คุณเชื่อไหม ! เพลงชาติไทยเกิดในรถราง

ขอบคุณภาพรถรางจาก arunsawat.comขอบคุณภาพรถรางจาก arunsawat.com

คุณเชื่อไหม ! เพลงชาติไทยเกิดในรถราง

คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง โดย ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช มติชน 14 ตุลาคม 2555


"เพลงชาติไทยเกิดในรถราง

เพลงชาติไทยเกิดในรถราง

ใครสงสัย...เอ้า...ใครสงสัย

ให้ไปถามพระเจนดุริยางค์!"

เคยได้ยินน้องจอมทโมนของเพื่อนซึ่งเป็นเด็กอัสสัมฯ ตะโกนร้องเพลงนี้ เมื่อกัปกัลป์ที่แล้ว

ทุกวันนี้จอมทโมนกลายเป็นผู้ใหญ่ทั้งวัยและตำแหน่ง เนิบนาบ เนี้ยบกริ๊บ ไม่มีคราบไคลของเด็กเซียนเหลืออยู่สักอณูเดียว ราวกับถูกกาลเวลาใช้ส้มมะขามทาถูขัดออกจนเกลี้ยงเกลา

น่าเสียดาย...

ไม่นึกเลยว่าเพลงเลอะเทอะที่เด็กชายตัวเล็กๆ ร้องไว้ จะมีความจริงอยู่เต็มเปี่ยม เพราะเมื่ออ่านประวัติเพลงชาติไทย ก็พบว่าคุณพระเจนดุริยางค์ผู้ประพันธ์ทำนองเพลง ได้เขียนบันทึกไว้ในความทรงจำของท่านว่า คิดท่วงทำนองได้ ขณะที่กำลังนั่งรถรางสายบางขุนพรหม-ท่าเตียนไปทำราชการที่สวนมิสกวัน

เห็นคนไทยยกพวกตีกันเองเพื่อชาติ เลยนำประวัติเพลงชาติไทยมาให้อ่านกันเล่นอีก เผื่อใจจะเย็นลง

ความเป็นมาของเพลงชาติไทยนั้นคล้ายคลึงกันกับเพลงชาติของอีกหลายประเทศ คือมีเบื้องหลังอยู่ที่การเมือง

อย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่ ว่าก่อนจะมีเพลงชาติฉบับที่พระเจนดุริยางค์ประพันธ์ขึ้นนี้ เราใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติ เหมือนกับประเทศอังกฤษใช้
God Save the King/Queen

ตามประวัติ นายทหารผู้หนึ่งติดต่อให้คุณพระเจนฯประพันธ์เพลงชาติเกือบปี ก่อนที่คณะราษฏรจะเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 เสียอีก แต่ท่านปฏิเสธไป

ครั้นเมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติสำเร็จ (27 มิถุนายน พ.ศ.2475) นายทหารผู้นั้นก็กลับมาติดต่อคุณพระเจนฯอีกครั้ง คำสั่งที่มีไปถึงคุณพระเจนฯย้ำว่าให้เพลงที่จะประพันธ์มีส่วนคล้ายคลึงกับเพลง
La Marseillaise หรือเพลงชาติฝรั่งเศสด้วย

เขาให้เวลาเจ็ดวัน ท่านมาทำเสร็จเอาวันสุดท้าย

คุณพระเจนฯขอไม่ให้บอกว่าท่านเป็นผู้ประพันธ์ คงเพราะไปอยากเอาตัวไปข้องเกี่ยวกับความสับสนทางการเมือง ซึ่งนายทหารคนที่มาติดต่อก็ให้คำมั่นสัญญาเป็นอย่างดี

แต่เป็นสัญญาที่ไม่ได้ตีด้วยครั่งเกียรติยศ

นอกจากจะรู้กันไปทั่วว่าใครประพันธ์แล้ว ยังลงหนังสือพิมพ์เสียด้วย คุณพระเจนฯจึงถูกเสนาบดีกระทรวงวังตำหนิอย่างรุนแรง และตามมาด้วยการปลดออกจากราชการ ก่อนที่จะสั่งให้กลับเข้าไปใหม่ด้วยเงินเดือนเพียงครึ่งเดียวของอัตราเก่า

แม้จะเป็นเสมือนเสาหลักแห่งวงการดนตรี แต่ในวิถีการเมืองคุณพระเจนดุริยางค์ก็เป็นเพียงแค่หญ้าแพรกที่อาจถูกย่ำยีได้จากผู้ยิ่งใหญ่ทุกฝ่าย

ไม่ต่างจากศิลปินใหญ่มากหลายในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ถูกอำนาจโน้มลงมาให้รับคำสั่ง

ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำนองเพลงชาติไทยของคุณพระเจนดุริยางค์ยังเพียงอยู่ในขั้นทดลอง เพราะเพลงชาติที่ใช้ชั่วคราว คือทำนองเพลง "มหาชัย" ส่วนเนื้อร้องเป็นฝีมือของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้าของเพลง "กราวกีฬา" และประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย

แต่เมื่อเริ่มมาใช้ทำนองเพลงของคุณพระเจนดุริยางค์แล้ว ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องหลายครั้ง ซึ่งก็น่าเปลี่ยนอยู่หรอก เพราะมีอะไรเชยๆ อย่าง

"เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา"

ฟังคล้ายๆ คนไทยเป็นไอ้ตูบยังไงไม่รู้ แย่พอกันกับเพลงชาติไทยฉบับเยาวชนที่ว่า "ประเทศไทยกินแกงเนื้อไม่เบื่อหรือไง..."

