ก่อนตะวันรุ่งวันพรุ่งนี้

ก่อนตะวันรุ่งวันพรุ่งนี้


แสงตะวันค่อยๆ ลับขอบฟ้า เมื่อค่ำคืนมาถึง ทั้งเมืองก็สว่างไสวไปด้วยแสงจากพลังงานไฟฟ้า..

         
   เป็นที่รู้กันดีว่า ยิ่งนับวันมนุษย์ยิ่งใช้พลังงานมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าของโลก พลังงานไฟฟ้าเกือบทั้งหมดในปัจจุบันผลิตขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งล้วนแต่เป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปและยังมีราคาสูง เห็นได้จากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นทุกๆ ปี ทำให้ทุกวันนี้มีกระแสรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานมากขึ้น เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้พลังงานเหล่านี้หมดไปจากโลก ก่อนเวลาอันควร

            นอกจากการอนุรักษ์พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยการใช้อย่างประหยัดแล้ว ทั่วโลกยังหันมาจับตามองแหล่งพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานสะอาดไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ไม่มีวันหมด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ถือว่าเป็นขุมพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

            หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า แสงอาทิตย์มีพลังงานมากมายมหาศาลเพียงใด ลองนึกถึงแสงแดดที่ส่งลงมาบนพื้นขนาด 1 ตารางเมตรในช่วงเที่ยงวัน จะมีพลังงานเท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับเตารีด 1 ตัวและพลังงานแสงแดดที่สะสมในพื้นที่ 1 ตรม. ใน 1 วันเทียบเท่ากับไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน 5   ยูนิต หรือคิดเป็นประมาณ 150 ยูนิต ต่อเดือน (ประมาณ 500 บาทต่อเดือน) เท่ากับว่าบ้านหลังนั้นใช้ไฟฟ้าเทียบเท่ากับพลังงานแสงแดดเพียง 1 ตารางเมตรเท่านั้นเอง เมื่อมนุษย์เห็นถึงศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์เช่นนี้ จึงมีการคิดค้นวิธีการที่จะนำพลังงานเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าก็คือ โซลาร์เซลล์ (Solar Cells) โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์ก็ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าและมีราคาถูกลง สำหรับประเทศไทยเราอยู่ในเขตร้อน ทำให้เราได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนี้อย่างเต็มที่เท่าไรนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนของอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ยังมีราคาแพงอยู่ จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูง จนหลายคนมองว่ายังไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ ณ วันนี้ที่เราต้องเผชิญกับภาวะน้ำมันแพงและสูญเสียเงินไปกับการนำเข้าน้ำมันจำนวนมากในแต่ละปี จึงเป็นเรื่องที่คนไทยน่าจะหันมามองพลังงานทดแทนจากธรรมชาติให้มากขึ้นเพราะความเป็นจริง ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่เริ่มบุกเบิกการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าไปไม่ถึงซึ่งในปี 2536 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เริ่มติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ให้กับพื้นที่ห่างไกลและสามารถนำพลังงานจากโซลาร์เซลล์มาใช้สำหรับดูทีวีและให้แสงสว่างได้ รวมถึงได้นำแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งให้กับโรงเรียน สถานอนามัยหมู่บ้าน หน่วยพิทักษ์ป่า ฐาน ตชด. ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งก็สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หลอดไฟนีออน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี อาจเรียกได้ว่า เทคโนโลยีของระบบนั้นพร้อมแล้ว แต่รอแค่ให้ราคาของโซลาร์เซลล์ถูกลงเท่านั้น

ก่อนตะวันรุ่งวันพรุ่งนี้



            นอกจากปัญหาในเรื่องของเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่ยังมีราคาแพงอยู่ประเทศไทยยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจหรือสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเพราะยังคิดว่าสามารถหาแหล่งพลังงายจากต่างประเทศได้ แต่สิ่งนี้จะทำให้ประเทศไม่มีความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวเลย แต่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าหรือหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็คือการนำสิ่งที่มีอยู่และได้มาฟรีๆ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ หรือพลังงานลม มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงของเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยแนะนำว่า การจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ก้าวหน้าได้ ต้องมีการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ต้นน้ำ คือ การผลิตวัสดุสำหรับทำโซลาร์เซลล์ ที่เรียกว่า EVA หรือโพลีเมอร์กันความชื้นจากภายนอก ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวท.) ได้พัฒนาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่วนเครื่องจักรที่ใช้สำหรับผลิตโซลาร์เซลล์นั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้เอง แต่ก็มีแผนที่จะพัฒนาขึ้นเองเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง

