คนฉลาด คนโง่ คนเจ้าปัญญา อยากเป็นคน....

คนฉลาด คนโง่ คนเจ้าปัญญา อยากเป็นคน....


คุณอาจเคยโกรธจนหูอื้อ หน้าแดง หายใจไม่ออก...อาจเคยท้อจนหมดสภาพ หมดเรี่ยวหมดแรง นอนซมเหมือนแมวป่วย รอยยิ้มเหือด... เสียงหัวเราะหาย... ความหวังพังทลาย และความสุขก็ดับสูญ อะไรทำให้คนเราทุกข์ได้ขนาดนั้นกันหนอ?

ทุกข์...เพราะมัวแต่ขลุกกับความไม่พอ

คนซื้อหวยก็อยากถูกหวย พอไม่ถูกก็ทุกข์ เพราะคิดว่าต้องถูกเท่านั้น ฉันจึงจะมีความสุข

คนมีรัก ก็อยากสมหวังในรัก ถึงเวลาอกหักก็ร้องไห้ฟูมฟาย ปิ่มว่าจะขาดใจ อยู่ต่อไปไม่ค่อยไหวเท่าที่ควร เฮ้อ!

คนจนก็อยากรวย คนรวยก็อยากรวยยิ่งขึ้น จนไม่รู้ว่าเท่าไรจึงจะหยุดและพอใจ

มีเสื้อใหม่ก็อยากมีใหม่กว่า รองเท้าเพิ่งจะซื้อมาก็มีรุ่นใหม่ๆ ออกมาอีกแล้ว
เราทุกข์เพราะเราขลุกกับความรู้สึก "ไม่พอ" เราเห็นแต่สิ่งที่เรายังไม่มี แต่ไม่เห็นหรือรู้สึกกับสิ่งที่เรามี

ลูกคนอื่นช่างแสนดี สามีคนอื่นช่างแสนประเสริฐ นอกจากตัวเองที่ยกไว้ เราไม่เคยพอใจใครๆ ใกล้ตัว และสมบัติส่วนตัวที่เรามีอยู่เลย

ไม่สุขกับสิ่งที่มีอยู่ หวัง คอย และรอดูแต่สิ่งที่ไม่มี ไม่มา แล้วเมื่อไหร่กันล่ะ ถึงจะเจอความสุข

สมการความทุกข์

คุณรู้ไหม ความทุกข์เป็นสิ่งที่คาดคำนวณได้ ว่าทำไมบางคนถึงทุกข์มาก ขณะที่บางคนทุกข์น้อยกว่า แต่บางคนก็แทบไม่ต้องเป็นทุกร้อนหรือกังวลกับอะไรเลย คุณต้องรู้จักสมการความทุกข์เสียก่อน แล้วตั้งค่าตัวแปรต่างๆ ในสมการเสียใหม่ เพื่อให้ชีวิตจิตใจเบาสบายกว่าเดิม

สมการความทุกข์ที่ว่านั้นคือ ความทุกข์ = ความคาดหวัง ความสามารถ
คนที่มีความคาดหวังมาก โดยไม่ได้ประเมินความสามารถของตนเอง ว่าจะทำให้ความคาดหวังนั้นเป็นจริงเป็นจังได้มากน้อยแค่ไหน ก็มักจะต้องทุกข์ใจเพราะคาดหวังเกินจริง

เพื่อให้ทุกข์น้อยลง คุณมีทางเลือก 2 ทาง

1. ลดความคาดหวังลง

2. เพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง

ลดความคาดหวังลงนั้น มีทั้งคุณและโทษ อันที่จริงความคาดหวังมีฝั่งที่ดีของมันตรงที่ ช่วยกระตุ้นให้เราพยายามที่จะทำอะไรดีๆ เพิ่มขึ้น นำความเปลี่ยนแปลงดีๆ มาสู่ชีวิตได้ ความทะเยอทะยานเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้เหมือนยาบำรุง เหมือนยากระตุ้น ทำให้คึกคัก กระชุ่มกระช่วย เป็นแรงขับดันชีวิตให้สลับสับเปลี่ยน แทนที่จะแน่นิ่ง จำเจ แต่หากมากไป มากจนทำตามความทะเยอทะยานหรือความคาดหวังที่ตั้งไว้ไม่ไหว ก็ตกที่นั่งลำบาก

เหมือนคนแบกของที่หนักเกินแรง นอกจากจะต้องเหนื่อยมากเกินไปแล้ว อาจต้องเจอกับอุบัติเหตุ จนร่างกายสิ้นสภาพไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นคำนวณให้ดี ว่าความคาดหวังแค่ไหน ที่ช่วยให้ "มีแรง" อย่าให้มากเกนไป เพราะจะทำให้ "หมดแรง"

แรงที่ว่าก็คือ "ขีดความสามารถ" ที่มีนั่นเอง

คนที่ขีดความสามารถต่ำ แต่หวังสูง ก็ต้องตะเกียกตะกายมากหน่อย ถ้ามีแรงเยอะ ไม่ท้อ ไม่ถอย ก็ไม่ค่อยเป็นอะไร แต่บางคนคาดหวังเยอะ แต่แรงน้อย ทำนิดหนึ่งก็ท้อ หน่อยหนึ่งก็ถอย สุดท้ายก็ต้องมานั่งอมทุกข์ ผิดหวัง เสียใจ ไม่อยากจะทำอะไรต่ออีก อย่างนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับชีวิตเลย

คำนวณทุกข์แล้ว ประเมินตัวเองด้วย

คน...แบ่งอย่างหยาบๆ ได้ 2 ประเภท คือคนทุกข์ กับคนสุข แต่แบ่งให้ละเอียดขึ้นอีกนิด จะได้ 3 ประเภท คือคนโง่ คนฉลาด และคนเจ้าปัญญา

