Nomophobia โรคไม่มีโทรศัพท์แล้วกระสับกระส่าย


Nomophobia โรคไม่มีโทรศัพท์แล้วกระสับกระส่าย


ตื่นเช้ามาหยิบโทรศัพท์ก่อน ก่อนนอนเช็กเฟซบุ๊กอีก 2 ชั่วโมง ระหว่างกินอาหารก็เช็กอีเมล เข้าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมไปด้วย เห็นเหตุการณ์อะไรระหว่างวันก็คิดแต่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พอได้ยินเสียงหรือเห็นการแจ้งเตือนที่หน้าจอก็กระวนกระวาย อยากรู้ว่า "เรื่องอะไร" พอแบตเตอรีโทรศัพท์ต่ำ หมดเกลี้ยง หรือไปที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์จะรู้สึกแปลกๆ และกังวล

บริษัททำวิจัย dscout ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าคนทั่วไปหยิบจับโทรศัพท์โดยเฉลี่ย 2,617 ครั้งต่อวัน ขณะที่ Apple เปิดเผยว่า ผู้ใช้ไอโฟนอันล็อก (unlock) หน้าจอเพื่อใช้โทรศัพท์ราว 80 ครั้งตลอดวัน เกือบ 1 ใน 10 ของชาวอเมริกันยอมรับว่าใช้โทรศัพท์ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ตัวเลขยิ่งมากขึ้นไปอีกในกลุ่มอายุ 18-34 ปี (1 ใน 5 คนยอมรับว่าเช็กโทรศัพท์ขณะมีเพศสัมพันธ์) ผู้ใช้โทรศัพท์เกินกว่าครึ่ง ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลยตลอด 24 ชั่วโมง และคนกว่า 80% วางโทรศัพท์ไว้ในที่ที่เอื้อมหยิบถึงเวลานอน




Nomophobia โรคไม่มีโทรศัพท์แล้วกระสับกระส่าย


ไม่ว่าสถิติเหล่านี้จะจริงแค่ไหน แต่เชื่อว่า หลายๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ มีอาการ "เสพติดโทรศัพท์" หรือ Nomophobia (มาจากคำว่า No Mobile Phone Phobia) และรู้สึกอยู่เหมือนกันว่า ถ้าไม่ติดขนาดนี้ก็คงดี แต่แก้ไม่ได้ เลิกไม่ได้

เอาล่ะ ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะรู้ว่า "สิ่งนี้ไม่ดี แต่ก็ยังทำ" แต่ลองอ่านแล้วนึกถึงตัวเอง เพื่อเตือนใจกันอีกสักครั้งว่า เจ้าอาการ Nomophobia หรือกลัวจะไม่มีโทรศัพท์ใช้นี้ส่งผลเสียอย่างไร

เสียเวลามหาศาล - การทำหลายอย่างในเวลาเดียว (Multitask) นั้น ไม่มีประสิทธิภาพเท่าการมุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรอก

ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวเสียไป - แทนที่จะคุยกับคนรักหรือพ่อแม่ที่อยู่ตรงหน้า เรากลับนั่งจิ้มโทรศัพท์

ใช้มือถือขณะขับรถอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น - ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นตามข่าวบ่อยๆ แต่เรามักคิดว่า "ตอบไลน์ตอนรถติดนิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก"

เรากังวลมากขึ้น - เรากลัวว่าถ้าไม่ "เกาะติด" สถานการณ์ในโลกออนไลน์ จะพลาดอะไรไป

การนอนหลับไม่ดี - ก่อนนอนเราต้องเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีโพสต์อะไรสนุกๆ ที่เราพลาดไป ไม่มีข่าวบันเทิงที่ยังไม่ผ่านตา ถ้ามีไลน์หรืออีเมลงานเด้งขึ้นมาตอนห้าทุ่ม เราก็จะนอนคิดไปอีกสักพัก ที่แย่ที่สุดคือ แสงจากหน้าจอทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาแทนที่จะเตรียมตัวพักผ่อน เราจึงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่เกือบตลอดเวลา

เราอาจคิดว่า "โอเค ฉันติดโทรศัพท์ แล้วไงล่ะ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ จะเลิกเมื่อไรก็เลิกได้" แต่เอาเข้าจริง เราเลิกไม่ได้หรอก จำได้ไหมว่า เราพูดกับตัวเองแบบนี้มาเป็นปีๆ แล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้าง




Nomophobia โรคไม่มีโทรศัพท์แล้วกระสับกระส่าย


บทความนี้ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ติดโทรศัพท์แต่ต้องการเลิกหรือบรรเทา ด้วยวิธีง่ายๆ ที่หากบังคับใจให้ทำได้แล้วชีวิตจะดีขึ้น ดังนี้

