กองทุนสัตว์ป่าโลก เผยโฉมสัตว์-พืชชนิดใหม่ 126 ชนิด ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ค้างคาวจมูกหลอดค้างคาวจมูกหลอด

กองทุนสัตว์ป่าโลก เผยโฉมสัตว์-พืชชนิดใหม่ 126 ชนิด ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เปิดเผยในรายงานฉบับใหม่วานนี้ (18 ธ.ค.) ว่าพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำโขง กว่า 126 ชนิด ในปี 2011

รายงาน "Extra Terrestrial" ของกองทุนสัตว์ป่าโลก ระบุมีการค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่รวม 126 สายพันธุ์ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยแบ่งเป็นพืช 82 พันธุ์ ปลา 13 พันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 21 พันธุ์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 5 พันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 5 พันธุ์

หนึ่งในสัตว์ที่ค้นพบใหม่ในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ปลาดุกเดินได้ (Clarias gracilentus) ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำธารของนเกาะฟูก๊วก ของเวียดนาม ที่เคลื่อนที่ได้โดยใช้ครีบบริเวณอกของมันในการทรงตัว ขณะที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยท่าทางคล้ายงู  รวมถึงปลาขนาดเล็ก (Boraras naevus) ที่มีความยาวเพียง 2 ซม. ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยชื่อของมันถูกตั้งขึ้นตามจุดแต้มสีดำที่ปรากฏบนลำตัวของมัน


ปลา Boraras naevus ที่พบในจ.สุราษฎร์ธานีปลา Boraras naevus ที่พบในจ.สุราษฎร์ธานี

นอกจากนั้น ยังมีปลาตัวสีขาวมุกอมชมพู ในตระกูลเดียวกับปลาคาร์ป ที่พบรวมกับฝูงปลาที่จับได้จากแม่น้ำเซบั้งไฟ แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงบริเวณภาคกลางของลาว ซึ่งมีช่วง 7 กิโลเมตรที่ไหลผ่านน้ำพุหินปูนใต้ดิน  ปลา Bangana musaei ที่อาศัยในถ้ำ เป็นปลาที่ตาบอดสนิท และได้รับการกำหนดให้เป็นปลาที่เสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด


ปลาดุกเดินได้ (Clarias gracilentus)ปลาดุกเดินได้ (Clarias gracilentus)

นายนิก ค็อกซ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า แม่น้ำโขง เป็นที่อยู่อาศัยของปลาราว 850 สายพันธุ์ และยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่มีการทำประมงมากที่สุดในโลก  การตัดสินใจของลาวในการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลำน้ำโขง จึงเป็นการคุกคามครั้งสำคัญความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกื้อหนุนวิถีชีวิตของประชากร มากกว่า 60 ล้านคน


กบต้นไม้ หรือ"ก๋วง" (Quang)กบต้นไม้ หรือ"ก๋วง" (Quang)

สัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่มีการค้นพบยังรวมถึง กบต้นไม้ที่ค้นพบในป่าพื้นที่สูงทางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งมีเสียงร้องที่ซับซ้อนจนฟังดูเหมือนเสียงนกร้องมากกว่ากบทั่วไป ขณะที่กบตัวผู้ส่วนใหญ่จะร้องซ้ำไปมาเพื่อดึงดูดตัวเมีย แต่กบต้นไม้ หรือ"ก๋วง" (Quang) จะเปลี่ยนเสียงร้องต่างไปในแต่ละครั้ง ไม่มีเสียงไหนที่เหมือนเดิม และเสียงร้องแต่ละครั้งก็จะเป็นเสียงที่มีการผสมกันของเสียงคลิ๊ก เสียงหวีด และ เสียงร้องจ๊อกแจ๊ก เรียงกันเป็นเอกลักษณ์


อึ่ง Leptobrachium leucopsอึ่ง Leptobrachium leucops

นอกจากนั้นยังมีกบในตระกูลอึ่ง Leptobrachium ที่มีจุดเด่นคือ ดวงตาที่มีสีสัน อึ่ง Leptobrachium leucops ค้นพบในปี 2011 ที่ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาสูงในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม มีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นเพราะมีดวงตาสีขาวดำตัดกันชัดเจน   
                         

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสัตว์เลื้อยคลานจำพวกงูสายพันธุ์ใหม่อีก 21 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงงูเขียวหางไหม้ตาทับทิม (Trimeresurus rubeus) ที่พบในป่าใกล้นครโฮจิมินห์ งูชนิดนี้ยังแพร่พันธุ์อยู่ตามแถบภูเขาทางใต้ของเวียดนาม และตามป่าตะวันออกบนที่ราบสูงลังเบียนของกัมพูชา


งูเขียวหางไหม้ตาทับทิม (Trimeresurus rubeus)งูเขียวหางไหม้ตาทับทิม (Trimeresurus rubeus)

งูเหลือมหางสั้น ถูกค้นพบบริเวณก้นลำธารในศูนย์สงวนพันธุ์สัตว์ไจก์ทิโย ในประเทศพม่า แต่การสำรวจซ้ำภายหลังกลับไม่พบตัวงูเหลือมแคระไจก์ทิโย (Python kyaiktiyo) ที่หายากนี้อีก ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การกระจายพันธุ์หรือภัยคุกคามของสัตว์สายพันธุ์นี้จึงมีน้อยมาก อย่างไรก็ตางูหลามขนาด 1.5 เมตรนี้ น่าจะเผชิญภัยกับภัยคุกคามเช่นเดียวกับงูเหลือมพันธุ์อื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และการลักลอบล่าเอาเนื้อ หนัง และเพื่อขายเป็น สัตว์หายาก


งูเหลือมแคระไจก์ทิโย (Python kyaiktiyo) งูเหลือมแคระไจก์ทิโย (Python kyaiktiyo)

สำหรับรายงาน Extra Terrestrial  เน้นให้เห็นถึงสัตว์สายพันธุ์ใหม่ 10 สายพันธุ์ ที่เพิ่งมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ จากจำนวนพืช 82 พันธุ์ ปลา 13 พันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 21 พันธุ์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 5 พันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 5 พันธุ์ ที่มีการค้นพบในปี 2011 ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม ไปจนถึงพื้นที่มณฑลยูนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน นับตั้งแต่ปี 1997  มีการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ในเขตลุ่มน้ำโขงที่ได้รับการบันทึกทางวิทยาศาสตร์มากถึง 1,710 สายพันธุ์แล้ว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์