ขจัดความเหินห่าง...สร้างความเข้าใจ หนึ่งทางเยียวยาวิกฤติ หย่า-ร้าง!!

ขจัดความเหินห่าง...สร้างความเข้าใจ หนึ่งทางเยียวยาวิกฤติ หย่า-ร้าง!!


"ทำไมไม่เข้าใจกันบ้าง ทำไมชอบมองแง่ร้ายอยู่เรื่อย ทำ ไมไม่ฟังกันก่อน รู้ไหมว่าฉันหวังดี รู้ไหมที่ทำทุกอย่างก็เพื่อใคร”

คำพูดเหล่านี้มักเกิดจากความน้อยอกน้อยใจ ที่ทิ่มแทงใจ บั่นทอนความรู้สึกของผู้พูดและผู้ที่ได้ยิน เมื่อบ่อยครั้งเข้าทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจตกตะกอน กลายเป็นความเหินห่าง สุดท้ายต้องจบลงด้วยการเลิกรากันไปในที่สุด
 
ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ ทำให้ทุกครอบครัวต้องดิ้นรน ขวนขวาย มีชีวิตที่ต้องแข่งกับเวลา ทำหน้าที่ของตนเองทั้งในส่วนของการงานและการเรียน จนทำให้ความสัมพันธ์ในครอบ ครัวที่ควรจะมีความสุข ได้พูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน ยามว่างได้หยอกล้อเล่นกัน กลับกลาย เป็นความเหินห่าง การพูดคุยกันกลายเป็นการมีปากเสียงของคนในครอบครัว และมีคำถามที่ค้างคาใจเกิดขึ้นตามมามากมาย
 
สถาบันแห่งชาติเพื่อ   การพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว    และสำนักงานกองทุนสนับสนุน   การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศึกษาสถานการณ์ครอบครัวไทย ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2552
พบว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 17.9 ล้านครอบครัว และมีประชากรเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง     11-22 ปี จำนวน 11.4 ล้านคน อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากกว่า 2.5 ล้านครอบครัว ขณะเดียวกันยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวน 1,000 ราย ระบุสาเหตุของการเป็นพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยว อันดับแรก เกิดจากการ หย่าร้าง

ขจัดความเหินห่าง...สร้างความเข้าใจ หนึ่งทางเยียวยาวิกฤติ หย่า-ร้าง!!


วันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า

ปัญหา    การหย่าร้างของคนไทยสูงขึ้น   ทุกปี
สถิติเมื่อปี พ.ศ. 2550  ที่ผ่านมา มีคู่สมรสจดทะเบียนประมาณ 300,000 คู่ แต่หย่าร้างถึง 100,000 คู่ ทำให้เกิดครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น หากครอบครัวอ่อนแอ ขาดความพร้อมเช่นนี้ อาจส่งผลให้เด็กเกิดปัญหา เนื่องจากได้อยู่กับพ่อ-แม่น้อยลง จากการศึกษาพบว่าเด็กที่กระทำผิดจำนวนมากกว่าครึ่งมาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง สุรา บุหรี่ ยาเสพติดและการมี เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
 
ใช่ว่าปัญหาจะไม่มีทางแก้ !! สมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายซี บริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล   จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้หนึ่งที่เคยเข้าร่วมผ่านกระบวนการเรียนรู้ภายใต้โรงเรียนพ่อ-แม่- ลูก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้คนเป็นพ่อ-แม่  ได้ทบทวนและใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและเดินไปสู่ความปรารถนาที่แท้จริงในการสร้างสันติสุขในครอบครัว แนะนำแนวทางในการดำเนินชีวิตครอบครัวให้ฟังว่า พูดในฐานะพ่อบ้านคนหนึ่ง มีเพื่อนและมีลูกน้องแวดล้อมอยู่จำนวนมากว่า การหย่าร้างเป็นเรื่องที่ เกิดขึ้นได้ เมื่อมาถึงจุดที่เราไม่สามารถหาเหตุผล หากำลัง ไม่มีพลังงานพอที่จะมีชีวิตคู่ต่อไปได้ ไม่ได้มองว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องที่ถูก เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้
 
