10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10

"...ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเป็นตำรามาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์"

ข้อความที่ปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6 บ่งชัดถึงความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 9 มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้ว 11 ครั้ง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวันที่ 4-6 พ.ค.2562 จะเป็นครั้งที่ 12


 

การเตรียมการ ลำดับพระราชพิธี ตลอดจนคติต่างๆ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้รับการสืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุในคำปรารภในการจัดพิมพ์หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของกระทรวงวัฒนธรรมว่า "แม้ว่าพระราชอำนาจบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม แต่วัฒนธรรมประเพณีอันเนื่องด้วยพระราชพิธีสำคัญยังคงสืบสานต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้"

สำหรับคนไทยจำนวนมาก นับเป็นครั้งแรกที่จะได้เห็นและมีส่วนร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บีบีซีไทยจึงได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้ 10 ประการ เพื่อความรู้และความเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ที่จะปรากฏต่อสายตาประชาชนชาวไทยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า


10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


1) ครั้งแรกในรอบ 69 ปี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 จัดขึ้นในรอบ 69 ปี หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีประชากรประมาณ 19 ล้านคน ขณะที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 จะประจักษ์ต่อพสกนิกรไทยกว่า 66 ล้านคน

2) ตำราราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดอย่างไรไม่ปรากฏแน่ชัด แต่แบบแผนการพระราชพิธีฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ยึดถือปฏิบัติตาม "ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง" ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดให้ผู้รู้เรียบเรียงขึ้น นับเป็นตำราเกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในไทย แต่ขั้นตอนและรายละเอียดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาจปรับเปลี่ยนไปบ้างในแต่ละรัชกาล

3) น้ำศักดิ์สิทธิ์
ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) ถือเป็นการเปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์ และพิธีรับน้ำอภิเษก (การรดน้ำที่พระหัตถ์) ซึ่งแต่เดิมราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับน้ำอภิเษกจากผู้แทนสมาชิกรัฐสภาประจำทิศทั้งแปด เป็นนัยแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดย

- น้ำมุรธาภิเษก มาจากสระน้ำ 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำสำคัญทั้งห้า หรือ "เบญจสุทธคงคา" คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี

- น้ำอภิเษก มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของ 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง 1 แหล่งน้ำ


10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


4) พระมหาพิชัยมงกุฎ
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (เครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์) ที่ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก สมัยโบราณเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมาแล้วจะทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมานิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่าภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่การสวมมงกุฎ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์จึงทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม

5) พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรคือฉัตร 9 ชั้นหุ้มผ้าขาว เป็นเครื่องแสดงพระบรมราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว และถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ ใช้ปักหรือแขวนเหนือพระราชอาสน์พระราชบัลลังก์ ตามธรรมเนียมแต่โบราณ หากยังไม่เปลี่ยนรัชกาลจะไม่ลดพระมหาเศวตฉัตรลงเด็ดขาด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นช่วงเวลาเดียวที่จะมีการลดพระมหาเศวตฉัตรลงมาซ่อมแซมและเปลี่ยนผ้าหุ้มคือเมื่อมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


6) ยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัย
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการใช้ปืนใหญ่ขนาดเล็กยิงสลุตเอาฤกษ์เอาชัยเพื่อความเป็นสิริมงคล ทำการยิงโดย "กองแก้วจินดา" หน่วยทหารโบราณในสังกัดทหารปืนใหญ่ ปืนที่ใช้ยิงสลุตมี 4 กระบอก คือ ปืนมหาฤกษ์ ปืนมหาชัย ปืนมหาจักร และปืนมหาปราบยุค จำนวนสลุตเป็นไปตามพระฤกษ์ที่โหรหลวงคำนวณตามกำลังวัน เช่น วันศุกร์มีกำลังวัน 21 และวันเสาร์มีกำลังวัน 10 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ยิงสลุต 21 นัด ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 4 พ.ค. ยิงสลุต 10 นัด ขณะสรงน้ำมุรธาภิเษกและขณะทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์และพระแสง

7) พระปฐมบรมราชโองการ
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สิ่งหนึ่งที่พสกนิกรเฝ้ารอและจะได้รับการบันทึกไว้อีกยาวนานก็คือ พระปฐมบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ หลังจากทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์และพระแสง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 พิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์จะมีขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค.

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


8) เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร
ในพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เปรียบเสมือน "การขึ้นบ้านใหม่" โดยมีการเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรตามเสด็จ ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พันธุ์พืชมงคล ฟักเขียว กุญแจทอง จั่นหมากทอง ต่อมาสิ่งของสำหรับพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรมีเพิ่มขึ้น เช่น รัชกาลที่ 4 เริ่มใช้พระแส้หางช้างเผือก รัชกาลที่ 7 มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี จากนั้นพระมหากษัตริย์จะบรรทมเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ ซึ่งเป็นพระแท่นบรรทมของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเพื่อเป็นมงคลฤกษ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 ประทับแรมอยู่หนึ่งคืน

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


9) เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราเพื่อให้ประชาชนเฝ้าชมพระบารมี ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคในวันที่ 5 พ.ค. โดยประทับพระราชยานพุดตานทองเสด็จฯ จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ เพื่อนมัสการพระประธานและพระบรมราชสรีรางคาร


10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อครั้งที่ทรงผนวชหลายพระองค์ คือ รัชกาลที่ 4, 5, 6, 7, 9 และรัชกาลที่ 10 วัดพระเชตุพนฯ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 1 วัดราชบพิธฯ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารคทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นในปลายเดือนตุลาคม 2562 ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10


10) เสด็จออกสีหบัญชร
หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นลง พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกสีหบัญชร ซึ่งหมายถึงหน้าต่างของพระที่นั่งที่มีลักษณะเป็นระเบียงยื่นออกไป เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล วันที่ 6 พ.ค. เวลา 16.30 น รัชกาลที่ 10 จะเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท ซึ่งเป็นสีหบัญชรเดียวกับที่รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ.2493 พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาทสร้างอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังระหว่างประตูเทวาพิทักษ์และประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ บนถนนสนามไชย

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์