ถึง พ.ศ.2477 เนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรา บวกกับเนื้อร้องยาวเหยียดของนายฉันท์ ขำวิไล เท่ากับต้องร้องทีละสี่เที่ยว เด็กๆ แทบจะหมดแรงก่อนเข้าห้องเรียนตอนเช้า

โชคดี ผู้ยิ่งใหญ่สมัยนั้นเกิดไปได้ยินว่า...

ชาติเล็กๆ เพลงชาติจะยาว ส่วนชาติใหญ่ๆ เพลงชาติจะสั้น!

หากประเทศไทยเป็นแค่ "ชาติเล็กๆ" ตัวท่านจะใหญ่ไปได้สักแค่ไหนเล่า ว่าแล้วก็รีบออกประกาศให้ตัดแต่งเพลงชาติให้สั้นลง

ไม่ใช่สั้นลงอย่างเดียว เนื้อร้องเพลงต้องไม่ให้เสียงเพี้ยนด้วย เพราะที่ร้องกันมานี้เป็น...

"แผ่นดินสยามนามประเทื้องว่าเหมืองทอง..."

เป็นอันว่าต้องมีการประกวดแต่งเนื้อเพลงชาติกันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปลี่ยนชื่อจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในปี พ.ศ.2482

ผู้ชนะคือนายพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)

บทเพลงที่ชนะคือเนื้อเพลงชาติที่เราร้องกันอยู่ทุกวันนี้

คุณหลวงท่านเขียนเล่าไว้เองเมื่อปี พ.ศ.2486 ว่า ท่านไม่ได้เขียนคนเดียว แต่ได้ความช่วยเหลือจากทหารหนุ่มยศร้อยตรีผู้มีหนวด ซึ่งคุณหลวงจำชื่อไม่ได้ นายทหารผู้นี้ได้เสนอแก้ถ้อยคำบางแห่งในเนื้อร้องเพื่อให้เข้ากับเสียงสูงต่ำของดนตรี ซึ่งคุณหลวงก็ "เห็นพ้องด้วยทุกประการ" ตามคำบอกเล่าของท่าน

เช่น ตรงที่พวกเราร้องกันจนชินว่า

"เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่"

ในครั้งแรกคุณหลวงเขียนเป็น

"ใครรุกรานจะประจันให้ถึงที่"

แต่แล้วเวลาร้องคำว่า "ที่" กลายเป็น "ถี่"

คุณหลวงกับผู้ช่วยจึงต้องพยายามหาคำที่มีเสียงเหมาะสมมาใช้แทน ถึงกับต้องหาอักษรทั้งสูงกลางต่ำมาลองเขียนดู

เสียงสูงมี ขี่ ฉี่ ถี่ ฝี่ สี่ หี่

เสียงกลางมี กี่ จี่ ดี่ ตี่ บี่ ปี่ อี่ ปรี่

เสียงต่ำมี หงี่ หนี่ ถนี่ หมี่ หยี่ หลี่

อ่านตามที่คุณหลวงเขียนไว้แล้ว รู้สึกดีใจเหลือเกินว่าคุณหลวงและผู้ช่วยสามารถเปลี่ยนเนื้อร้องให้เป็น

"เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่"

ได้อย่างสวยงาม โดยไม่ต้องใช้คำแปลกๆ อย่าง ฉี่ สี่ ตี่ ปี่ หรือ หงี่ หนี่ หมี่ ให้พวกเราร้องไปกลุ้มไป หรือร้องไปหัวเราะไป หรือให้ฉบับเยาวชนแอบแปลงเป็น "เอกราชจะไม่ให้ใครมาฉี่" อันล้วนจะเป็นสาเหตุให้เพลงชาติหายขลัง

อย่างไรก็ตาม เขียนๆ ไปแล้วก็นึกออกว่า อันว่าเนื้อเพลงชาติไทยนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้มีผู้แต่งท่านเดียว หากแต่มีนายทหารหนุ่ม-หนวด-นิรนามเป็น collaborator หรือผู้ร่วมประพันธ์อยู่ด้วย

น่าเสียดายที่เราจะไม่มีวันทราบว่าท่านเป็นใคร

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์