- ปิดโทรศัพท์ก่อนนอนอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง - ปิดไปเลย ไม่ใช่แค่เปิดเป็นระบบสั่นหรือไม่มีเสียง แล้ววางไว้ห้องอื่น สำหรับคนที่ปิดไม่ได้เพราะมีเหตุจำเป็น เช่น เผื่อลูกหรือพ่อแม่โทรมา ก็ให้ใช้โหมด Do Not Disturb ให้เป็นประโยชน์ คือให้มีการแจ้งเตือนหรือเสียงเรียกเข้าจากเบอร์เฉพาะเพียงไม่กี่เบอร์เท่านั้น และวางโทรศัพท์ไว้อีกฟากของห้อง

- ใช้นาฬิกาปลุกจริงๆ - หานาฬิกาปลุกเสียงดังฟังชัด และเลือกแบบที่ไม่มีปุ่ม snooze เป็นการแก้นิสัย "ขอนอนต่ออีก 5 นาที" ไปในตัว อย่าบอกว่ากลัวมันไม่ปลุก ถ้ากลัวขนาดนั้น ยอมซื้อนาฬิกาปลุก 2 เรือน แลกกับแก้นิสัยติดโทรศัพท์ของตัวเองได้ ยังดีกว่า

- ตื่นแล้วอย่าเพิ่งเดินไปหยิบโทรศัพท์ - เห็นไหมว่าถ้าวางโทรศัพท์ไว้อีกห้องจะช่วยได้ ตื่นแล้วให้ยืดเส้นยืดสายเบาๆ นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ นึกถึงสิ่งที่เราจะทำในวันนี้อย่างมีสติ นึกถึงเรื่องดีๆ อาบน้ำแต่งตัว กินอาหารเช้า ทำสิ่งที่ต้องทำให้เรียบร้อยก่อนค่อยกดปุ่มเปิดโทรศัพท์ก็ยังไม่สาย และไม่ทำให้คุณ "พลาด" อะไรไปหรอก เชื่อสิ

- กำหนดเวลาสำหรับ "เช็กโทรศัพท์" - ไม่จำเป็นต้องอ่านอีเมล ไลน์ หรือข้อความทางเฟซบุ๊กทันทีที่มีคนส่งมา วิธีที่ทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าคือ กำหนดเวลา เช่น ก่อนทำงาน เช็กโซเชียลมีเดียและอีเมลได้ 5 นาที เอาโทรศัพท์ไปเก็บที่อื่น ลงมือทำงาน และทุกๆ ชั่วโมงก็เช็กได้อีก 5 นาที ใครอดทนได้ ก็ลองบอกตัวเองว่า เข้าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมได้ครั้งเดียวต่อวัน ครั้งละไม่เกิน 10 นาที ดีกว่าหยิบโทรศัพท์มาไถชั่วโมงละหลายๆ ครั้ง แล้วสุดท้ายต้องเสียเวลารวมกันหลายชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

- ตั้ง "เขตปลอดโทรศัพท์" - สถานที่ที่ไม่ควรมีโทรศัพท์อยู่คือโต๊ะกินข้าว เตียงนอน หรือบริเวณไหนในบ้านก็ได้ที่คุณใช้เวลาคุณภาพร่วมกับคนรัก พ่อแม่ หรือลูกๆ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ด้วย

- กำหนดวัน No-Technology Day ตามที่คิดว่าทำได้ อาจเป็นสัปดาห์ละวัน หรือเดือนละ 2 วัน ที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโทรศัพท์และแท็บเล็ตเลยตลอดวัน เมื่อไม่มีโทรศัพท์ให้ไถ เราก็ต้องหาอะไรมาทำ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกับลูก ทำอาหาร เชื่อสิว่าสภาพจิตใจเราจะสงบขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

- อย่าลืม "ความเป็นมนุษย์" - แทนที่จะคุยกับเพื่อนและครอบครัวผ่านการส่งข้อความ แทนที่จะกดไลก์สเตตัสของแฟน แทนที่จะส่ง "สวัสดีวันจันทร์" ไปให้เพื่อน 60 คนในไลน์พร้อมกัน ลองนึกถึงคนที่คุณอยากใช้เวลาร่วมกับเขาจริงๆ แล้วเดินทางไปหา นัดดื่มกาแฟหรือกินอาหารกันสักมื้อ พูดคุยกัน หากอยู่ไกลมากก็ส่งบัตรอวยพรหรือไปรษณียบัตรไปให้ทางไปรษณีย์ บางทีความช้าก็ให้ความรู้สึกดีๆ ได้เหมือนกัน




Nomophobia โรคไม่มีโทรศัพท์แล้วกระสับกระส่าย

เครดิตแหล่งข้อมูล : creativethailand




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์