จะอ้วนจะผอม ฮอร์โมนก็เกี่ยวนะ


จะอ้วนจะผอม ฮอร์โมนก็เกี่ยวนะ

1. ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)

เราเคยได้ยินมาว่า ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างฮวบฮาบ แล้วแต่พฤติกรรมของแต่ละคนว่าเครียดแล้วกินไม่ลง หรือยิ่งเครียดก็ยิ่งเอ็นจอยอีทติ้ง ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็เกิดจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนในสมองที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเวลาที่เรามีความเครียด

และเมื่อฮอร์โมนตัวนี้ถูกส่งผ่านจากสมองมายังกระแสเลือด ก็จะทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ระดับกลูโคสและไขมันในเลือดก็จะน้อยลง ทำให้เรารู้สึกหิวและอยากของหวานมากกว่าปกติและเมื่อมีความเครียดอยู่เสมอ ๆ ร่างกายก็จะคุ้นชินกับการสะสมไขมันและกลูโคส เพื่อรองรับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สมองจะหลั่งออกมาดึงเอาไป เป็นเหตุให้เราติดนิสัยกินเยอะจนเคยตัวนั่นเองค่ะ

ดังนั้น หากไม่อยากมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ก็พยายามอย่าเครียดดีกว่า หรือถ้ารู้สึกว่าตัวเองเครียด ก็หาทางระบายความเครียดด้วยการออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นก็ได้ค่ะ

2. ฮอร์โมนเมลาโธนิน (Melatonin)

อีกหนึ่งฮอร์โมนจากสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับของเราก็คือฮอร์โมนเมลาโธนิน ที่นอกจากจะทำหน้าที่คล้าย ๆ นาฬิกาของชีวิตแล้ว “เมลาโธนิน” (Melatonin) ยังเกี่ยวข้องกับความเครียด โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวานอีกด้วย

กล่าวคือ หากร่างกายเครียดจัด จนหลั่งฮอร์โมนเมลาโธนินออกมาน้อย เราก็จะนอนไม่หลับ จนเกิดเป็นโรคอ้วน และเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนั้น หากคุณนอนไม่ค่อยหลับ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ หรือไม่เช่นนั้นจะลองนอนในห้องที่มืดสนิท อุณหภูมิพอเหมาะ พร้อมกับใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ นอนดูก่อนก็ได้ เพราะบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการนอนหลับจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเมลาโธนินออกมามากขึ้นได้ เราก็จะนอนหลับได้ง่ายขึ้นด้วย

3. ออกซิโทซิน (Oxytocin)

ฮอร์โมนตัวนี้ได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ที่จะหลั่งออกมาเมื่อเราได้อยู่ใกล้ หรือสัมผัสกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือแม้กระทั่งเวลาที่ได้กินช็อกโกแลตและเวลาที่เราหัวเราะอย่างมีความสุข ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ก็จะหลั่งออกมาเช่นกัน และถ้าหากร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินออกมามาก ก็จะช่วยลดความอยากอาหาร กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ช่วยลดความเครียด และลดระดับความดันเลือดได้อีกด้วย

ไม่เชื่อลองสังเกตคนที่กำลังตกหลุมรัก หรือมีความรักดู เขาเหล่านี้จะดูมีความสุข อิ่มเอมใจ และกินอาหารได้น้อยลง กลับกันกับคนที่เหงาและโดดเดี่ยว เขาเหล่านี้จะมีโอกาสเครียด และกินอาหารได้เยอะกว่า จึงทำให้อ้วนขึ้นง่าย ๆ แบบไม่รู้ตัวเลยล่ะ

4. ต่อมไทรอยด์

การทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้เช่นกัน เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ควบคุมเมตาบอลิซึมที่สำคัญหลายอย่าง รวมไปถึงความเร็วในการเผาผลาญพลังงาน อัตราการเต้นของหัวใจ และการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะหากมีภาวะเครียด ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และอาการอักเสบร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติมากขึ้นไปอีก จนทำให้มีภาวะซึมเศร้า ท้องผูก และเป็นหวัดเฉียบพลัน

นอกจากนี้ หากต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อยลงก็จะทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และหากต่อมไทรอยด์ทำงานเกินปกติก็จะทำให้เรามีน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งการจะปรับการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้อยู่ในระดับปกตินั้น ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารทำลายต่อมไทรอยด์ประเภท BPA (bisphenol A) ที่เป็นสารเคมีที่พบได้ในผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหลาย ด้วยการไม่อุ่นอาหารด้วยภาชนะพลาสติก และหลีกเลี่ยงสารปรอท ซึ่งอาจพบได้ในปลาทูน่า และปลาทะเลขนาดใหญ่ค่ะ

5. ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเทอโรน (Progesterone)

