ความน่ากลัวของ ‘ไซเบอร์ บูลลี่’ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม


ความน่ากลัวของ ‘ไซเบอร์ บูลลี่’ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของนักแสดงและนักร้องสาวชาวเกาหลีใต้ ชเว จินรี หรือ ซอลลี่ อดีตสมาชิกวง f(X) ที่ถูกพบว่าเสียชีวิตที่ชั้น 2 ของบ้าน ท่ามกลางความเสียใจของแฟนคลับทั่วโลกที่พากันช็อกกับข่าวที่เกิดขึ้น พร้อมหันมาพูดกันถึงประเด็นโรคซึมเศร้าและไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) ที่สาวซอลลี่ต้องเจอมานาน จนคาดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เพราะตลอดระยะเวลาที่อยู่ในวงการบันเทิง เธอต้องเจอกับคำวิจารณ์อันรุนแรงของชาวเน็ตเกาหลีเสมอ จนถึงกับทำให้ต้องพักงานในช่วงปี 2014 มาแล้ว นอกจากนี้ ในช่วงหลังๆ เธอยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงพฤติกรรมส่วนตัวที่ถ่ายภาพลงสังคมโซเชียล บางคนถึงกับมองว่าเธออาจจะมีอาการป่วยทางจิต

เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ซึ่งเป็นเพจของ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จึงหยิบยกตัวอย่างของซอลลี่ มาให้ความรู้ในประเด็นไซเบอร์บูลลี่ มาอธิบาย ว่า ที่ผ่านมาเราอาจรู้จักการกลั่นแกล้งทั่วๆไป ที่เกิดเฉพาะสถานที่ เช่น การรังแกกันในโรงเรียน ห้องเรียน แต่สำหรับไซเบอร์บูลลี่ มันจะมีความพิเศษที่แตกต่างไป เพราะผู้กระทำการกลั่นแกล้งคนอื่นบนโลกไซเบอร์ 'ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน' เหยื่อมักไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำการกลั่นแกล้ง หรือสาเหตุเพราะอะไรที่ถูกกลั่นแกล้ง เมื่อไม่ต้องเปิดเผยตัวตนจึงทำให้การกลั่นแกล้งอาจรุนแรงกว่าการกลั่นแกล้งที่เปิดเผยตัวตนตามปกติ

นอกจากนี้ ไซเบอร์บูลลี่ ยังสามารถ 'เกิดขึ้นได้ทุกเวลา' 'ทุกสถานที่' ที่เหยื่อเปิดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ แม้กระทั่งในห้องนอนเวลาก่อนนอน ที่น่าจะเป็นเวลาที่ปลอดภัยและสงบสุข แต่เมื่อเปิดข้อความบูลลี่เหล่านี้อ่านบางคนก็อาจถึงขั้นเครียดนอนไม่หลับ ดังนั้นไซเบอร์บูลลี่จึงมีลักษณะที่คุกคามมากกว่าการกลั่นแกล้งดั้งเดิม นอกจากนั้นมันสามารถถูก 'เผยแพร่ไปได้ไกลในเวลาอันรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต และยังไม่จำกัดสถานที่ ทำให้ผลกระทบที่ตามมารุนแรง เนื่องจากทำให้เหยื่อเกิดความอับอาย



รูปแบบ ไซเบอร์บูลลี่ ที่พบบ่อย ได้แก่ การตั้งฉายา การดูถูกเหยียดหยาม การเผยแพร่ข่าวลือหรือนินทาว่าร้าย และการส่งต่อรูปภาพที่ไม่เหมาะสม

