ขยะหลังน้ำลดเรื่องใหญ่

ขยะหลังน้ำลดเรื่องใหญ่


นอกจากน้ำเน่าจากน้ำท่วมแล้ว “ขยะ” ยังเป็นข้อกังวลที่ต้องเร่งสะสางเพราะขยะจากน้ำท่วม ไม่เพียงจะเป็นขยะที่คาดไม่ถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นขยะพิษและขยะติดเชื้อ

 รวมทั้งขยะจากเฟอร์นิเจอร์เปียกน้ำทั้งหลาย จากการสำรวจพื้นที่น้ำเสียในเขต กทม. ของกรมควบคุมมลพิษและเหล่าอาสาสมัครล่าสุดจำนวน 30 คน พบว่ามีขยะกระจายในชุมชนต่าง ๆ มากกว่า  3 ล้านตัน คือปัญหาที่ต้องเผชิญภายหลังน้ำลด คำนวณออกมาแต่ละคนมีขยะที่เสียหายจากน้ำลดเฉลี่ย 500 กก.ต่อคน เทียบจากจำนวนประชากรที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม 9.4 ล้านคน ขยะส่วนใหญ่ที่ออกจากครัวเรือนช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ถุงพลาสติก ขวด หนังสือ เศษไม้ ตู้ เตียง ทีวี ที่นอน และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย รวมทั้งขยะจากรถยนต์ที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 8 แสนคัน ที่เสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในรถยนต์ เช่น แบตเตอรี่ ถ่ายน้ำมัน


นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ขยะหลังน้ำลดที่ออกมาจากครัวเรือน มีหลายอย่างที่คัดแยกและนำไปรีไซเคิลได้ อาทิ แก้ว พลาสติก โลหะ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ เศษไม้ รวมทั้งกระสอบทรายที่นำมาใช้เพื่อทำพนังกั้นน้ำท่วมจำนวนมากทั้งในเขต กทม. และพื้นที่รอบนอก ซึ่งถุงปุ๋ยสามารถคัดแยกนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งทรายจำนวนมหาศาลจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป


“ขยะจำนวน 3 ล้านตันถือว่าเป็นขยะจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.เป็นแหล่งผลิตขยะมากที่สุดเฉลี่ย 8,000 ตันต่อวัน ส่วนพื้นที่ในต่างจังหวัดจะมีน้อยกว่า ยกเว้นเมืองขนาดใหญ่ เช่น เทศบาลเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา และสุราษฎร์ธานี ที่เคยน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2553 พบว่ามีขยะจากน้ำท่วมจำนวนมาก ยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ ยังหาสถานที่กำจัดไม่ได้หมด เพราะพื้นที่ฝังกลบมีไม่เพียงพอ ขณะนี้ได้เร่งประสานให้ท้องถิ่นเตรียมแผนหาจุดฝังกลบขยะถูกสุขลักษณะ แทนที่ฝังกลบขยะในพื้นที่น้ำท่วมที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะที่ จ.นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี” รักษาการอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว


นอกจากขยะดังกล่าวแล้ว น้ำท่วมครั้งนี้ยังกังวลเกี่ยวกับขยะจากภาคอุตสาหกรรมเพราะมีนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้


“เราไม่รู้ว่าขยะที่กระจายออกมาจากนิคมอุตสาหกรรมพร้อมกับน้ำท่วม มีสารอะไรปะปนอยู่บ้าง จะมีพิษต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีสารเคมีที่รั่วไหลจากโรงงานตามมาอีก ช่วงที่น้ำท่วมใหม่ ๆ ได้ข่าวว่าจะมีสารพิษรั่วไหล แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาบอกว่าเก็บกู้ไปหรือยัง” ประชาชนผู้ประสบปัญหาอุทกภัยรายหนึ่งระบุ


ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพของขยะจากภาคอุตสาหกรรมมีผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์แน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับความต้านทานของร่างกาย และปริมาณของสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายในความเห็นของแพทย์อย่าง ร.ต.ต.นพ.อัญวุฒิ ช่วยวงษ์ญาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ผสมผสาน ประจำศูนย์สุขภาพแบงคอก โฮลิสติค คลินิก (Bangkok Holistic center) กล่าวว่า น้ำท่วมมีภาวะเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับโลหะหนัก ก่อนที่น้ำจะท่วม เคยพบสารหนูตกค้างในร่างกายของคนไข้สูงถึง 900 ไมโครกรัม สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้แค่ 50 ไมโครกรัม คาดว่ามีการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม อาจจะมีของเสียหลุดรอดมาในสิ่งแวดล้อม พิษภัยของสารหนูนั้นจะค่อย ๆ เข้าไปทำลายเซลล์ ทำให้เซลล์เกิดความเสื่อมเรื่อย ๆ เรียกว่าเมื่อใดที่มีสิ่งแปลกปลอมมักจะเกิดการทำลายของเซลล์ ทำให้ร่างกายแก่ลง ป่วยเป็นโรค สำหรับวิธีตรวจสอบว่าร่างกายมีโลหะหนักอยู่ในร่างกายใช้วิธีตรวจปัสสาวะดูจึงจะรู้ว่าร่างกายมีค่าของโลหะพวกนี้เกินค่าปกติ จนต้องขจัดออกไป เรียกศัพท์ทางการแพทย์ว่า “คีเรชั่น” ที่ใช้มาตั้งแต่สงครามโลก คือการกำจัดสารตะกั่ว


“การขจัดออกคือวิธีการเหน็บก้น และการใช้ทางน้ำเกลือ ขึ้นอยู่กับปริมาณของโลหะหนักที่มีอยู่ในร่างกาย ถ้าเป็นเด็กใช้วิธีเหน็บก้น อีกวิธีขึ้นอยู่กับฐานะของคนไข้ เพราะถ้าให้ทางน้ำเกลือจะมีราคาแพง ขึ้นอยู่กับปัจจัยปริมาณและฐานะของผู้ใช้บริการ วัยและอายุ” แพทย์ระบุวิธีการนำโลหะหนักออกจากร่างกาย


ทั้งนี้สารหนูปนเปื้อนมาจากน้ำและดิน เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนเข้าไป เราไม่มีทางทราบเลยว่าอาหารที่เข้าปากปนเปื้อนโลหะหนักหรือไม่ โลหะหนักจะผ่านระบบย่อยแล้วสู่ลำไส้เล็ก เมื่อเข้าไปได้แล้วจะซึมออกแล้วเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นวิธีการปกป้องตัวเองจากโลหะหนักที่ดีสุดคือการเลือกกินอาหารที่หลากหลายไม่กินอาหารที่ซ้ำกันบ่อย ๆ เลือกแหล่งที่มาของอาหาร เป็นต้น


ตามหลักของกระทรวงสาธารณสุขคือการตรวจให้รู้ปริมาณของสารโลหะหนัก เพราะต้องการป้องกันโรค ซึ่งการป้องกันถือเป็นปรัชญาในทางการแพทย์ เพราะโรคบางโรคเสียเงินค่ารักษาจำนวนมาก สารหนูเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะส่งผลทำให้เส้นเลือดตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ  ค่ารักษาสำหรับโรคนี้นับแสนบาท การหันมาใส่ใจกับร่างกายก่อนที่โรคร้ายจะมาเยือนน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า อยู่ที่ว่าจะเลือกวิธีป้องกันชนิดไหน


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์