SMS เสี่ยงโชค.. ภัยร้ายใกล้เด็ก

SMS เสี่ยงโชค.. ภัยร้ายใกล้เด็ก



คุณมีสิทธิ์ลุ้นรับ.....พิมพ์ A2 ส่งมาที่ 24177XX ข้อความละ 6 บาท

ประโยคเหล่านี้ถูกเผยแพร่และส่งต่อผ่านทางระบบเอสเอ็มเอสของระบบโทรศัพท์มือถือหลากหลายเครือข่าย และอีกหลายรายการของฟรีทีวี เคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ตก็มีข้อความในลักษณะเดียวกันเชิญชวนให้เข้าไปเสี่ยงโชค ที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้รับข้อความเหล่านี้

หากเป็นผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าเป็นการเสี่ยงโชคธรรมดาลองส่งกลับดู ถ้าไม่ได้ก็เสียตังค์แค่ 6 บาท  หรือบางคนก็อาจลบข้อความทิ้งไป แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือ เด็กๆ ที่ยังไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกรับสารที่ถูกส่งต่อ  จึงทำให้มีเด็กจำนวนมากตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงินไปนักต่อนักกับธุรกิจนี้!
  
เจ้าของโทรศัพท์มือถือเกินกว่าครึ่งของจำนวนประชากร ไทย 60 ล้านคน
ได้รับเอสเอ็มเอส ประเภทนี้และในจำนวนนี้มี 4 เปอร์เซ็นต์หรือคิดเป็น 2.4 ล้านคนที่จะเล่นเสี่ยงโชคเป็นประจำ ถ้าลองคำนวณดูว่าหากเราส่งเอสเอ็มเอสกลับไปครั้งละ 6 บาท จะคิดเป็นเงินประมาณ 7-14 ล้านบาทที่บริษัทจะได้รับ ซึ่งถือว่ามีมูลค่ามากกว่ารางวัลที่นำมาแจกเสียอีก
  

นักวิจัยโครงการสำรวจสถานการณ์การเสี่ยงโชคทางโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ได้ศึกษาพบว่า บริการเอสเอ็มเอสเสี่ยงโชคนั้นจากการคิดค่าบริการจำนวนเงินครั้งละ 6 บาทต่อการเสี่ยงโชค 1 ครั้ง จะถูกแบ่งให้ผู้รับข้อความของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 50 เปอร์เซ็นต์หรือครั้งละ 3 บาท และอีก 1.5 บาทจะถูกส่งต่อไปยังบริษัทที่ดูแลระบบและที่เหลือจะถูกส่งไปยังเจ้าของ กิจการที่คิดการเสี่ยงโชคโดยเอสเอ็มเอสนี้ขึ้นมา

     
สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือ วัยของผู้ใช้บริการที่จะร่วมเสี่ยงโชคในรูปแบบเอสเอ็มเอสนั่นคือ เด็ก เนื่องจากเด็กหวังรางวัลล่อใจ หากผู้ปกครองดูแลไม่ทั่วถึงนอกจากจะทำให้เด็กเสียเงินแล้วยังซึมซับนิสัยการติดพนันโดยไม่รู้ตัว

เด็กที่มีพฤติกรรมติดเอสเอ็มเอสเสี่ยงโชคจะคล้าย ๆ กับเด็กติดเกม ติดการพนัน มักจะมีอารมณ์หงุดหงิด หากได้เล่นแล้วก็จะเล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าแพ้หรือไม่ได้ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ก็จะผิดหวังรุนแรง อาจถึงขั้นทำลายข้าวของและเด็กไม่มีเงินเป็นของตัวเองยิ่งถูกพ่อแม่ห้าม อาจจะพูดจาหยาบคายและแสดงอาการไม่พอใจ  สิ่งเร้า ต่างๆ เหล่านี้เด็กจะมีโอกาสติดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะความสามารถในการพัฒนาสมอง การควบคุมตัว และวุฒิภาวะไม่มีเท่าผู้ใหญ่
  
ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีเวลาสังเกตลูกด้วย เช่น หมกมุ่นไม่รับประทานอาหาร ชอบแยกตัว ในเด็กบางกลุ่มมีการใช้เงินมากขึ้น ใส่ใจการเรียนน้อยลง จากเดิมอารมณ์ดีกลับเปลี่ยนเป็นคนหงุดหงิดง่าย เข้าสังคมกับเพื่อนน้อยลง หากเป็นเช่นนี้พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญกับลูกมากขึ้นด้วยการระงับสิ่งที่จะมา กระตุ้นหรือเร้า จากนั้นพูดคุยและตั้งกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนถึงการเล่นดังกล่าว รวมทั้งหากิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจแนะนำให้ลูก ๆ เล่น แต่หากเป็นรุนแรงมากควรพบแพทย์เพื่อทำการบำบัดป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
  

สุดท้ายอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาเข้มงวดและกวดขันเรื่อง เหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะการป้องกันในลักษณะนี้จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงใจจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นเด็กและเยาวชนที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติของเรา ต่อไปนั่นเอง


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์