ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด

ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด


หากใครมีโอกาสได้มาเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ย่อมจะพลาดไม่ได้ที่จะมาจับจ่ายใช้สอย หาซื้อของฝาก ติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านกันที่ตลาดสามชุก(ตลาดร้อยปี) เพราะตลาดสามชุกนับได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมอีกที่หนึ่งของหวัดสุพรรณบุรี ใครมาที่สุพรรณบุรีแล้วไม่ได้มาเที่ยวที่ตลาดสามชุกก็ถือว่ามาไม่ถึง เพราะนอกจากจะได้ของฝากกลับบ้านแล้ว ยังได้มาชื่นชมบรรยากาศของตลาดเก่าในสมัยโบราณอีกด้วย

ก้าวแรกที่หมูหินเดินเข้ามาที่ตลาดสามชุก ก็รู้สึกว่าเหมือนย้อนเวลากลับมาในอดีต เพราะตลาดสามชุกยังมีบรรยากาศเก่าๆ พ่อค้า แม่ค้าต่างนำสินค้ามาขายกันที่หน้าบ้านของตนเอง และที่สำคัญสภาพบ้านเรือนก็ยังคงสภาพเป็นห้องแถวสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยสังกะสี และยังมีวิถีชีวิตที่ผสมผสานกันระหว่างคนไทยกับคนจีน จนทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนขี้น


ตลาดสามชุก เป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญในอดีต ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี แต่เมื่อถนนคือ เส้นทางจราจรทางบกที่เข้ามาแทนที่การเดินทางทางน้ำ ทำให้คนหันหลังให้กับแม่น้ำท่าจีน ความสำคัญของตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าริมน้ำเริ่มลดลง บรรยากาศการค้าขายในตลาดสามชุกก็เริ่มซบเซา และเมื่อต้องแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และตลาดนัดภายนอก ทำให้ร้านค้าภายในตลาดต้องหาทางปรับตัว และเมื่อราชพัสดุ เจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านเช่าที่ดินมายาวนาน ดำริจะรื้ออาคารตลาดเก่า สร้างตลาดใหม่ จึงทำให้ชาวบ้านพ่อค้าที่อยู่ในตลาดสามชุก ครูอาจารย์ที่เห็นคุณค่าตลาดเก่า รวมตัวเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ระดมความคิด หาทางอนุรักษ์ตลาดและที่อยู่ของตนไว้ และหาทางฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ร้านค้าในตลาดมีประมาณ 300 ร้าน เจ้าของร้าน 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวตลาดสามชุก อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นชุมชนรอบข้าง ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนถิ่นอื่นเข้ามาร่วมทำมาหากิน

เดินเข้ามาในตลาดเรื่อยๆ บรรยากาศก็จะเป็นแบบตลาดเก่า มีข้าวของเก่าๆ แต่ยังคงสภาพดี ที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว อย่างเช่น ของเล่นไขลาน โมเดลเครื่องบิน ตุ๊กตาไม้ไผ่เป็นรูปต่างๆ มาวางขายและให้ได้ชมกัน แต่หลักๆก็คือ ของกิน เพราะของกินเยอะมาก เดินเข้ามาในตลาดเนี่ยมีแต่ของน่ากิน น่าทานทั้งนั้น เห็นทีน้ำหนักจะเพิ่มก็คราวนี้ล่ะ ที่แรกที่หมูหินต้องแวะชิม แวะถามก็เพราะสายตามันไปสะดุดกับป้ายที่เค้าเขียนว่า “ลูกลานลอยแก้ว” ด้วยความงงและสงสัยก็เลยเข้าไปถามว่ามันคืออะไร ได้ความว่าเป็น ลูกของต้นลาน (ต้นไม้ที่ใช้ใบมาทำพัด เรียกว่าใบลาน) 40-50 ปีจะออกลูกครั้งนึง พอออกลูกมาแล้วต้นก็จะตาย โอ้โห! หากินยากแบบนี้มีหรือจะพลาด ต้องลองชิม รสชาติก็จะคล้ายๆกับลูกตาล แต่จะนุ่มแล้วก็ร่วนกว่า อร่อยทีเดียวครับ

