ความตกลงแก้โลกร้อน

ความตกลงแก้โลกร้อน


เรื่องโลกร้อนนี้เห็นกันชัดขึ้น แต่การให้ความรู้แก่ชาวบ้านทั่วไปยังอ่อนมาก ทั้งที่เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

โลกเราร้อนขึ้น สภาพแวดล้อมแปรปรวนไปหมดด้วยพฤติกรรมการกิน การอยู่ของคนถึง 6,000 ล้านคน ฉะนั้น หากจะแก้ไขปัญหา สิ่งแรกๆ ที่ต้องทำคือ ทำความเข้าใจกับทุกคนว่าเขาทำให้ปัญหาเลวร้ายลง หรือดีขึ้นอย่างไร

ไม่ใช่รู้หรือเข้าใจกันเฉพาะนักวิชาการ หรือทำกันอยู่แค่ในแวดวงแคบๆ


ผมคิดว่า เรื่องแก้ปัญหาโลกร้อนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านมากเสียยิ่งกว่าการรักษาประชาธิปไตย หรือการเคารพสิทธิมนุษยชนเสียอีก

เพราะวันหนึ่งที่สภาพการณ์เลวร้ายไปสุดๆ เมื่อนั้น สิทธิมนุษยชน หรือประชาธิปไตยก็อาจถูกลิดรอนเพื่อการอยู่รอดของสังคมมนุษย์ ความอยู่รอดของคนเรานั้นมีค่าสูงกว่าสิ่งอื่นเสมอ


พิธีสารเกียวโตเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เด่นชัดและมีความหมายที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความตกลงนี้มุ่งลดปัญหาโลกร้อน ด้วยการวางเป้าหมายให้ชาติอุตสาหกรรม 37 ประเทศ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง

โดยใช้ปริมาณก๊าซในปี 1990 เป็นเกณฑ์ และกำหนดไว้ว่าภายในปี 2012 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะต้องน้อยลงกว่าปี 1990 ให้ได้ร้อยละ 5%

ความตกลงนี้มีประเทศต่างๆ ลงนามมากมาย แต่ประเทศที่ให้สัตยาบัน (คือยอมดำเนินการให้ความตกลงที่ตนเองลงนามมีผลบังคับใช้จริง) กลับมีน้อยมาก ที่ชัดๆ ก็คือสหรัฐ ที่ไม่ยอมเพราะเห็นว่าจีนและอินเดียก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากทีเดียว แต่กลับไม่มีพันธะที่ต้องทำตามความตกลงฉบับนี้

เป้าหมายของพิธีสารเกียวโต จึงยังเป็นสิ่งที่เลิศหรูอยู่ในแผ่นกระดาษ

ความตกลงนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1997 และมีอายุ 15 ปี คือจะสิ้นสุดลงในปี 2012 หากมองย้อนไปเมื่อปี 1997 ภาวะโลกร้อนยังไม่เป็นที่ตระหนักกันดีนัก โดยเฉพาะสหรัฐที่เคยย้ำมาบ่อยๆ ว่าภาวะโลกร้อนที่กล่าวถึงกันในช่วงนั้นเป็นเพียงการวาดภาพเท่านั้นเอง คือยังไม่ใช่ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์

แต่มาวันนี้ ไม่มีใครหาญกล้าที่จะพูดแบบนั้นอีกแล้ว เพราะภาวะโลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติอันดับต้นๆ เสียแล้ว และมันคือความเป็นจริงที่เราสัมผัสได้ในวันนี้ ไม่ใช่ภัยในอนาคตที่ห่างไกลอีกต่อไป

ภัยแล้งในแอฟริกา ยูเครน รัสเซีย ออสเตรเลีย หรือวาตภัยในพม่า เวียดนาม ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายเอาๆ ในอัตราที่ใจหาย พื้นที่เล่นสกีของฝรั่งที่ลดน้อยลงไปเรื่อย ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือของจริง ที่เห็นได้เป็นระยะๆ ทั้งปี

ดังนั้น เมื่อพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2012 นี้ สหประชาชาติจึงเริ่มเตรียมการรองรับแล้ว โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีการประชุมกันที่เยอรมนี คนกว่า 2,000 คน จาก 160 กว่าประเทศ ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม เพื่อสร้างกรอบการทำความตกลงฉบับใหม่แทนฉบับที่กำลังจะสิ้นอายุในอีก 4 ปี ข้างหน้า


โดยการวางกรอบไว้ว่า

การเจรจายกร่างความตกลงจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปลายปี 2009 หลังจากนั้น ก็เป็นช่วงเวลาที่แต่ละประเทศจะต้องให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้จริงๆ ไม่เป็นหมัน ไม่แท้งเหมือนพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการดึงประเทศอุตสาหกรรม ประเทศร่ำรวยให้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหาเงินมาให้ได้มากพอเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนทั้งหลายนั้นพร้อมร่วมมืออยู่แล้ว

แต่เรื่องเป้าหมายที่โยงกับผลประโยชน์ในรูปตัวเงินนั้นเป็นของยากยิ่ง เพราะมนุษย์จำนวนมากนับถือเงินเป็นพระเจ้า

แต่คงเพราะลืมไปว่า เงินตรานั้นคือของสมมติ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์