คนทั้ง 3 ประเภทนี้จะคิด เห็น และทำ ในสิ่งที่ต่างกันไป จึงได้รับผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

คนโง่ ชอบเข้าสู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ นำชีวิตไปสู่ความเสี่ยง ความสำเร็จจึงแขวนอยู่บนความประมาท

คนฉลาด ชอบเข้าสู่เฉพาะสถานการณ์ที่ควบคุมได้ จึงมีสถานการณ์เพียงน้อยนิดที่เหมาะสม ชีวิตมีความเสี่ยงต่ำ แต่สำเร็จเพียงเล็กน้อย

คนเจ้าปัญญา บริหารความเสี่ยง ควบคุม ปรับจุดหมุน กระจาย และสลายความเสี่ยง บริโภคคุณค่าแล้วคายกากภัยทิ้ง จึงสำเร็จได้ง่ายแม้ในความยากยิ่ง

คนโง่ รอให้ความสำเร็จมาหา อาจต้องรอหลายชาติกว่าจะพบสักครั้ง

คนฉลาด เดินไปหาความสำเร็จ จึงมีโอกาสพบบ้าง แม้ต้องเหนื่อยยาก

คนเจ้าปัญญา ปักหลักสร้างความสำเร็จ หากสร้างเป็นย่อมสำเร็จแน่ และเหนื่อยน้อยกว่า
คนโง่ ปล่อยใจตนเอง จึงไหลไปตามสิ่งเร้า กลายเป็นทาสของสถานการณ์

คนฉลาด ขังใจตนเอง ไม่ไหลไปตามสิ่งเร้า จึงเป็นอิสระจากสถานการณ์ แต่เป็นทาสตัวเอง

คนเจ้าปัญญา ชำระใจตนเอง บริสุทธิ์กว่าสิ่งเร้าและตนผู้ถูกเร้า จึงเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง

คนโง่ ชอบทำชีวิตให้ยุ่งยาก ด้วยการประกอบตัวแปรที่ไม่จำเป็นมากมาย กว่าจะสำเร็จได้ แต่ละอย่างจึงแสนเข็ญ

คนฉลาด ชอบทำชีวิตให้เรียบง่าย ด้วยการผสานเฉพาะตัวแปรที่สำคัญและจำเป็น จึงสำเร็จง่าย สบายๆ

คนเจ้าปัญญา ชอบทำชีวิตให้อยู่เหนือเงื่อนไข ด้วยการสลายอิทธิพลของตัวแปร แล้วใช้อำนาจในการสร้างความสำเร็จโดยตรง ทุกอย่างจึงเป็นไปดังใจหมาย

คนโง่ ดิ้นรนเพื่อการดำรงอยู่ จึงอยู่ต่อไปแม้โง่งมและบรมทุกข์

คนฉลาด ดิ้นรนเพื่อการพัฒนา จึงมีชีวิตเจริญก้าวหน้าโดยลำดับ

คนเจ้าปัญญา ดิ้นรนเพื่อความเป็นอิสระ บริสุทธิ์ จึงหลุดพ้นโดยลำดับ

คนโง่ งุ่มง่ามแสวงหาคุณค่าภายนอกตน ยิ่งพบมากก็ยิ่งหเนว่าตนด้อยค่า จึงยอมตนเป็นทาสสิ่งต่างๆ ภายนอก

คนฉลาด งุ่นง่านแสวงหาคุณค่าในตน ยิ่งพบมากก็ยิ่งเห็นว่าตนล้ำค่า จึงหลงตน กลายเป็นทาสตัวเอง

คนเจ้าปัญญา ย่อมแสวงหาคุณค่าสากล ยิ่งพบมากก็ยิ่งเห็นความธรรมดาในทุกสิ่ง จึงมี เป็น และบริโภคทุกสิ่งเหมือนไม่มี ไม่เป็น

คนโง่ เพราะเลี้ยงความประมาท ด้วยคิดว่า "ช่างมัน" จึงพลาดซ้ำซากอยู่เรื่อย

คนฉลาด บ่มเพาะความรอบคอบด้วยคติที่ว่า "คิดให้ดีก่อนทำ" จึงพลาดน้อย แต่ก็ชักช้าอย่างยิ่ง และบ่อยครั้งคิดมากจนไม่กล้าทำอะไรเลย

คนเจ้าปัญญา ปลูกฝังสติ "รู้ รู้ชัด" ในจิตสำนึก แล้วรู้ลึกความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ จึงสำเร็จอย่างพอดีกับภาวะตามเวลาอันเหมาะสม

คนโง่ เห็นทุกข์เป็นสุข จึงรักษาทุกข์ไว้ ด้วยสำคัญว่าเป็นสุขหรือน่าจะนำสุขมาให้ ยิ่งรักษาก็ยิ่งทุกข์ และระทมร่ำไห้

คนฉลาด เห็นทุกข์เป็นทุกข์ แล้วต่อสู้อยู่ในท่ามกลางความทุกข์ ยิ่งพยายามก็ยิ่งพบความไม่น่าพึงพอใจ และท้อแท้เรื่อยไป

คนเจ้าปัญญา เห็นทุกข์เป็นของไร้สาระ จึงโยนทิ้งไปเสีย จึงเป็นอิสระ โปร่ง เบาสบายยิ่งนัก

อยากจะเป็นคนชนิดไหน ก็ตัดสินใจเลือกกันเอาเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไชย ณ พล ผู้เขียนหนังสือ คนโง่ คนฉลาด คนเจ้าปัญญา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์