...การหยุดให้ผลของกรรม...

...การหยุดให้ผลของกรรม...


กรรมจะหยุดให้ผล ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. หมดแรง

คือให้ผลจนสมควรแก่เหตุแล้ว เหมือนคนได้รับโทษ จำคุก ๒ ปี เมื่อถึงกำหนดแล้วเขาย่อมพ้นจากโทษนั้น นอกจากในระหว่าง ๒ ปีที่ถูกจองจำอยู่
เขาจะทำความผิดซ้ำเข้าอีก ถ้าในระหว่างถูกจองจำอยู่ เขาทำความดีมาก อาจได้ลดโทษลงเรื่อยๆ การให้ผลของกรรมก็ทำนองเดียวกัน โดยปกติธรรมดามันจะให้ผลจนหมดแรง นอกจากเวลาที่กำลังให้ผลอยู่นั้น

บุคคลผู้นั้นทำชั่วเพิ่มขึ้น มันก็จะให้ผลรุนแรงมากขึ้นถ้าเขาทำความดีมากขึ้น ผลชั่วก็จะเพลาลงในขณะที่กรรมดีกำลังให้ผล ถ้าเขา ทำดีเพิ่มขึ้น ผลดีก็จะมีกำลังมากขึ้น ถ้าเขาทำกรรมชั่วในขณะนั้น ผลของกรรมดีก็จะเพลาลง

๒. กรรมจะหยุดให้ผลเมื่อกรรมอื่นเข้ามาแทรกแซงเป็นครั้งคราว

คือกรรมดีจะหยุดให้ผลชั่วคราวเมื่อบุคคลทำกรรมชั่วแรงๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมชั่วอันมีกำลังเชี่ยวกรากนั้นให้ผลก่อน
ถ้าขณะที่กรรมชั่วกำลังให้ผลอยู่ มันจะหยุดให้ผลชั่วคราวเมื่อบุคคลผู้นั้นทำกรรมดีแรงๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมดีให้ผลก่อน นี่หมายเฉพาะที่จำเป็นและเร่งด่วน เท่านั้น

โดยปกติเมื่อกรรมอย่างหนึ่งให้ผลอยู่ กรรมอื่นๆ ก็จะรอคอย เปรียบเหมือนเมื่อพระราชามีพระราชภารกิจบางอย่างอยู่ หากมีราชกิจอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่รีบด่วนนัก ราชบุรุษหรืออำมาตย์มนตรีย่อมพักราชกิจนั้นไว้ก่อน จะนำความกราบบังคมทูลต่อเมื่อราชกิจที่ทรงอยู่ (เช่นทรงต้อนรับแขกเมืองอยู่) เสร็จไปแล้ว

ถ้าหากเป็นราชกิจรีบด่วนจริงๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็สามารถนำความกราบบังคมทูลได้ทันที การรับสั่งด้วยแขกเมืองก็ต้องหยุดไว้ก่อน

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากที่จะเข้าใจหรือเห็นกรรม และผลของกรรมโดยตลอดในช่วงชีวิตเดียว
ฉะนั้น เรื่องกรรมและสังสารวัฏจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจเรื่องกรรมโดยตลอดต้องพูดกันเรื่องสังสารวัฏ เมื่อมีสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องสาวไปหากรรมดีกรรมชั่วในอดีต จึงจะสมบูรณ์

๓. บุคคลผู้ทำกรรมได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ตัดวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิดเสียได้ มีชีวิตอยู่เป็นชาติสุดท้ายไม่เกิดในภพใหม่อีก กรรมย่อมหมดโอกาสให้ผลอีกต่อไป วิญญาณของท่านผู้นั้นบริสุทธิ์หมดเชื้อ เหมือนเมล็ดพืชที่สิ้นยางเหนียวแล้ว ปลูกไม่ขึ้นอีกต่อไป กรรมจะมีโอกาสให้ผลอยู่บ้างก็เฉพาะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

เช่นกรรมของพระมหาโมคคัลลานะ กรรมของพระองคุลิมาลเป็นอาทิ เมื่อท่านนิพพาน แล้ว กรรมต่างๆ ทั้งดีและชั่ว ไม่ว่ารุนแรงเพียงใดก็หมดโอกาสให้ผลเปรียบเหมือนบุคคลวิ่งหนีสุนัข สามารถว่ายน้ำข้ามไปฝั่งโน้นได้แล้ว เหลือวิสัยของสุนัขที่จะไล่ตามไปได้ เมื่อบุคคลผู้นั้นไม่กลับมาสู่ฝั่งนี้อีก สุนัขซึ่งเฝ้าคอยอยู่ก็จะตายไปเอง

อนึ่ง ความไม่ควรแก่การเกิดอีกของบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงสุด เพราะได้พัฒนาจิตอย่างดีที่สุดแล้วนั้น เปรียบเหมือนเมล็ดพืชซึ่งได้พัฒนาตัว
มันเองอย่างดีที่สุดแล้วจนเมล็ดลีบเนื้อมาก 
เมล็ดพืชเช่นนั้นนำไปปลูก ไม่ขึ้นอีก ไม่ว่าได้ดินได้น้ำดีเพียงใด เป็นการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของเมล็ดพืชเช่นนั้น


ที่มา หนังสือ หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด (อ. วศิน อินทสระ)

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์