            สำหรับกลางน้ำเป็นเรื่องของการพัฒนาประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ ซึ่งที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบหนาที่ต้องใช้ซิลิคอนจำนวนมาก และแบบบางที่ใช้ซิลิคอนน้อย การพัฒนาให้มีการใช้แบบบางก็จะช่วยประหยัดต้นทุน แต่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดด้วย ส่วนปลายน้ำเป็นการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมา เช่น การผลิตไฟฟ้าน้ำร้อน หลังคาโซลาร์เซลล์ ระบบผลิตไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ เป็นต้น

            แม้ว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าได้มากก็ตาม แต่ปัญหาในปัจจุบันคือต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงสูงอยู่ โดยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าแบบเดิมกว่าเท่าตัว ดังนั้นหากทำให้ค่าไฟที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาเท่ากับค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน และถ้าเราสามารถผลิตเครื่องจักรเพื่อผลิตวัสดุอุปกรณ์ได้สำเร็จก็จะสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด   กระทรวงพลังงานเองก็มีแนวทางการส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์ของไทยในปัจจุบัน โดยได้วางเป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนปี 2551-2554 ให้ได้ 10.8% ของการใช้พลังงานทั้งหมดและกำหนดแผนพัฒนาแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ 45 เมะวัตต์ ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 1 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 110 ล้านบาท ใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 50 วัตต์ จำนวน 20,000 แผง บนพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ การจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จึงต้องหาพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ การจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จึงต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสม คือ ควรเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์ ประมาณ 1,800-1,900 ชั่วโมงต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้วในหลายจังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา อุดรธานี ลพบุรี อ่างทอง เพชรบุรี และนครสวรรค์ ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 26.4 เมกะวัตต์

ก่อนตะวันรุ่งวันพรุ่งนี้



                 
            จริงๆแล้วกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่ให้พลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดถึง 5.5 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อตารางเมตร แต่พื้นที่ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างแคบและมีราคาแพง จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ถ้าหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องแล้ว ในอนาคต คนกรุงเทพฯ ก็อาจจะได้ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานมากที่สุดในประเทศ หันมาดูประเทศที่ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนมากที่สุดในโลก นั่นคือ ประเทศญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากที่สุดประมาณ 46% ของปริมาณการผลิตทั่วโลกที่ 1,656 เมกะวัตต์ รองลงมา คือ ประเทศในแถบยุโรป สัดส่วนการผลิต 28% อันดับที่ 3 คือ สหรัฐอเมริกา สัดส่วนการผลิต 10% และประเทศอื่นๆ มีการผลิตประมาณ 16%

            สำหรับประเทศไทยมีแสงอาทิตย์มากกว่าประเทศญี่ปุ่น 1.5% แต่ญี่ปุ่นมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าประเทศไทยถึง 100 เท่า นี่แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทนมากแค่ไหน ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการนำพลังงานทดแทนเหล่านี้มาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

            ในภาวะราคาน้ำมันแพง รวมทั้งภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะชะล่าใจกันต่อไปได้อีกว่า เรายังมีพลังงานใช้อย่างฟุ่มเฟือยหากทำให้คนไทยตระหนักว่า พลังงานทดแทนมีความสำคัญมากแค่ไหน และการใช้พลังงานธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเราก็จะมีพลังงานใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น และไม่สร้างมลพิษ และยังเป็นพลังงานที่จะยังอยู่กับเราไปอีกกว่า 4,000 ล้านปี ถ้าเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ปัญหาเรื่องพลังงานคงจะหมดไปจากประเทศไทยหรือโลกใบนี้
           
ก่อนตะวันจะโผล่พ้นขอบฟ้าในวันพรุ่งนี้ เรายังมีความฝันที่จะเห็นแสงสว่างจากพลังงานของดวงอาทิตย์ในยามค่ำคืน..ทั้งคืนนี้และคืนต่อๆไป


ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  และ วิชาการ.คอม
โดย วารสาร happiness


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์