คำบวกคำลบ

คำบวกคำลบ


นักเขียนสุนทรพจน์พิถีพิถันกับการเลือกใช้คำเช่นเดียวกับจิตรกรเลือกใช้สี และขนาดพู่กัน เพราะหากเลือกคำไม่เหมาะสมเพียงคำเดียว ความหมายก็อาจผิดไปเลย หรือเป็นแง่ลบได้โดยไม่ตั้งใจ

ยกตัวอย่างเช่น ยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งใช้สโลแกนโฆษณาว่า "เค็ม... แต่ดี" แม้ว่าความหมายจะชัดเจนว่าความเค็มช่วยรักษาเหงือกและฟันให้แข็งแรง คำว่า 'แต่' มีนัยของด้านลบอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ชอบยาสีฟันรสเค็ม

หากจะพูดแบบด้านบวกก็คือ "เค็ม... จึงดี" จะสวยงามกว่า นั่นคือก็เพราะมันเค็ม มันจึงดี

โฆษณาบ้านจัดสรรหลายแห่งใช้คำว่า "ราคาเพียง 35 ล้าน" หรือ "แค่ 35 ล้านบาท"

35 ล้านบาทย่อมไม่ใช่เงินเล็กน้อย การใช้คำว่า 'เพียง' หรือ 'แค่' จึงเหมือนกับคนพูดอยู่ในอีกจักรวาลหนึ่ง

'ราคาเพียงหนึ่งพันบาท' กับ 'ราคาถึงหนึ่งพันบาท' อาจให้ความหมายต่างกัน ขึ้นกับลักษณะการใช้ เช่น เมื่อได้รับส่วนลดในการซื้อรถยนต์คันหนึ่งเป็นเงินหนึ่งพันบาท ถ้าคนขายใช้คำว่า "ลดให้ถึงหนึ่งพันบาท" คนซื้ออาจรู้สึกว่าลดไม่มาก แต่หากเป็นการซื้อรองเท้าหรือเสื้อผ้า "ลดให้ถึงหนึ่งพันบาท" อาจจะให้ความรู้สึกที่ดีกว่ามาก

การใช้คำเล็กๆ น้อยๆ จึงมีความสำคัญ

ในชีวิตจริงของคนเรา ต้องเจอะหน้าเจอตาผู้คนมากมาย เราไม่อาจเลี่ยงการพูดจากับคนอื่น มันจะเป็นเครื่องมือหรืออาวุธก็แล้วแต่การใช้ การใช้คำพูดที่เหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่นเจ้านายสั่งงานลูกน้องว่า "ทำให้เสร็จภายในห้าโมงเย็น" อาจให้ความรู้สึกต่างกับ "ขอโทษด้วยที่เร่งคุณ แต่ช่วยทำให้เสร็จภายในห้าโมงเย็นนะครับ"

ในหลายกรณี คนที่ใกล้ชิดกันมักจะลืมไปว่า คำพูดอ่อนโยนยังเป็นสิ่งจำเป็น เช่นสามีพูดกับภรรยาว่า "เอาน้ำมาแก้วนึง" ย่อมให้ความรู้สึกต่างจาก "ช่วยรินน้ำมาแก้วนึงได้มั้ยจ๊ะ" แค่เติม 'จ๊ะจ๋า' ในประโยค ความรู้สึกก็ต่างกันใหญ่หลวง
ภรรยาบางท่านนิยมใช้คำว่า "นี่คุณ" นำหน้าประโยค คำนี้มีนัยของแง่ลบอยู่บ้าง เพราะ "นี่คุณ" มีความหมายในเชิงว่า ประโยคที่ตามคำนี้จะเป็นประโยคคำสั่ง แค่เปลี่ยนคำนี้เป็น "คุณคะ" หรือ "คุณขา" ก็ดีกว่าเดิมหลายเท่า

จริงไหมจ๊ะ?


ขอบคุณที่มา  ::  บทความโดย...วินทร์ เลียววาริณ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์