาจากความร่วมแรงร่วมใจของคณะนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน เพราะร่างกายอาจารย์ใหญ่ที่รับบริจาคมานั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ให้แก่การเรียนการสอนแพทย์ในศิริราช แต่ยังรวมถึงสาขาวิชาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสถาบันอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ร่างกายมนุษย์เพื่อการศึกษา เช่น วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะกายภาพบำบัด คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ และคณะสหเวชศาสตร์ ทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันอื่น เป็นต้น
ด้วยคุณูปการของการบริจาคร่างกายทำให้ปัจจุบันมีผู้อุทิศตนบริจาคร่างกายเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยมีศูนย์รับบริจาคร่างกายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ หรือวิชาที่จำเป็นต้องใช้อาจารย์ใหญ่ทั่วทุกภาค อาทิ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำหรับในกรุงเทพมหานคร นอกจากที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว ยังมีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฏเกล้า และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็เป็นสถานที่รับบริจาคร่างกายไว้ด้วยเช่นกัน
ผู้ที่ต้องการบริจาคร่างกายเพื่อเป็นวิทยาทานที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น สามารถติดต่อขอบริจาคร่างกายได้ที่ตึกกายวิภาคศาสตร์ หรือกรอกแบบฟอร์มจากเว็บไซต์แล้วส่งกลับมาทางไปรษณีย์ โดยสามารถเลือกการบริจาคได้ 3 รูปแบบคือ การบริจาคเพื่อการเรียนของนักศึกษาแพทย์ การบริจาคเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด และการบริจาคเพื่อเก็บโครงกระดูกสำหรับการศึกษาในระยะยาว เมื่อผู้อุทิศตนได้ทำพินัยกรรมเรียบร้อยแล้วก็จะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาค ครั้นถึงเวลาที่ผู้อุทิศตนได้เสียชีวิตลง ร่างกายก็จะเป็นกรรมสิทธิ์ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ตามพินัยกรรม แต่เนื่องจากการอุทิศร่างกายเป็นการอุทิศเพื่อการศึกษา ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดไม่รับร่างที่ไม่เหมาะแก่การเรียน เช่น ผู้อุทิศตนมีอายุมาก อาจทำให้มีการเสื่อมของอวัยวะ เป็นโรคมะเร็ง โรคไต โรคเบาหวาน หรือมีโรคเรื้อรัง ถ้าหากผู้อุทิศตนบริจาคไว้นานแล้วก่อนถึงแก่กรรม แต่เมื่อถึงแก่กรรมพบว่าร่างกายไม่สามารถใช้เรียนได้ ทางภาควิชาก็จะฉีดน้ำยารักษาสภาพศพและบริการส่งร่างผู้อุทิศตนคืนให้แก่ญาติ

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย


อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย ได้ผ่านการพัฒนามายาวนานนับศตวรรษ และได้ผลิตแพทย์ผู้มีความรู้ความสามารถมาแล้วมากกว่า 100 รุ่น ส่วนหนึ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้วงการแพทย์ของไทยเจริญก้าวหน้า และมีการสอนที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับนั้น คือการเรียนรู้และฝึกปฎิบัติจากร่างกายมนุษย์จริง หากขาดสื่อการสอนชนิดนี้ไปการรักษาผู้ป่วยก็คงเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิผล
ด้วยจิตศรัทธาของบุคคลผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเสียสละและเจตนารมณ์ที่ตั้งมั่นเพื่ออุทิศตนเป็น “อาจารย์ใหญ่” บริจาคร่างกายอันเป็นสิ่งสุดท้ายของชีวิตเพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ให้ชัดเจน ครบถ้วน และถูกต้อง จะเป็นรากฐานสำคัญในอนาคตสำหรับรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์สืบต่อไป

อาจารย์ใหญ่และพินัยกรรมบริจาคร่างกาย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์