ตรงนี้คงต้องหันมามอง ว่า ความเสน่หา ความสำคัญ ความเอื้ออาทร สิ่งที่เคยมีมาเมื่อ ครั้งตกลงใจแต่งงานกัน เพราะคงไม่มีใครแต่งงานกันโดยไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ แต่อะไรทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป อะไรที่ทำให้เหินห่างกัน อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าตัวใครตัวมัน จนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่ตัดสินใจไม่อยู่ด้วยกันแล้ว อาจจะต้องกลับไปมองหาตรงจุดนั้น

“เคยตั้งคำถามกับครูท่านหนึ่ง เพราะเห็นว่าครูมีชีวิตคู่ที่มั่นคงยาวนานมากว่า ทำไมครูถึงได้มีชีวิตคู่ที่มั่นคงอย่างนี้ ครูตอบกลับมาว่า อยู่ได้อย่างไรฉันตอบไม่ได้ แต่ฉันแน่ใจว่า ทุกเช้าฉันยังรักผู้ชายที่นอน     อยู่ข้าง ๆ ฉันอยู่ อีกอย่างหนึ่ง    คือระหว่างวันที่ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำงานเมื่อกลับมาเจอกันเหมือนเขาเป็นคนใหม่ทุกครั้ง คำว่า ใหม่ สำคัญมาก เพราะ ทำให้เรารู้สึกกระชุ่มกระชวยทุกครั้งที่ได้เจอกัน
 
หลาย ๆ ครั้ง ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากคำพูดที่ว่า ก็พูดอย่างนี้อีกแล้ว ก็เป็นเสียอย่างนี้ พูดแล้วกี่ครั้ง ทำแล้วกี่ครั้ง คน เรามักจะไปตอกย้ำกับเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเราไม่เคยมองอย่างที่เขาเป็น นี่เป็นมุมมองที่ได้จากครู”

ขจัดความเหินห่าง...สร้างความเข้าใจ หนึ่งทางเยียวยาวิกฤติ หย่า-ร้าง!!


การมีครอบครัว มีชีวิตคู่ เป็นเรื่องท้าทายให้เราต้องเรียนรู้ที่จะต้องอยู่ด้วยกัน เป็นความรู้อีกแบบหนึ่งที่ต่างจากวัยหนุ่มสาวที่คิดว่า คนที่แต่งงานกันมักมีอะไรที่เหมือนกัน ชอบเหมือนกัน คิดคล้าย ๆ กัน มีอาจารย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า จริง ๆ แล้ว คนที่จะเป็นคู่กัน เขาคนละขั้วกับเรา เขาไม่เหมือนเรา เพราะเขาไม่เหมือนเราเขาถึงเป็นคู่เรา เช่น เราเป็นคนตรง เขาเป็นคนอ้อมค้อม คนอ้อมค้อมจะเห็นว่าคนตรงเป็นคนหยาบคาย ส่วนคนตรงจะเห็นว่าคนอ้อมค้อมน่ารำคาญ จะบอกอะไรก็ไม่บอก แล้วมักคิดว่าอีกคนหนึ่งมีความผิดปกติเสมอ แต่ลืมไปอย่างหนึ่งว่า ไม่มีใครผิดปกติ แต่เป็นเงาของกันและกัน เป็นคนละขั้วกัน ความรู้อย่างนี้เรียกว่า voicedialogue เป็นจิตวิทยาของชาวอเมริกัน ซึ่งพูดถึงเรื่องบทบาทของเงาในความสำคัญของคนที่คนมักมองไม่ออก ไม่เห็น ไม่รู้ว่ามี เป็นเสียงบางเสียงของเราที่อาจจะละทิ้งหรือละเลยที่จะรับฟัง เป็นเสียงที่นำเราให้เข้าไปเฝ้ามองเฝ้าฟังตัวตนของเราเองซึ่งเราอาจจะไม่คุ้นเคย แต่เป็นเสียงที่นำเราไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการรู้จักตัวเองและคนสำคัญรอบข้างที่แตกต่างจากเราอย่างคนละขั้ว ซึ่งเชื่อ       ว่าถ้าคนเรามองจากมุมตรงนี้กัน มากขึ้น จะช่วยให้สถานการณ์ในครอบครัวดีขึ้นได้

