ขาแชต-แชร์ ฟังทางนี้ กูเกิล แนะวิธีป้องกันตัวจากภัยไฮเทค


ขาแชต-แชร์ ฟังทางนี้ กูเกิล แนะวิธีป้องกันตัวจากภัยไฮเทค

"ขาแชต-แชร์" ฟังทางนี้ "กูเกิล" แนะวิธีป้องกันตัวจากภัยไฮเทค

ต้องยอมรับว่ากลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว สำหรับการเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่จะเปลี่ยนจากโทรศัพท์มือถือแบบธรรมดามาเป็น "สมาร์ทโฟน" ด้วยแล้ว ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายเข้าไปใหญ่ เรียกว่า "แชต, แชร์, คอมเมนต์ และเซิร์ฟ" ได้ทุกที่ทุกเวลา

แต่ความสะดวกรวดเร็วมาพร้อมอันตรายที่คาดไม่ถึงด้วย มีพฤติกรรมมากมายของเราที่สุ่มเสี่ยงต่อการโดนโจรกรรมข้อมูล ยังไม่นับว่ามิจฉาชีพไฮเทคปัจจุบันพัฒนาฝีมือและกลวิธีไปไกลจนยากที่จะไล่ตามทัน

"เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา" หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรเเละมวลชนสัมพันธ์ อินโดนีเซีย อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง "กูเกิล เอเชีย-แปซิฟิก" กล่าวว่า การท่องโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติของผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะนอกจากทุกคนจะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นแล้ว ปัจจุบันสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลายขึ้น จากราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง และรูปแบบการใช้งานที่เข้าใจง่าย รวมเข้ากับพฤติกรรมคนไทยที่ชื่นชอบการติดต่อสื่อสาร ทำให้การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเติบโตอย่างมาก

นั่นเท่ากับว่ามีโอกาสที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะใช้เป็นช่องทางในการฉกฉวยหาประโยชน์การเรียนรู้เพื่อป้องกันตนเองจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรทำความเข้าใจ

ยักษ์เสิร์ชเอ็นจิ้นโลก "กูเกิล" หยิบยกข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อปี 2552 ที่ได้สำรวจวิธีการตั้งรหัสผ่าน (พาสเวิร์ด) 70 ล้านรูปแบบบนเว็บไซต์หนึ่ง พบว่า 54% นำตัวเลขมาประกอบในการตั้งรหัสผ่าน และมีเพียง 3.7% เท่านั้นที่นำอักขระพิเศษมาใส่ด้วย ซึ่งความยาวโดยเฉลี่ยของพาสเวิร์ดอยู่ที่ 7.4 ตัวอักษร 

ยิ่งเว็บไซต์นั้น ๆ มีการป้องกันตนเองที่หละหลวม โอกาสที่ผู้ใช้งานจะโดนโจรกรรมข้อมูลก็ง่ายขึ้นไปอีก ตัวอย่างพาสเวิร์ดที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เป็นชุดตัวเลข 12345, ชุดตัวอักษร ABCDE รวมถึงคำยอดนิยม เช่น ILOVEYOU หรือ PASSWORD ตั้งพาสเวิร์ดกันแบบนี้ แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมจึงโดนโจรกรรมข้อมูลได้ง่ายนัก

สิ่งที่ควรระวังตัวนอกเหนือไปจากนี้ คือ การเผยแพร่ข้อมูล หรือกดแชร์แบบสาธารณะ รวมถึงการกดเข้าไปที่ลิงก์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเสี่ยงต่อการโดนโจรกรรมข้อมูลทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์

"กูเกิล" แนะนำเคล็ดลับในการตั้งพาสเวิร์ดอย่างง่าย ๆ ไว้ด้วยว่า (ตั้งง่าย-จำง่าย แต่เดายากสำหรับแฮกเกอร์) ให้ใช้ตัวเลขมาประกอบในคำ เช่น หากตั้งพาสเวิร์ดตามชื่อทีมฟุตบอล LIVERPOOL เมื่อนำตัวเลขมาประกอบจะได้เป็น L1V3RP00L (เลข 1 แทนตัว I เลข 3 แทนตัว E และเลขศูนย์แทนตัว O) แค่นี้แฮกเกอร์ก็มึน แต่เราเองจำได้ง่ายนิดเดียว

แต่การใช้รหัสผ่านยาก ๆ ช่วยป้องกันบัญชีและข้อมูลบนเว็บได้ แต่ถ้าลืมรหัสผ่านก็ไม่ต่างอะไรกับการลืมกุญแจบ้าน หากรหัสผ่านยังอาจโดนขโมย บางครั้งคนร้ายจะเปลี่ยนรหัสผ่านทำให้เราไม่สามารถกลับเข้าไปใช้งานในบัญชีตนเองได้ 

กรณีในบัญชีกูเกิล ถ้าลืมรหัสผ่าน และกำลังหาทางกลับเข้าไปใช้งานข้อมูลต่าง ๆ ในบัญชี ทั้ง Gmail, Google แผนที่, Google+ และ YouTube เพื่อความสะดวกในการใช้งาน มีขั้นตอนง่าย ๆ ที่จะช่วยระบุตัวตนของเราได้ โดยที่ไม่มีใครเจาะเข้าถึงบัญชีได้หากลืม หรือไม่ทราบรหัสผ่านมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน