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่รังไข่ของผู้หญิงผลิตออกมา ซึ่งทั้ง 2 ฮอร์โมนนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของร่างกายเราด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้หญิงในวัยสูงอายุ หรือผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางน้ำหนักและรูปร่างอย่างฉับพลัน ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะรังไข่เริ่มผลิตฮอร์โมนเหล่านี้น้อยลงนั่นเอง

และในขณะที่รังไข่ผลิตฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่งมาก ฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งจะถูกชะลอตัวลง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานแบบปกติของระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดอาการ PMS หรืออาการก่อนมีประจำเดือน ที่ทำให้เรากินอาหารได้มากกว่าปกติ และเกิดอาการบวมน้ำ น้ำหนักจึงเพิ่มขึ้นได้ แต่เราสามารถบรรเทาอาการ PMS ได้โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กและสังกะสี เช่น พืชตระกูลกะหล่ำ บรอกโคลี ผัดกาด เป็นต้น นอกจากนี้ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวก็สามารถขับฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนเกินในร่างกายออกไปได้ด้วยค่ะ

6. ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone)

ไม่เพียงแต่ผู้ชายเท่านั้นที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) อยู่ในร่างกาย แต่ผู้หญิงเองก็มีฮอร์โมนนี้เช่นกัน ซึ่งหากว่ารังไข่และต่อมหมวกไตของคุณหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ออกมาร้อยละ 10 เจ้าฮอร์โมนเพศชายตัวนี้ก็จะทำหน้าที่เดียวกันกับร่างกายผู้ชายคนหนึ่ง ก็คือคุณจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง มีความต้องการทางเพศมาก และที่สำคัญจะกระตุ้นระบบเผาผลาญในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น

 แต่ถ้ามีระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกายต่ำ ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หดหู่ ความต้องการทางเพศน้อย ส่วนถ้ามีระดับฮอร์โมนตัวนี้ในร่างกายมาก ก็จะหน้ามัน มีสิว ขนดก และหากมีความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือภาวะรังไข่ทำงานผิดปกติ PCOS (polycystic ovarian syndrome) ก็จะนำมาซึ่งโรคอ้วนได้ ดังนั้น ถ้าพบว่าตัวเองมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะมีฮอร์โมนเพศชายมากหรือน้อย ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษากันต่อไป

7. ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin)

หลายคนสงสัยว่าทำไมเราถึงหิวบ่อยจัง กินได้ทั้งวันโดยที่ไม่รู้สึกอิ่ม คำตอบก็คือ เพราะร่างกายเรามีฮอร์โมนความอยากอาหารอยู่ 2 ตัว คือ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) และฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) โดยตับอ่อนผลิตฮอร์โมนเกรลินออกมาเพื่อทำหน้าที่สั่งการให้เรากินอาหารเมื่อท้องหิว ส่วนฮอร์โมนเลปตินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์ไขมัน มีหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งหากร่างกายมีภาวะต้านฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ก็จะทำให้เรารู้สึกอยากกินอาหารไม่หยุด แม้ท้องจะอิ่มก็ตาม และก็นำมาซึ่งโรคอ้วน และน้ำหนักเกินในที่สุด

การนอนน้อยก็ส่งผลต่อฮอร์โมนเลปตินเช่นกัน โดยแพทย์ได้เผยผลวิจัยว่า การนอนน้อยจะทำให้เราหิวบ่อย และกินอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทของมัน และของหวาน ดังนั้นจึงควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมง และเลือกรับประทานน้ำตาลจากผลไม้แทนน้ำหวานค่ะ

8. ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin)

ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) เป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ที่จะช่วยลดความเครียด และลดภาวะซึมเศร้าได้ แต่แพทย์ก็ได้บอกว่า นอกจากเซโรโทนินจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยให้เราอยากอาหารหวาน ๆ เพิ่มขึ้นได้ด้วย โดยถ้าหากคุณไม่ทำตัวให้กระปรี้กระเปร่า และควบคุมอาหาร ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ยับยั้งกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว ดังนั้นจึงควรรักษาระดับฮอร์โมนเซโรโทนินในร่างกายให้เป็นปกติ ด้วยการรับประทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่พอดีกับที่ร่างกายต้องการ และเลือกรับประทานโยเกิร์ต มันฝรั่ง และไก่งวง เป็นต้น

            รู้กันแล้วว่าฮอร์โมนในร่างกายก็มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวของเราเช่นกัน อีกทั้งฮอร์โมนบางตัวยังมีเอี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย ดังนั้นคงดีกว่าหากเราจะดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งรักษาระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติดี ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือรูปร่างที่ไม่ฟิตเฟิร์ม เราก็ไม่กลัวแล้วค่ะ


จะอ้วนจะผอม ฮอร์โมนก็เกี่ยวนะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์