“คนเรามีเงา ทุกคนเดินเข้ามาในชีวิตเราพร้อมกับกระจกเงาบานหนึ่ง กระจกเงาบานนี้ส่องให้เห็นบางด้านของเรา ด้านที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะคนเราไม่ได้มีด้านเดียว  มีด้านหน้าและอีกด้านที่เป็น    เงาของเรา คนที่เราคบในชีวิตเดินเข้ามาหาเราพร้อมกับกระจกบานหนึ่งส่องให้เห็นตัวเรา     เมื่อเราเห็นชั่วครู่เดียวเราก็ทุบกระจกแตกด้วยการต่อว่า แทนที่จะใคร่ครวญ ทบทวน มองเข้าไปลึก ๆ ว่าคนคนนั้นกำลังสะท้อนอะไรให้กับเรา   คำว่าสะท้อนไม่ใช่ว่าเขามาพูด มาบอกอะไร แต่ตัวเขา สิ่งที่ เขาเป็นกำลังบอกอะไรกับเราต่างหาก”
 
การที่คนสองคนจะอยู่ด้วยกันได้ดีนั้น ให้คิดบวกไว้ คิดดีกับตนเอง คิดดีกับคนอื่น คิดดีกับสถานการณ์ คิดดีกับคนที่เขาคิดต่างกับเราด้วย ตรงนี้สำคัญ โดยอาศัยเรื่องเงา การที่เราคิดดีกับเขาไว้ก่อนทั้ง ๆ ที่เขาคนละขั้วกับเราเพราะคนอื่นอาจมีบาง อย่างที่เราไม่มี เช่น เราเป็นคนที่ทำงานจริงจัง ตั้งอกตั้งใจมาก ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ส่วนคนที่อาจจะตั้งใจ น้อยกว่าเรา หรือรู้สึกผ่อนคลาย กว่า เราไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นคนขี้เกียจ ซึ่งตรงนี้เป็นเงาของเรา สำหรับคนที่ตั้งใจมาก ๆ มองความผ่อนคลายกลายเป็นความขี้เกียจ ในทางกลับกันคนที่ค่อนข้างจะผ่อนคลาย ไปเห็นคนที่ตั้งอกตั้งใจมากจะมองว่าเคร่งครัดเกินไป ถ้าเรามองโลกในแง่ดี   จะมองจากมุมที่เห็นตัวเองและเงาของเรา ไม่เอาตัวเราตั้งเป็นหลัก ดังพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว        ตอนหนึ่งว่า “การมองโลกในแง่ ดีนั้นดีแน่ แต่จะให้ดีแท้ต้อง มองโลกตามความเป็นจริง” เพราะความเป็นจริงนั้น มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี มีทั้งที่เราชอบและไม่ชอบ ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ
 
ต่อมา คือ ชอบไม่ชอบให้ฟังไว้ก่อน แต่ก่อนที่จะฟังต้องเชื่อว่าความขัดแย้งใด ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมีทางออก ณ ซอยตัน เมื่อเรามองเข้าไปเห็นทางตัน คนส่วนใหญ่จะไม่เดินต่อ จะถอยกลับ พยายามหาทางอื่น เจอบ้างไม่เจอบ้าง ถ้าเจอก็เลี้ยว ไม่เจอก็เอาหัวโขกกำแพงนั้น แต่บางครั้งเมื่อไม่มีทางใดจะเดินก็ต้องเดินต่อไปเรื่อย ๆ ไปหยุดตรงหน้าทางตัน หันซ้ายจึงจะเห็นว่ามี ซอยอยู่ข้าง ๆ ซึ่งซอยนั้นถ้าไม่เดินมายืนตรงนี้จะไม่มีทางเห็นได้เลย ฉะนั้น บางสิ่งบางอย่างถอยไม่ได้ เลิกไม่ได้ เพราะถ้าเลิก ถ้าถอย ก็จะไม่เห็นทาง ถ้าเดินไปไม่ถึงที่สุด หรือบางครั้งทางตันที่เห็นนั้นอาจจะไม่ใช่กำแพงหรือทางตันก็ได้
 