พญ. เบญจพร แนะนำให้ ผู้ใหญ่และคนรอบข้างควรมีความเข้าใจอาการแสดงของคนที่ถูก ไซเบอร์บูลลี่ เพราะเด็กมักจะไม่ได้เล่าเรื่องราวนี้ตั้งแต่แรกให้ผู้ปกครองฟัง อาการมีได้หลากหลาย เช่น หลีกเลี่ยงที่จะไปโรงเรียน หรือมีปัญหาการเรียน มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมากขึ้น มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับห่างเหินหรือหลีกเลี่ยงตัวเองจากกลุ่มเพื่อน หงุดหงิด โกรธ โมโห ง่ายกว่าปกติ และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ทำร้ายตัวเอง โดยที่ผ่านมามีเด็กและวัยรุ่นมากมายที่ฆ่าตัวตายและถูกไซเบอร์บูลลี่

จากการสำรวจเด็กในกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่ามีเด็กราวๆ 48% ที่อยู่ในวงจร ไซเบอร์บูลลี่ โดยอาจเป็นทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้ที่พบเห็น เด็กส่วนใหญ่อยู่ในชั้นมัธยมต้น เราจึงควรระวังการส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงไปในโลกออนไลน์ มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่ ไซเบอร์บูลลี่ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจก็ได้ และระมัดระวังในการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะคำพูดและสิ่งที่เราโพสต์ไป เป็นความคิดชั่วแล่น แต่มันอาจจะทำร้ายจิตใจใครสักคนที่มาอ่านก็เป็นไปได้



บูลลี่ คือ พฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้ทุกที่ แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโรงเรียน สหประชาชาติให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้เด็กๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 176 ล้านคน เป็นพยานต่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและในเพื่อนฝูง และ 30% ของวัยหนุ่มสาวจำนวน 39 ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งเพื่อน

จากการสำรวจเหยื่อ ข้อมูลจาก PISA โดย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OCED ) ในปี 2015 เผยผลการสุ่มสอบถามเด็กวัย 15 ปี จำนวน 540,000 คน ใน 72 ประเทศ พบ 11% ถูกนักเรียนคนอื่นกลั่นแกล้งอย่างน้อย 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่อีก 4% ถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกาย จากการศึกษายังพบว่า กลุ่มเด็กที่ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนมักมุ่งเป้าไปที่เด็กที่ย้ายเข้ามาใหม่ หรือเด็กที่มีข้อบกพร่อง เช่น ผลการเรียนไม่ดี เล่นกีฬาไม่เก่ง 

ส่วนเด็กที่ได้รับการดูแลและสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอย่างดีมีแนวโน้มที่จะถูกบูลลี่น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับความใส่ใจมากพอ และในทางกลับกันส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ชอบกลั่นแกล้งรังแกก็มักมีพื้นเพครอบครัวที่ไม่ดีด้วยเช่นกัน

ส่วนสาเหตุ ที่กระตุ้นให้บางคนลุกขึ้นมาบูลลี่ เกิดจาก 5 สาเหตุ คือ 1.เคยถูกแกล้งมาก่อน 2.แท้จริงแล้วโดดเดี่ยว 3.ความพึงพอใจในตนเองต่ำ 4.อีโก้สูง 5.เพราะแตกต่างจากคนอื่น เช่น เชื้อชาติ, เพศ, สีผิว หรือแม้แต่ความพิการ

นักวิชาการมองว่า พฤติกรรมชอบกลั่นแกล้งรังแกนั้นถูกสั่งสมพัฒนาจากสถานการณ์ยากลำบากที่เด็กเผชิญมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ไม่ใส่ใจ หรือการขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เปลือกนอกที่หุ้มไปด้วยความก้าวร้าวนี้ทำให้ยากที่จะเจาะเข้าไปถึงตัวตนอันเปราะบางและอ่อนแอข้างใน ทว่าหนึ่งในวิธีสำคัญในการแก้ไข ไม่ใช่การลงโทษ แต่คือ "การพูดคุย" โดยจาการทดลอง พบว่า ความเมตตาและความอ่อนโยนสามารถจัดการกับผู้ที่ชอบกลั่นแกล้งได้



เครดิตแหล่งข้อมูล : tnn 16





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์