จัดการกับแผลฟกช้ำอย่างไร ให้ถูกวิธี


 เรื่องผิวหนังฟกช้ำดำเขียว มักเกิดจากความเซ่อซ่าป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ไปเดินเตะโต๊ะ เก้าอี้ (ที่วางไว้เฉย ๆ) จนขาเขียว หรือบางทีก็เป็นอุบัติเหตุที่สุดวิสัยจริง ๆ รอยช้ำนี้เกิดจากการฉีกขากของเส้นเลือดใต้ผิวหนัง แต่ทำให้เลือดไหลซึมมายังเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ มองจากผิวหนังด้านนอกจึงเป็นรอยคล้ำ ๆ ม่วง ๆ เขียว ๆ ซึ่งจะว่าไปมันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ถ้าจะมีร่องรอยฟกช้ำเหลือไว้ให้ดูต่างหน้าบ้าง ถึงแม้ว่ามันจะม่วงช้ำจนดูน่ากลัวก็เถอะ เพราะความจริงเราสามารถดูแลรักษามันได้ง่ายมาก ๆ และไม่ซับซ้อนอะไรเลยด้วย แต่หากคุณละเลยการดูแลรักษาเล็ก ๆ นี้ไป ไม่แน่ว่ารอยฟกช้ำนี้อาจทำให้คุณหมดสวยเอาได้ง่าย ๆ เพราะว่ามันจะทำให้สีผิวบริเวณเกิดรอยช้ำ เข้มคล้ำว่าส่วนอื่น ๆ มองไปแล้วก็ไม่เนียนตา แม้ว่าจะค่อย ๆ หายไปได้เอง แต่ก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน สู้มาดูแลรักษาให้ถูกวิธีกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าเนอะ



-
วิธีปฐมพยาบาลแผลฟกช้ำที่มีอาการผิวหนังบวมร่วมด้วย

การประคบเย็น เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เหมาะสมที่สุด เพื่อช่วยให้เส้นเลือดที่ฉีกขาดหดตัว จึงช่วยลดการกระจายตัวของเลือดที่ไปคั่งค้างบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียงได้ ทำให้รอยฟกช้ำไม่ขยายวงกว้างนั่นเอง ใช้น้ำแข็งห่อด้วยผ้า ประคบบริเวณที่เป็นไว้ 15 นาที ทำได้บ่อย ๆ และควรทำเช่นนี้ติดต่อกันใน 2 วันแรกที่เกิดรอยช้ำ

นอกจากนี้ให้งดใช้กล้ามเนื้อ หรือเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นชั่วคราว เพื่อให้แผลได้พักผ่อน จะได้หายไว เพราะการเคลื่อนไหวออกแรงที่อวัยวะนั้น จะทำให้เลือดสูบฉีด เลือดจึงไหลออกไปคั่งที่ผิวหนังมากขึ้น อาการปวดยิ่งเพิ่ม รอยช้ำก็ยิ่งเข้ม และหายช้าลง แต่หากเลี่ยงการเคลื่อนไหวไม่ได้จริง ๆ ควรหาผ้าที่มีความยืดหยุ่นพันทับไว้ เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว รวมถึงจำกัดปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในบริเวณนั้นด้วย

- การรักษาอาการที่ตามมา

อาการปวดบวมมักเกิดตามมาร่วมกับรอยฟกช้ำ ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติ คุณสามารถระงับอาการปวดได้โดยการกินยาแก้ปวด หรือยาทาเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ ตัวยา อะเซตาไมโนเฟน (acetaminophen) ดีสำหรับรอยช้ำเช่นนี้ เพราะช่วยทั้งบรรเทาปวด และไม่ให้เลือดแข็งตัวเป็นก้อน แต่ควรหลีกเลี่ยง แอสไพริน (aspirin) และ ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เพราะจะยิ่งทำให้เลือดหยุดไหลช้า นอกจากนี้การรับประทานวิตามินเค ยังช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซับเลือดได้ดียิ่งขึ้น จึงช่วยลดวงกว้างของรอยฟกช้ำได้ ทั้งนี้มียาทาหลายขนานที่มีส่วนผสมของวิตามินเค และสามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องอาศัยใบสั่งยาจากแพทย์

ในวันที่ 3 ของการรักษา ให้ทำการประคบอุ่น วันละหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยให้รอยฟกช้ำหายเร็วขึ้น แผลช้ำที่ได้รับการดูแลรักษาเช่นนี้ ควรจะหายดีได้ภายใน 7-10 วัน ระหว่างนั้นคุณอาจต้องอาศัยการใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดรอยช้ำ หรือการใช้เครื่องสำอางเพื่อปรับสีผิวให้เนียนเสมอกัน ช่วยพรางสายตาไปก่อน

แต่หากดูแลรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 อาทิตย์ หรือยิ่งรู้สึกปวดเจ็บมากขึ้น ถึงเวลานี้คุณควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เพราะอาการบาดเจ็บที่มีอาจรุนแรงกว่าที่ปรากฏทางผิวหนังก็เป็นได้ค่ะ


จัดการกับแผลฟกช้ำอย่างไร ให้ถูกวิธี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์