รวมทั้ง คุยกันให้มากขึ้น ดื้อที่จะเดินต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรกับชีวิตคู่ จะขัดแย้งกันอย่างไรต้องมีสักทางที่เป็นทางออกที่ดี ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งทดสอบว่าจะผ่านพ้นไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ไหวก็จบ การยอมแพ้ไม่ได้ผิดอะไร แต่ต้องยอมรับผลของความพ่ายแพ้นั้น แต่ถ้าแพ้บ่อย ๆ ก็ต้องเริ่มใหม่เรื่อย ๆ จะเลือกทางใดขึ้นอยู่กับตัวเรา

ขจัดความเหินห่าง...สร้างความเข้าใจ หนึ่งทางเยียวยาวิกฤติ หย่า-ร้าง!!


 สมพล กล่าวทิ้งท้าย   ไว้อย่างน่าคิดว่า เชื่อว่าความสัมพันธ์สร้างผลพวงแห่งความสุขที่ลึกซึ้งมาก ไม่ใช่ความสุขจากการได้กินได้ใช้ ได้สนุกสนาน แต่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตของเรา แต่ความสุขนี้ต้องรู้จักดูแล หล่อเลี้ยง รดน้ำพรวนดิน การยอมรับว่าเขาไม่เหมือนกับเราโดยสิ้นเชิง รวมทั้งชื่นชมในความต่างกัน ชื่นชม ทั้ง ๆ ที่เราชอบและไม่ชอบ เช่น ตัวเราอาจจะไม่ชอบให้ใครมาขีดเส้น มากำหนดทางเดิน ชอบอิสระ แต่เราสามารถชื่นชมกรอบและระเบียบที่ถูกวางไว้ได้ ทำความเข้าใจว่าคนเรามีทั้งสองขั้วอยู่ในชีวิตทั้งคู่ เมื่อเรามองเห็นโลกทั้งสองด้าน ทั้งขาวและดำโดยที่เราสามารถดูแลทั้งสองอย่าง ควบคู่กันไปได้จะมีผลลัพธ์บาง อย่างเกิดขึ้นในชีวิตที่ดีขึ้นมาก
 
เมื่อมองหาบวกจะเจอลบเสมอ ถ้ามองหาแต่เรื่องบวกเราจะทนเรื่องลบไม่ได้ ไม่ใช่จะเอาเฉพาะอย่างที่เราต้องการ แต่ต้องมองว่าบวกแค่ไหนต้องลบได้ ลบแค่ไหนก็บวกได้ อย่าฉวยเอาชีวิตไว้แค่ข้างเดียว โดยเฉพาะข้างที่เราชอบเท่านั้น ชีวิตยังมีอีกด้านที่เราไม่ชอบอยู่ด้วย เพราะทุกชีวิตมีสองด้านเสมอ
 
“ครอบครัวมีความสุข  ได้โดยการหวนกลับไปชื่นชมคู่ ชีวิตอย่างที่เขาเป็นและกลับไปรับฟังอย่างลึก ๆ โดยไม่มีการพิพากษา ฟังโดยไม่แทรกแซง ฟังโดยไม่เอาตัวเราเองเป็นที่ตั้ง แล้วม่านที่บดบังความรู้สึกที่บั่นทอนอยู่ก็จะค่อย ๆ บางลงจนมองเห็นซึ่งกันและกันอย่างเข้าใจ”
 
สำหรับใครที่อยากค้นหาแนวทางขจัดความเหินห่างที่เข้ามาในครอบครัว พร้อมสร้างความเข้าใจกันระหว่างความสัมพันธ์ของพ่อกับแม่ หรือพ่อ-แม่กับลูกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ได้ในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ ณ บ้านพักคริสเตียน ซอยศาลาแดง 2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ voicedialogue work@ gmail.com
 
พร้อมที่จะหันหน้ากลับมาดูแลความสัมพันธ์ของคนสำคัญในชีวิตคุณแล้วหรือยัง??.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์