กระต่ายน้อยและไข่ กับความหมายที่แท้จริงของ “อีสเตอร์”

กระต่ายน้อยและไข่ กับความหมายที่แท้จริงของ “อีสเตอร์”


เอเอฟพี - เทศกาลอีสเตอร์เป็นเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดของชาวคริสต์ ซึ่งในปีนี้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันศุกร์(25)ที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์ แต่ผ่านมาหลายพันปี ปัจจุบันอีสเตอร์ที่หลายๆ คนนึกถึง มักจะเป็นเทศกาลแห่งกระต่ายน้อยน่ารักน่าชังและไข่ช็อกโกแลตไปเสียอย่างนั้น 
        
        ดูเหมือนว่ารากเหง้าของเทศกาลอีสเตอร์จะเกิดขึ้นจากการเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิของชาวแองโกลแซกซอน ซึ่งทำพิธีบูชาเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ คือ เทพีออสเตอร์ หรือ อีสเตอร์ 
        
       เนื่องจากกระต่ายมีพฤติกรรมผสมพันธุ์อันน่าทึ่ง สัตว์ขนปุกปุยเหล่านี้จึงถูกนำมาเป็นเครื่องบูชาเทพีอีสเตอร์ และดูเหมือนว่าชาวแองโกลแซกซันจะวาดภาพเทพเจ้าของพวกเขามีเศียรเป็นกระต่ายด้วย แม้จะไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีชี้ชัดก็ตาม 
        
        ในศตวรรษที่ 2 ชาวคริสต์ เริ่มรู้จักพิธีนอกรีตนี้และนำมาผสมผสานกับพิธีฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์ ลักษณะเดียวกับการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในช่วงฤดูหนาว คือ จัดพิธีขึ้นในวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุด 
        
        คริสตศักราช 325 จักพรรดิคอนสแตนตินพยายามสร้างแบบแผนในการฉลองวันสำคัญทางศาสนาทั้งสองโดยจัดประชุมสภาที่เมืองไนเซีย ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดให้ฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในวันอาทิตย์แรก หลังจากพระจันทร์เต็มดวงในวันวิษุวัต (วันที่มีกลางคืนและกลางวันเท่ากัน) ของฤดูใบไม้ผลิ 
        
        ข้อกำหนดดังกล่าวถูกนำมาใช้ปฏิบัติกันจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ ซึ่งมีปฏิทินถือปฏิบัติแตกต่างออกไป ทั้งนี้ ตามปฏิทินดังกล่าวชาวออร์ทอดอกซ์จะจัดฉลองอีสเตอร์ในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 21 มีนาคมถึง 25 เมษายายนของทุกปี 
        
        เวลาล่วงเลยมา ออสเตอร์กลายเป็นอีสเตอร์ ด้วยความเคร่งครัดและยึดมั่นพิธีกรรมทางศาสนาเริ่มเข้าไปแทนที่การฉลองนอกรีต กระต่ายเปลี่ยนจากสัญลักษณ์ของการสืบพันธุ์ไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธ์ไร้เดียงสา 
        
        อย่างไรก็ตาม บันทึกของเวเนอเรเบิล บีด นักบวชผู้บันทึกเหตุการณ์การใช้ชีวิตของชาวอังกฤษในสมัยกลางระบุว่า พิธีกรรมนอกรีตยังปรากฏต่อมาอีกหลายศตวรรษ ซึ่งก็หมายความว่าบางครั้งอาจมีการฉลองเทศกาลอีสเตอร์ปีละ 2 ครั้ง 
        
        แม้ว่าจะไม่แน่ชัดว่า การมอบไข่นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเทสกาลอีสเตอร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ไข่ก็เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและการถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งมานานแสนนานแล้ว การระบายสีสันลงบนไข่นั้นเกิดขึ้นย้อนหลังไปถึงสมัยโรมยุคโบราณ คือ ช่วงปี 1200 ราชพงศาวดารของอังกฤษบันทึกว่า กษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 1 ทรงใช้เงิน 18 เพนนี เพื่อซื้อไข่ 450 ฟองที่ถูกระบายสีเป็นรูปใบไม้สีทองแจกจ่ายให้แก่สมาชิกของราชวงศ์  
        
        ประเพณีค่อยๆ เป็นที่นิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา อีก 500 ปีให้หลัง กษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสถึงกับทรงกำหนดให้อีสเตอร์เป็นประเพณีถือปฏิบัติ โดยทรงขอให้พสกนิกรมอบไข่ใบใหญ่ที่สุดที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์ และในวันอีสเตอร์ซันเดย์พระองค์ก็จะทรงแจกไข่ระบายสีทองแก่ประชาชนและข้าราชบริพาร 
        
