คำถามเรื่อง น้ำท่วม

คำถามเรื่อง น้ำท่วม

คำถามเรื่อง "น้ำท่วม"


โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2554)

ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

มีการขุด
"คลองลัดบางกอกใหญ่"

เมื่อกาลเวลาผันผ่านไป คลองลัดดังกล่าวค่อยๆ ขยายใหญ่กลายเป็นทางน้ำสายหลัก

เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงพยาบาลศิริราช-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมลดสถานะกลายเป็น "คลองบางกอกน้อย" และ "คลองบางกอกใหญ่" ในปัจจุบัน

"แม่น้ำเจ้าพระยา" ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดมีขึ้นเองโดย
"ธรรมชาติ"

ทว่าถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยน้ำมือของ
"มนุษย์"

กับสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณที่ราบภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน

แน่นอนว่าปัญหาหลักย่อมได้แก่ เราจะใช้ชีวิตอยู่กับ "น้ำ" หรือ "ธรรมชาติ" อย่างไร?

พร้อมเป้าหมายสำคัญคือ การระบาย "น้ำ" ลงทะเลตามวิถีทาง "ธรรมชาติ" ของมัน

โดยให้กระทบต่อความเดือดร้อนของผู้คนน้อยที่สุด

แต่การอยู่กับ "น้ำ" คงมิได้หมายถึงการยินยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อ "ธรรมชาติ" อย่างง่ายๆ เซื่องๆ เพียงแค่นั้น

หากควรหมายถึงการจะบริหารจัดการ หรือควบคุม "น้ำ" อย่างไรด้วย

แม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็เกิดจากการบริหารจัดการ "น้ำ" สมัยอยุธยาดังได้กล่าวไปแล้ว

"คันกั้นน้ำ" ในหลายจังหวัดภาคกลาง ที่คน กทม.ได้ยิน ได้อ่าน ได้ดูกันบ่อยๆ จากข่าวสารช่วงไม่กี่วันนี้

ก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ระบบชลประทาน" ที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน

คำถามของสังคมไทยร่วมสมัยก็คือ การจัดการน้ำในยุคปัจจุบันควรจะดำเนินไปเช่นไร?

การบริหารจัดการน้ำควรมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับ "ความเท่าเทียม" หรือ "ความเป็นธรรม" ระหว่างผู้คนทุกกลุ่มทุกพื้นที่ในสังคมหรือไม่?

ถ้าเป็นเช่นนั้น

นอกจากภาพ "คนใจบุญ" ไปบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ "ผู้ประสบภัย" น้ำท่วมที่น่าสงสาร

ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีในเชิง "สังคมสงเคราะห์" แล้ว

หากกล่าวแบบอุดมคติ เราคงต้องถามต่อว่า

ต้องทำอย่างไร กระแสน้ำซึ่งไหลไปท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงและภูมิอากาศอันแปรผัน จึงจะท่วม/ไม่ท่วม ทุกพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันโดยทัดเทียมกัน?

หากกล่าวแบบสมจริงขึ้นมาอีกนิด เราคงต้องถามว่า

ถ้าเกิดเหตุน้ำท่วมกับบางพื้นที่ เพื่อบางพื้นที่จะได้ไม่ถูกน้ำท่วม

เราจะมีกลไกชดเชยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (หรือ ผู้เสียสละโดยไม่เจตนา) อย่างไร?

และผู้ที่ไม่ประสบเหตุอุทกภัย (เพราะมีคนรับเคราะห์แทน) ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวในทางใดทางหนึ่งบ้างหรือไม่?

ดังข้อเสนอของ อ.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ทางมติชน รายวัน เมื่อ 2 วันก่อน

มิฉะนั้น แม้ทำนบกั้นน้ำของบางพื้นที่ในประเทศไทยจะไม่แตก

แต่ทำนบขวางกั้นความเท่าเทียมทางสังคม-การเมือง

อาจพังทลายลงได้ในสักวันหนึ่ง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์