จะอยู่อย่างไร ในโลก ร้อน ๆ

จะอยู่อย่างไร ในโลก ร้อน ๆ



แม้นักวิทยาศาสตร์ได้พยากรณ์ไว้ว่า ถ้าโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างน้อย ร้อยละ
60
ของที่ปล่อยกันอยู่ในปัจจุบัน

ภายใน
40-50 ปี ข้างหน้านี้ อุณหภูมิโลกก็ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นระหว่าง 2-5 องศาเซลเซียส แต่การนิ่งเฉยหรือเร่งวิกฤตการณ์ด้วยการเดินหน้าทำกิจกรรมที่เพิ่มความร้อนให้แก่โลกย่อมเท่ากับทำให้โลกลุกเป็นไฟในเวลาอันสั้นยิ่งกว่านั้น

             มีข้อมูลระบุว่า ประมาณ ร้อยละ  16 ของก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในโลกเวลานี้มาจากอาคารบ้านเรือน การกำจัดของเสีย และเผาผลาญพลังงานในกิจกรรมนอกภาคการผลิต แต่ถ้ารวมด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง ร้อยละ 30

            แม้ว่าปริมาณเกือบ 1 ใน 3 นี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราทั้งหมด แต่ถ้าลดส่วนนี้ลงได้ก็จะมีผลช่วยบรรเทาโลกร้อนได้ในระดับหนึ่ง

            คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือ เป็นไปได้เพียงใดที่จะลดก๊าซเรือนกระจกส่วนนี้ลงให้มากที่สุด โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเรามากนัก?

            คำตอบคือ เป็นไปได้ แม้ว่าในบางเรื่องเราอาจต้อง ออกแรงหรือใช้ความพยายามมากหน่อย     ก็ตาม

            มีวิธีที่แต่ละคน แต่ละบ้านจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่เราทุกคนสามารถทำได้ โดยแทบไม่ต้องลงทุน และไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ถ้าคนส่วนใหญ่ทำกันสม่ำเสมอจนเป็นแกตินิสัย ภาวะโลกร้อนก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

            ลดก๊าซเรือนกระจก เริ่มต้นที่ตัวเรา

            มีหลายวิธีที่แต่ละคน แต่ละบ้านจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ  ที่เราทุกคนสามารถทำได้ โดยแทบไม่ต้องลงทุน และไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ถ้าคนส่วนใหญ่ทำกันสม่ำเสมอจนเป็นปกตินิสัย ภาวะโลกร้อนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว

           ปลูกบ้านให้อากาศถ่ายเทได้ดี  ทาสีอ่อนเพื่อสะท้อนความร้อนออกจากตัวบ้านและให้แสงสว่าง ลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ความสว่าง

            ถ้ามีพื้นที่ ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน และในชุมชนให้มากมาย เพื่อช่วยลดความร้อน และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้โลกร้อน

            ประหยัดไฟ ใช้เครื่องไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ใช้หลอดประหยัดไฟ ปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานแล้ว และควรถอดปลั๊กด้วยทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน ตั้งตู้เย็นในที่อากาศถ่ายเทดี หมั่นละลายน้ำแข็งในตู้เย็นด้วย ถ้าใช้เครื่องปรับอากาศควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับห้อง ตั้งอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส และหมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ

            ประหยัดน้ำ อย่าปล่อยให้น้ำรั่วแม้เพียงเล็กน้อย ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ถ้าเป็นไปได้ใช้ฝักบัวอาบน้ำแทนการใช้ขันตักอาบ เพราะประหยัดน้ำกว่า อย่าเปิดน้ำทิ้งไว้ขณะที่แปรงฟันหรือโกนหนวด ถ้าใช้เครื่องซักผ้า ควรเลือกแบบที่ประหยัดน้ำ

            ใช้เสื้อผ้าเหมาะสมกับอากาศ เพื่อลดการใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

            ใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าแทนถุงพลาสติก ใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนภาชนะที่ทำด้วยพลาสติกหรือโฟม

            เลือกรับประทานอาหารที่มีกระบวนการผลิตน้อย เช่น อาหารสด ลดอาหารกระป๋อง ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม เพื่อลดพลังงานในการผลิตและเพื่อสุขภาพ

            เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดขยะหรือของเสียที่สลายตัวง่าย

            อย่าซื้อของใช้ตามใจตัวเอง ควรซื้อตามความจำเป็น อย่าให้ตัวเองเป็นเหยื่อการโฆษณาสินค้า

            เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ถ้าเป็นไปได้ เดินหรือใช้รถจักรยานแทนการใช้พาหนะที่ใช้เชื้อเพลิง ถ้าใช้รถ หมั่นตรวจและบำรุงรักษาสภาพเครื่องยนต์ ใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย เช่น ไบโอดีเซล หรือแก๊สโซฮอล์ ไม่ควรขับรถเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

            คัดแยกขยะก่อนทิ้ง สิ่งไหนที่พอนำมาใช้ใหม่ได้อย่าทิ้ง ถ้าไม่ใช้เองควรบริจาคให้คนอื่น ดัดแปลงของที่หมดสภาพแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นถ้าเป็นไปได้

             คนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหน?

              ตามข้อมูลของ World Bank ปี 2547 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 23 ของโลก (อันดับ 1-5 คือ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย)

            ใน ปี 2537 คนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า แต่อีก 10 ปีต่อมาปริมาณเพิ่มข้นเป็น 325 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20

            กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การแปรรูปหรือการเผาผลาญเชื้อเพลิงเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ก็ตาม ก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนนี้คิดเป็น ร้อยละ 48 ของทั้งหมดในปี 2537 และเพิ่มเป็น ร้อยละ 59 ในปี 2546 

            ปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีพันธกรณีตามพิธีสารเกียวโตที่จะต้องดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่กำหนด เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่การชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมโลกที่ต้องช่วยกันหาทางลดภาวะโลกร้อนให้มากที่สุด

             ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย เปรียบเทียบปี 2537 กับ 2546

            ที่มา : จากคอลัมน์ วิถีสุข จดหมายข่าวรายเดือนประจำเดือนมิถุนายน 2551

            ผลิตโดย ต้นคิด ภายใต้ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ


จะอยู่อย่างไร ในโลก ร้อน ๆ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์