ถัดเข้ามาข้างในอีกหน่อยก็จะมีร้านกาแฟท่ารือส่ง “ศิวะนันต์พานิช” ที่บรรยากาศเทียบได้กับสภากาแฟในสมัยก่อน เพราะยังมีคนมานั่งจิบกาแฟและพูดคุยกัน ร้านนี้ถือว่าเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย ของชาวตลาดก็ว่าได้ ร้านกาแฟท่าเรือส่งนี้เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2508 ขายตั้งแต่ราคาสามสตางค์ ห้าสตางค์ ตอนนี้ราคา 7-10 บาทแล้ว เปิดร้านกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น วันหนึ่งๆ เปลี่ยนคนชงสามกะผลัดกันดูแลร้าน เรียกได้ว่าเป็นร้านกาแฟคู่ตลาดสามชุกจริงๆ


ข้างๆร้านกาแฟก็จะมีร้านขายขนมไทย เช่น บัวลอยไข่หวาน กล้วยบวชชี ฝักทองแกงบวช เต้าส่วน สาคูเปียกข้าวโพด และอื่นๆอีกหลายอย่าง แต่ละอย่างน่ากินทั้งนั้น แอบถามเจ้าของร้านว่า แต่ละอย่างเนี่ยวันนึงขายหมดไม๊ เพราะที่เห็นน่ะเยอะมาก ได้คำตอบว่าขายไม่พอ วันนึงต้องเติมใหม่กัน 2-3 เที่ยวเชียวล่ะ (ขายดีอย่างนี้น่าจะเปลี่ยนอาชีพมาขายขนมดีไม๊เนี่ย..หุหุ) รสชาติของขนมก็อร่อยดี ไม่หวานมากจนเกินไป หมูหินคอนเฟิร์มครับ

ส่วนตรงมุมข้างหน้าร้านกาแฟก็จะขายเป็ดย่างชื่อร้านว่า “เป็นย่างจ่าเฉิด” ค้าร่ำลือกันว่าเป็ดย่างเจ้านี้อร่อยมาก มีทั้งเป็ดย่าง เป็ดพะโล้ เครื่องใแต่หมูหินไม่ได้ลองชิม เพราะใจคิดว่ากะจะเดินเล่นเรื่อยๆ เก็บภาพบรรยากาศมาฝากเพื่อนๆ ครั้นจะซื้อกลับบ้านก็ขี้เกียจแบก เลยเอาเป็นว่าแค่เก็บภาพมาให้ดูแล้วกันนะ


เดินเลี้ยวซ้ายเข้ามาหน่อยก็จะเป็นร้านขาย “ทองม้วนโบราณร้อยปี” หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่าขนมเบื้องโบราณก็ได้ ป้าแป๊ด เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า ขนมทองม้วนโบราณต้นตำรับตลาดสามชุกนั้นมีสูตรไม่เหมือนใคร เพราะความพิเศษอยู่ที่ตัวแป้งและไส้ จะไม่ใส่แป้งมันเหมือนทองม้วนทั่วไป ไส้ก็จะเป็นใส้งาดำคั่วกับมะพร้าว วิธีทำก็จะไม่ใช้แม่พิมพ์แต่จะใช้เตาขนมเบื้อง หลายๆคนก็เลยอาจจะเรียกว่าขนมเบื้องโบราณ รสชาติก็อร่อยทีเดียว ตัวแป้งก็ กรอบ หอม เข้ากันได้ดีกับตัวไส้ที่มีรส หวาน มัน เค็ม ราคาขายก็อยู่ที่ 3 ถุง 100 ครับ วันสาร์-อาทิตย์ ทำขายแทบไม่ทันเชียวล่ะ