        พิธีการและขนบธรรมเนียมของอีสเตอร์นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในประเทศที่นับถือนิกายออร์ทอดอกซ์ เช่น ในกรีซ จะระบายไข่เป็นสีแดงซึ่งหมายถึงโลหิตของพระเยซู และในช่วงเลาเที่ยงคืนของวันเสาร์ก็จะพากันตีไข่ให้แตก เท่ากับเป็นการป่าวประกาศการฟื้นคืนชีพของพระเยซู  
        
        ในฝรั่งเศส การตีระฆังโบสถ์ในเช้าของวันเสาร์เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการกลับจากโรมพร้อมไข่เต็มตะกร้า ทั้งนี้พิธีปฏิบัติดังกล่าวถูกห้ามระหว่างศตวรรษที่ 7 ด้วยเป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์จากวันมอนดีเทอร์สเดย์ (วันพฤหัสบดีก่อนวันอีสเตอร์) ถึงวันอีสเตอร์ซันเดย์ (วันอีสเตอร์)  
        
        ระยะเวลาผ่านไปหลายร้อยปี แม้แต่กระต่ายอีสเตอร์ก็ได้เกิดใหม่เช่นกัน กระต่ายปุกปุยแสนน่ารักที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลในปัจจุบันนั้น มีต้นกำเนิดช่วงทศวรรษ 1500 จากเรื่องราวของ ออชเทอร์ ฮาวส์ กระต่ายวิเศษที่เด็กๆ ชาวเยอรมันเชื่อว่าจะออกไข่ทิ้งไว้ให้ตามสวน 
        
        ชาวดัตช์และชาวเยอรมันรุ่นแรกที่เดินทางข้ามมหาสมุทรไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ได้นำกระต่ายอีสเตอร์ไปสู่ทวีปอเมริกาด้วย และอีกหลายร้อยปีที่ผ่านมา การตลาดอันชาญฉลาดและการค้าช็อกโกแลตที่เติบโตขึ้น ทำให้ห้างร้านต่างๆ ล้วนแต่มีขนมหวานรูปกระต่ายและไข่วางขายเต็มเพียบในช่วงเทศกาลอีสเตอร์แต่ละปี 
        
       

กระต่ายน้อยและไข่ กับความหมายที่แท้จริงของ “อีสเตอร์”


คำนวณวันอีสเตอร์


การฉลองอีสเตอร์จะมีขึ้นในวันอาทิตย์แรก หลังพระจันทร์เต็มดวงในวันวิษุวัต (วันที่มีกลางคืนและกลางวันเท่ากัน) ในฤดูใบไม้ผลิของทุกปี ที่เรารู้กว้างๆ คือเป็นวันอาทิตย์ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน แต่จะเป็นวันที่เท่าใดนั้น ต้องอาศัยการคำนวณง่ายๆ ดังต่อไปนี้ (วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับคริสตจักรออร์ทอดอกซ์)

1. นำตัวเลขปีค.ศ. ที่เราต้องการหาวันอีสเตอร์บวกด้วย 1
2. นำผลลัพธ์ที่ได้จากข้อ 1 มาหารด้วย 19
3. คำตอบในข้อ 2 จะเหลือเศษ ให้นำเศษมาเทียบกับตารางด้านล่าง 
4. วันอีสเตอร์จะเป็นวันอาทิตย์แรกถัดจากวันที่ในตาราง

0. 27 มีนาคม                   10.  5 เมษายน
1. 14 เมษายน                  11. 25 มีนาคม
2.3 เมษายน                     12. 13 เมษายน
3. 23 มีนาคม                   13. 2 เมษายน
4. 11 เมษายน                  14. 22 มีนาคม
5. 31 มีนาคม                   15. 10 เมษายน
6. 18 เมษายน                  16. 30 มีนาคม
7. 8 เมษายน                   17. 17 เมษายน
8. 28 มีนาคม                   18. 7 เมษายน
9. 16 เมษายน


ตัวอย่าง: คำนวณหาวันอีสเตอร์ของปี 2005

1. 2005 บวก 1= 2006
2. 2006 หาร 19 = 105 เหลือเศษ 11
3. จากตาราง เศษ 11 ตรงกับวันที่ 25 มีนาคม
4. วันอาทิตย์แรกถัดจากวันที่ 25 มีนาคม คือวันที่ 27 มีนาคม 2005
(ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์โบสถ์ใจสมาน)

FW


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์