เลิกเหล้าด้วยการปฏิบัติธรรม (คุณท็อป ดารณีนุช โพธิปิติ)

คุณท็อป ดารณีนุช โพธิปิติ



ทำความรู้จักกับปีศาจสุราตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย
จากความตั้งใจที่จะดื่มเพื่อเรียกความครื้นเครงในวงเพื่อน
การดื่มเอาสนุกติดตัวเรื่อยมาจนเข้าสู่ชีวิตการทำงาน
ปีศาจสุราออกฤทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มหนักข้อขึ้นทุกครั้งที่เกิดความทุกข์ในใจ
เมื่อหน้าที่ความรับผิดชอบที่หนักขึ้น
คุณท็อปจึงติดอยู่กับวังวนการดื่มเหล้าอย่างหนักอยู่ถึง 2-3 ปี
เพราะคิดว่านี่คือทางออก เป็นทางลัดที่ช่วยคลายเครียดที่ดีที่สุดในเวลานั้น
แต่ผลพวงจากเหล้าส่งผลเสียทั้งต่อจิตใจ
พฤติกรรม ที่ต่างยิ่งทำให้ทุกข์ซ้ำหนักเข้าไปอีก

“แม้ทุกครั้งที่กินเหล้าเราจะรู้สึกผิด อยู่ตลอดเวลา
เพราะจริงๆ แล้วรู้ตัวว่าเราใช้เหล้าเป็นที่หลบความทุกข์
หลบอารมณ์ความรู้สึกลบๆ คิดไม่ตกก็ดื่มให้ลืมๆ
บางทีเมาแล้วก็เพี้ยน อาละวาด อย่างไปทะเลาะกับคนบ้า
กลับบ้านก็นอนคลุกอยู่กับน้องหมาอย่างนี้
รู้สึกเกลียดตัวเอง ยิ่งลูกโตขึ้นทุกวันๆ เราก็ยิ่งรู้สึกแย่มากๆ เลย อายลูก
พอสารกระตุ้นมันหมด จิตใจเราจะหดหู่กว่าเดิม
ทุกข์ก็อยู่เหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหน”


“ช่วงที่ดื่มหนักๆ กินจนคอเราเจ็บแสบไปหมด
สุขภาพแย่มาก เป็นกรดไหลย้อน เดิมเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็มีอาการมากขึ้น
เป็นหวัดง่าย เป็นหอบหืด หายใจจนจมูกโบ๋ จนเสียงเสีย
ตื่นมาไม่มีเสียงด้วย ไปทำพิธีกรเคยปากกระตุก
หน้าชาไปซีกหนึ่งอย่างเนี้ย รู้สึกว่าเรามันแย่มากแล้ว
คือเครื่องมือทำมาหากินจะพานเสียไปด้วยเลยตอนนั้น”


จากความรู้สึกผิดที่สั่งสมลงในใจทุกวี่วัน
ทำให้คุณท็อปเกิดฉุกใจคิดแล้วหันกลับมาตั้งหลักใหม่
ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่คือความสุขจริงๆ ของเราเหรอ
การที่ไปนั่งร้านประจำไปอยู่เป็นปี
ไปเข้าห้องน้ำก็นั่งมองวิวในห้องน้ำก็วิวเดิม
มีผนัง กรอบรูป แล้วก็แจกันใบเดิม
เริ่มรู้สึกว่านี่หรือคือความสุขที่แท้ของชีวิต
เราจะยึดการกินเหล้าเป็นหลักของชีวิตเหรอ
ก็ได้คำตอบว่า เราก็ไม่ชอบ ข้างในลึกๆมันต่อต้าน
เราน่าจะมีความสุขที่ถาวรและเสถียร เราเป็นหลักใจของบ้าน
ถ้าเราวิ่งไปหาอะไรที่ทำให้เราถดถอยลงอย่างนี้ มันจะยิ่งแย่
เพราะมันจะทำลายคนรอบๆ ข้างเราด้วย”

นี่เองเป็นที่มาที่น้อมนำให้ใจคุณท็อปคิดว่า
สักวันหนึ่งจะผลักเหล้าออกจากชีวิตให้ได้
ดังนั้นเมื่อกัลยาณมิตรที่หวังดีออกปากชวนไปปฏิบัติธรรม
เธอจึงตัดสินใจเดินเข้าสู่ทางแห่งความสุขที่แท้จริง

เลิกเหล้าด้วยการปฏิบัติธรรม (คุณท็อป ดารณีนุช โพธิปิติ)


ปฏิบัติธรรมรักษาใจ



เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติเต็มตัว
การฝึกเดินจงกรมเป็นด่านแรกที่คุณท็อปต้องเจอ
ซึ่งตอนแรกนั้นเธอคิดว่าง่ายกว่าปอกกล้วยเข้าปาก
แต่ในที่สุดก็รู้ซึ้งว่านี่คือด่านปราบเซียน
แม้จะเดินจงกรมแบบตุปัดตุเป๋ต่อไป
โดยมีความคิดขัดแย้งลอยฟุ้งอยู่เต็มหัว
คุณท็อปก็ไม่ย่อท้อ พยายามเดินให้ดีที่สุด
จนในที่สุดกายกับใจก็เริ่มสื่อสารถึงกัน

“เดินไปจนกระทั่งรู้สึกว่าทำไม่ได้ ขนาดจะตั้งใจเดิน
ฉันจะไม่ล้ม พอจังหวะยกแล้วค้าง เอ้าเซ เซหนอ (หัวเราะ)
บังคับไม่ได้หนอ ชอบคำนี้มากเลยว่า เพราะบังคับไม่ได้จริงๆ
ก็ได้คิดว่าเมื่อก่อนเราเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ
ทุกอย่างฉันต้องทำให้ได้ เป็นยอดมนุษย์
ฉันอยากจะเป็นแม่ที่ดี เป็นเมียที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี
และเป็นคนทำงานที่ดี อยากดีพร้อม
เลยกลายเป็นแบกไป ทุกอย่างถึงได้เหนื่อยหนัก
ลืมหันกลับมามองตัวเอง แล้วก็เลยวิ่งไปหลบอยู่กับเหล้านั่น”


นอกจากการเดินจงกรมจะทำให้คุณท็อปเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว
การนั่งสมาธิด้วยการกำหนดยุบพอง
โดยดูว่าการหายใจเข้าออกเกิดการยุบการพองของร่างกาย
เกิดอาการของร่างกายอย่างไรบ้าง ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่มีค่าไม่แพ้กัน

“แม้เราจะปิดตา แต่ก็ต้องเปิดตาหูจมูกลิ้นกายใจ
ต้องเปิดรับทั้งหมด เช่นปิดตา
เห็นความมืด ก็กำหนด เห็นหนอ
แล้วก็กลับมากำหนดที่ลมหายใจ
ได้ยินเสียงอะไรก็ตาม ก็ยินหนอ
แอร์เย็น ก็เย็นหนอ แล้วก็กลับมากำหนดที่ลมหายใจ
ทำแบบนี้แล้วจิตจะไม่ลงไปคลุกอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก
ที่มากระทบเยอะเท่าเดิม”

นอกจากเวลาการปฏิบัติทั้งสองรูปแบบที่คุณท็อปเล่าให้ฟังแล้ว
การใช้ชีวิตตลอดสามวันที่สถานปฏิบัติธรรม
ยังถือเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที


แหล่งที่มา : วิมุตติดอทเน็ต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์