คุณกำลัง Phubbing ติดมือถือหรือไม่?

คุณกำลัง Phubbing ติดมือถือหรือไม่? ติดมือถืออันตรายอย่างไร? สังเกตุอย่างไร? แก้ไขอย่างไร?

ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและ Social Network เข้ามีบทบาทในชีวิตเรา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆอย่างมากมาย รวมทั้งพฤติกรรมของเราที่เปลี่ยนไป เราใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้น จนตอนนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเห็นหลายคนก้มหน้าก้มตากดแต่โทรศัพท์มือถือ แทนที่จะหันหน้ามาคุยกัน

จนปรากฏการณ์นี้ได้ถูกเรียกว่า Phubbing หรือการเมินเฉย ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า เพราะมัวแต่ใช้มือถือ แล้วถ้าหากคุณติดอุปกรณ์ในมือมากเกินไป จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง?

นพ. จิตริน ใจดี จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพได้บอกถึง พฤติกรรม Phubbing ว่า การติดมือถือนั้น จะทำให้เกิดผลเสียหลายอย่างดังนี้

1.ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลงไป
2.ส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบ หน้าที่ การงาน การเรียน
3.ส่งผลต่อสุขภาพ ปวดหัว ปวดตา ปวดหลัง ปวดช่วงต้นคอ
4.เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะมัวสนใจอยู่แต่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
5.สร้างนิสัยเสียให้ต้องดูมือถือเป็นประจำทั้งๆที่ไม่มีเรื่องเร่งด่วน ห้ามตัวเองไม่ได้
6.ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล เวลาที่ไม่ได้ใช้จะรู้สึกไม่สบายใจ
7.เสี่ยงต่อการที่จะมีพฤติกรรมเสพติดด้านอื่นๆ เช่น ติดเกมส์ , Social Network

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการติดมือถือมากไปนั้นเกิดผลเสียหลายด้าน ทั้งด้านความสัมพันธ์ สุขภาพและด้านอื่นๆ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นสังเกตพฤติกรรมตัวเองว่า เริ่มติดมือถือแล้วหรือยัง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเราก่อนที่ปัญหาต่างๆจะเกิด โดยมีวิธีสังเกตอาการติดมือถือได้ดังนี้

วิธีสังเกตอาการติดมือถือ

1.ใช้มือถือบ่อยขึ้น
2.ใช้มือถือนานขึ้น / ใช้มือถือนานกว่าที่ตั้งใจไว้
3.ใช้มือถือทุกครั้ง เวลาที่มีเวลาว่างหรือไม่รู้จะทำอะไร
4.ถึงแม้ว่าใช้มากเกินไป หรือเริ่มมีผลเสียจากการใช้มือถือแล้ว ก็ยังหยุดไม่ได้
5.ใช้โทรศัพท์ผิดกาลเทศะบ่อยๆ เช่น  ใช้ขณะทานข้าว ในห้องเรียน ในโรงภาพยนตร์


การแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดมือถือนั้นต้องเริ่มต้นจากตัวเอง โดยคุณหมอได้แนะนำว่า ผู้ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดวันที่เริ่มปรับพฤติกรรมให้ชัดเจน พร้อมจดบันทึกลงไปในปฏิทิน และเริ่มปรับพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่สม่ำเสมอ โดย อาจจะเริ่มลดจากการใช้ทีละชั่วโมง สองชั่วโมง ทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ หรืออาจจะดึงเพื่อนและคนรอบข้างมาช่วยดูแลพฤติกรรมเรา และคอยให้กำลังใจในการลด ละ เลิก ส่วนผู้ปกครองที่อยากจะเตือนบุตรหลาน หรือสำหรับเด็กคุณหมอปอก็แนะนำวิธีดังนี้

วิธีป้องกัน แก้ไขอาการติดมือถือในเด็ก สำหรับผู้ปกครอง

1.ควรเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีก่อน ไม่เริ่มด้วยการตำหนิ
2.ตั้งกติกาการใช้ และหากิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจมาแทน ถ้าทำได้ อาจชมหรือให้กำลังใจ
3.ถ้าเป็นเด็กโต หาโอกาสพูดคุยถึงผลเสีย โดยมีเนื้อหาที่แสดงถึงความเป็นห่วงปรับพฤติกรรมไปทีละนิดด้วยความอดทน

การใช้เทคโนโลยีนั้นต้องใช้อย่างเหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด หากใช้มากเกินไปก็อาจจะเกิดผลกระทบตามมาโดยที่คุณไม่คาดคิดได้ โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่กำลังแสวงหาตัวตน ที่ควรใช้เวลาอยู่กับการทำกิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวันมากกว่าการอยู่กับ เทคโนโลยี ดังนั้นการให้เด็กใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจึงควรได้รับคำแนะนำและการดูแล อย่างใกล้ชิด


คุณกำลัง Phubbing ติดมือถือหรือไม่?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์