คุณทานยาซ้ำซ้อนอยู่หรือเปล่า ?

คุณทานยาซ้ำซ้อนอยู่หรือเปล่า ?


ยารักษาโรค เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่หากมนุษย์เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งยารักษาโรคก็คงจะดีที่สุดค่ะ เพราะขึ้นชื่อว่ายา แม้จะมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน หากว่าทานยามากเกินไป ทานไม่ยาเหมาะสม หรือการทานยาซ้ำซ้อน ก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน โดยในกรณีของการทานยาซ้ำซ้อนนี้ ปัจจุบันก็พบได้บ่อยในผู้ป่วยหลาย ๆ ราย ซึ่งก็มีทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวด้วย แล้วท่านละคะ ทานยาซ้ำซ้อนอยู่หรือเปล่า

         ปัญหาจากการได้รับยาซ้ำซ้อน มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยไปรักษาพยาบาลหลายที่ แต่ไม่ได้ระบุกับแพทย์ในแห่งที่สองว่าทานยาอะไรอยู่แล้วบ้าง หรือไม่ได้นำยาไปให้แพทย์ดู เมื่อกลับมาก็รับประทานยาที่ทั้ง 2 แห่งให้มาร่วมกัน ซึ่งบางครั้งอาจเป็นยาตัวเดียวกันก็ได้ ทำให้ได้รับยาที่เกินความจำเป็น หรือบางคนอาจไปรักษาที่สถานพยาบาลเดิม แต่ติดต่อกันหลายครั้ง แพทย์อาจให้ยาที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเห็นว่ายาเดิมที่ทานอยู่ไม่สามารถช่วยให้หายจากอาการป่วยได้ โดยแพทย์อาจจ่ายยาใหม่ที่รูปลักษณ์หรือบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนไป ระบุเวลาทานยาคนละช่วงเวลา ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นยาคนละชนิด ก็นำมารับประทานร่วมกัน ทั้งที่จริงเป็นชนิดเดียวกัน

            การได้รับยาซ้ำซ้อน บางครั้งยาจะมีปฏิกิริยาต่อกัน อาจเสริมฤทธิ์กันหรือทำให้ฤทธิ์ยาลดลงได้ และทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งมีทั้งที่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ใจสั่น หรือง่วงนอน จนกระทั่งรุนแรงถึงแก่ชีวิต เช่น การทำลายตับ หรือทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาการได้รับยาซ้ำซ้อน ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ท่านจึงควร...


      1. คุยกับแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยท่านควรบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านเองให้มากที่สุด เช่น ท่านมีประวัติการแพ้ยาอะไรหรือไม่ รับประทานยาหรืออาหารเสริมอื่นๆอยู่หรือไม่ ข้อจำกัดบางประการในการใช้ยา (เช่น มีปัญหาการกลืนยา หรือ ต้องทำงานกับเครื่องจักรอันตราย ไม่สามารถทานยาที่ทำให้ง่วงได้) อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร (กรณีของผู้หญิง)

      2. ควรนำยาเก่ามาด้วยเสมอเวลามารักษาตัวที่สถานพยาบาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาหาด้วยโรคเดิมหรือโรคใหม่ก็ตาม เพื่อที่แพทย์จะได้ทราบว่าท่านทานยาชนิดใดอยู่ก่อนแล้วบ้าง จะได้หลีกเลี่ยงการจ่ายยาซ้ำซ้อนค่ะ หรือในกรณีที่ท่านมารักษาด้วยโรคเดิม ที่สถานพยาบาลเดิม แต่แพทย์จ่ายยาตัวใหม่ให้ ก็ต้องสอบถามให้แน่ใจว่า จะต้องทานยาทั้งสองชนิดนี้ควบคู่กันไปหรือไม่ หรือให้ทานชนิดใดชนิดหนึ่ง มีตัวยาที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และจะมีอาการข้างเคียงอย่างไรบ้าง เพื่อที่ท่านจะได้สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังการทานยาได้

        
อย่างไรก็ตามการสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการทานยา เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยหากมีอาการที่นอกเหนือไปจากที่เภสัชกรหรือแพทย์ได้แจ้งไว้ หรือมีอาการรุนแรงกว่า ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แพทย์อาจสั่งให้หยุดยาบางตัว และสังเกตอาการอีกครั้ง เพื่อที่จะได้ทราบว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นมาจากผลของยาตัวใด และแพทย์อาจพิจารณาการรักษาวิธีอื่นหรือจ่ายยาชนิดอื่นต่อไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายอันเนื่องมาจากการได้รับยาซ้ำซ้อนนั่นเองค่ะ


ขอบคุณ : สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์