ติดๆกันก็จะเป็นร้านขายหมี่กรอบ ที่ประทับใจไม่ใช่อะไรหรอกครับ แต่เป็น “เจ้าหมีกรอบ” ที่ทำมาจากหมี่กรอบนำมาอัดเป็นรูปหมี เห็นเจ้าของร้านบอกว่าจะทำหมีขึ้นมาตัวนึงเนี่ย ใช้หมีกรอบทั้งกะละมังเลย ถ้าใครจะสั่งทำหมีกรอบ ก็ต้องสั่งล่วงหน้า ลองถามราคาเล่นๆ เจ้าหมีตัวนี้ก็ 1500 บาท ใครสนใจจะเอาไปเป็นของขวัญวันเกิดก็สั่งได้ครับ


อีกแห่งหนึ่งในตลาดสามชุกที่น่าแวะชมก็คือ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ซึ่งยังคงสภาพเป็นบ้านและปรับปรุงมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บของโบราณ มีทั้งตู้เย็น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วย ชามลายคราม ไว้ให้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้

ประวัติขุนจำนง จีนารักษ์ ขุนจำนงจีนารักษ์ นามเดิมว่า หุย แซ่เฮง เป็นคนจีนเกิดใน ประเทศไทย ใกล้วัดโพธิ์คอย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้า และโรงยาฝิ่น เมื่อเยาว์วัยศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศจีน กลับมาเมืองไทยเมื่ออายุ 20 กว่าปี ต่อมาได้สมรสกับคุณกุ้ยเอง แซ่เจ็ง เป็นคน อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี มีบุตรธิดา 3 ต่อมาได้เช่าที่ราชพัสดุปลูกบ้าน 3 ชั้น (คอนกรีตเสริมเหล็ก)ใน พ.ศ.2459 กิจการค้าขายของท่านเจริญรุ่งเรืองไปถึง 6 อำเภอ ท่านจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ประกอบกับท่านเป็นคนดีมีเมตตา ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้เป็นผู้นำชุมชน คุณงามความดีของท่าน ทำให้ท่านได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนจำนงจีนารักษ์ ตำแหน่งกรรมการพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น ท่านจึงหันมาทำสวนทำไร่ และเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2517 รวมอายุได้ 83 ปี บ้านของท่านในส่วนของ คุณเคียวยี้ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนาย โต้วซ้ง จีนารักษ์ อนุญาติให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ชื่อ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บของโบราณ สำหรับผู้ที่สนใจเข้า ชมเพื่อศึกษาหาความรู้มาจนถึงปัจจุบันนี้


เท่าๆที่เดินเก็บบรรยากาศของตลาดสามชุก ยังมีอีกหลายร้านที่น่าสนใจ ถ้าจะเล่าให้ฟังหมดทุกร้าน ก็คงต้องเล่ากันยาว เอาเป็นว่าเก็บภาพมาฝากแล้วกัน และที่สัมผัสได้เมื่อมาที่ตลาดสามชุก ก็คือ ความมีชีวิตชีวาของผู้คนในตลาด รวมไปถึงความมีมนต์ขลังและสภาพความเป็นตลาดเก่าที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นอีกที่หนึ่งที่น่าแวะมาเยี่ยมชม มาเที่ยวซื้อของ และศึกษาวัฒนธรรมเก่าๆ รับรองว่าถ้ามาถึงที่ตลาดสามชุกแล้ว ไม่ผิดหวังจริงๆครับ

การเดินทางด้วยรถยนต์
การเดินทางด้วยรถยนตร์ สู่ตลาดสามชุก จากกรุงเทพฯ ผ่าน อ. บางบัวทอง จ. นนทบุรี ไปจนถึงตัว จ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 107 กม. จากนั้นไปตามหลวงหมายเลข 340 แยกเข้า อ. สามชุก ตัวตลาดอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก





ข้อมูลจาก หมูหินดอทคอม

ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด


ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด


ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด


ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด


ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด


ความหลังครั้งเก่ากันที่ตลาด 100 ปี ตลาด


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์