1.เพิ่มตัวเลือกการกู้คืนอีเมล์ ด้วยการลงทะเบียนอีเมล์อื่น โดยเข้าไปที่การตั้งค่าบัญชี ก็จะช่วยให้กูเกิลระบุตัวได้ในอีกทาง หากลืมรหัสผ่านจะส่งลิงก์ไปยังอีเมล์นี้เพื่อกู้คืนรหัสผ่านให้ ทั้งใช้อีเมล์นี้แจ้งให้ทราบ กรณีที่ตรวจพบบางอย่างที่น่าสงสัยที่เกิดขึ้นกับบัญชีของเราด้วย

2.เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ไปยังบัญชีกูเกิลเพราะโทรศัพท์มือถือคือวิธีที่ดีที่สุดในการกู้คืนการเข้าถึงบัญชีกรณีลืมรหัสผ่าน เหมือนทางลัดสำหรับการกู้คืนบัญชี โดยระบบจะส่งรหัสไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ ก็จะกลับเข้าสู่การใช้งานได้ทันที 

และ 3.หมั่นตรวจสอบและเก็บข้อมูลการกู้คืนอย่างสม่ำเสมอ เช่น หากเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ หลังจากตั้งค่าตัวเลือกการกู้คืน ควรใช้เวลาไม่กี่นาทีอัพเดตการตั้งค่าตัวเลือกการกู้คืน 

การหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการโดนหลอกก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเพิกเฉย เพราะมิจฉาชีพมักจับจุดอ่อนของคนทั่วไปด้วยการเล่นกับความอยากมีอยากได้ เช่น หลอกลวงให้กรอกข้อมูลหรือกดลิงก์เพื่อลุ้นรางวัลของฟรีของแจกต่าง ๆ รวมไปถึงการส่งอีเมล์สอบถามข้อมูลการเงินโดยใช้ชื่อคล้ายคลึงกับอีเมล์ของธนาคาร เช่น NO-REPLY@BANKF1RST.COM ซึ่งจริง ๆ ชื่อที่อยู่อีเมล์ต้องเป็น @BANKFIRST.COM เป็นต้น

จำไว้ว่า อย่าตอบกลับอีเมล์ โปรแกรมสนทนา หรือหน้าเว็บที่ขอข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงินที่น่าสงสัย 

"ผู้ใช้งานออนไลน์ต้องสังเกตข้อมูลต่าง ๆ ที่โชว์บนหน้าเว็บไซต์หรืออีเมล์ว่ามีลักษณะหลอกลวงหรือไม่ด้วย เพราะถ้าพลาดไปโอกาสที่จะสูญเสียข้อมูลสำคัญก็มีสูง โดยเว็บไซต์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ส่วนใหญ่เป็นเว็บเกี่ยวกับการพนัน นอกจากนั้นการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมาใช้บนสมาร์ทดีไวซ์ก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะบางแอปมีมัลแวร์แฝงอยู่"
 เอมี่ย้ำ

สาวกสมาร์ทโฟนที่ต้องการรักษาความปลอดภัยให้ข้อมูลที่อยู่ภายในเครื่อง สิ่งที่ไม่ควรลืมอันดับแรกคือ การล็อกหน้าจอ ไม่ว่าจะใช้ผ่านโทรศัพท์หรือแท็บเลต ซึ่งการตั้งค่าการล็อกหน้าจอทำได้ง่ายมาก และจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่ลืมโทรศัพท์ทิ้งไว้บนรถ หรือกังวลว่าจะมีใครหยิบไปหรือเลื่อนเปิดหน้าจอ

การป้องกันโทรศัพท์จากแอปพลิเคชั่นที่น่าสงสัยก็ทำได้ด้วยระบบสแกนอัตโนมัติที่มีอยู่ใน "กูเกิลเพลย์" เพื่อบล็อกหรือลบแอปพลิเคชั่นที่เป็นอันตรายกับโทรศัพท์ ทุกครั้งที่มีติดตั้งแอปจากที่อื่น เช่น เว็บไซต์หรือแอปสโตร์เจ้าอื่น ๆ "กูเกิล" จะส่งข้อความเตือนเพื่อถามว่าต้องการให้สแกนไฟล์ให้แน่ใจว่าปลอดภัยหรือไม่ แค่กด "ตกลง" เพื่ออนุญาตก็จบ

สุดท้ายสำหรับสาวกโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชอบแชร์ ควรตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการปรับแต่งวิธีการที่ต้องการใช้เพื่อแบ่งปันเนื้อหาการโพสต์ข้อความต่าง ๆ ก็ด้วย

"ควรตั้งสติก่อนโพสต์ข้อความลงบนโลกออนไลน์ โดยควรไตร่ตรองให้ดีก่อนอย่างน้อย 2 รอบ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องตลก เรื่องที่เป็นอันตรายหรือไม่เหมาะสม"


ทำได้ครบทั้งหมดก็ห่างจากคำว่า "เสี่ยง" ได้เยอะแล้ว


ขอบคุณ :: prachachat.net



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์