จันทรุปราคาคืนวันสิ้นปี

จันทรุปราคาคืนวันสิ้นปี



คืนวันพฤหัสบดีที่ 31 ธ.ค. 2552 ซึ่งเป็นคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะเกิดจันทรุปราคาเห็นได้ทั่วประเทศ จันทรุปราคาเกิดจากเงาโลกบังดวงจันทร์
 
ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเงาของโลก ระหว่างเกิดจันทรุปราคาในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2552 เข้าสู่เช้ามืดวันที่ 1 ม.ค. 2553 

แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
จันทรุปราคาเต็มดวง จันทรุปราคาบางส่วน และจันทรุปราคาเงามัว มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในช่วงที่ตรงกับวันเพ็ญ (อาจไม่ใช่คืนวันขึ้น 15 ค่ำ ตามปฏิทินจันทรคติเสมอไป เพราะปฏิทินอาจคลาดเคลื่อนได้ในบางช่วง) ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาบางส่วน พื้นผิวเพียงบางส่วนของดวงจันทร์เท่านั้นที่ถูกเงามืดของโลกบดบัง ทำให้มองเห็นดวงจันทร์แหว่งไปเล็กน้อย


ปรากฏการณ์ครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อดวงจันทร์สัมผัสเงามัวในเวลา 00.17 น. (เข้าสู่วันที่ 1 ม.ค. 2553) แม้ว่าจันทรุปราคาได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่ขณะนั้นจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ คาดว่าน่าจะเริ่มสังเกตเห็นพื้นผิวดวงจันทร์คล้ำลงเล็กน้อยตั้งแต่เวลาประมาณ 01.20 น. จันทรุปราคาบางส่วนเริ่มขึ้นในเวลา 01.53 น. สังเกตได้ว่าขอบดวงจันทร์ด้านซ้ายมือจะคล้ำมากและเริ่มแหว่ง เวลา 02.23 น.
ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด ขอบดวงจันทร์ด้านทิศใต้ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือเมื่อแหงนหน้าขึ้นมองไปบนฟ้า จะถูกเงามืดของโลกบังไปเพียงราว 8% วัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ ขณะนั้นดวงจันทร์มีมุมเงยเหนือขอบฟ้าประมาณ 60 องศา หลังจากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงาโลก กลับมาเต็มดวงในเวลา 02.53 น. แต่เนื่องจากดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามัว เราจึงเห็นพื้นผิวดวงจันทร์หมองคล้ำอยู่เล็กน้อยต่อไปอีกจนถึงเวลาประมาณ 03.20 น.

จันทรุปราคาครั้งนี้สิ้นสุดอย่างสมบูรณ์เมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามัวในเวลา 04.28 น.
ส่วนอื่นๆ ของโลกที่เห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้พร้อมประเทศไทย ได้แก่ ทวีปยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันตกของออสเตรเลีย ประเทศในเอเชียและออสเตรเลียเห็นจันทรุปราคาในเช้ามืดวันที่ 1 ม.ค. 2553 ขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนต่ำลงบนท้องฟ้าทิศตะวันตก ส่วนยุโรปและแอฟริกาจะเห็นจันทรุปราคาในค่ำวันที่ 31 ธ.ค. ขณะดวงจันทร์กำลังเคลื่อนสูงขึ้นไปบนท้องฟ้าทิศตะวันออก


จันทรุปราคาในช่วงรอยต่อของปีตามปฏิทินสากลและเวลาท้องถิ่น คือในคืนวันที่
31 ธ.ค. หรือเช้ามืดวันที่ 1 ม.ค. เกิดขึ้นยากมาก
 ถ้าคิดเฉพาะจันทรุปราคาเงามืด (แบบบางส่วนและเต็มดวง) ประเทศไทยเคยเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ปีค.ศ. 1656 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นยุคที่เรายังไม่ใช้ปฏิทินสากล 
ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในค่ำวันที่ 21 ธ.ค. (ดวงจันทร์ในภาพใหญ่กว่าขนาดจริงเมื่อเทียบตามมาตราส่วน)
 

จันทรุปราคาคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2552 จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เกิดจันทรุปราคาในคืนวันสิ้นปีนับตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้ปฏิทินสากล ครั้งถัดไปจะเกิดในคืนวันสิ้นปีพ.ศ. 2571 เป็นครั้งที่น่าสนใจอย่างยิ่งและต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
เพราะจากผลการคำนวณพบว่าดวงจันทร์จะถูกเงาโลกบังหมดทั้งดวงเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงระหว่างเวลา 23.16–00.28 น.

จันทรุปราคาคืนวันสิ้นปี



ดังนั้น การนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ พ.ศ. 2572 ในประเทศไทยและประเทศในเขตเวลาเดียวกัน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซียตะวันตก บางส่วนของมองโกเลีย ตอนกลางของรัสเซีย จะกระทำระหว่างที่กำลังเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงบนท้องฟ้า มีข้อสังเกตว่า พ.ศ. 2571 ห่างจาก พ.ศ. 2552 เป็นระยะเวลา 19 ปี ซึ่งตรงกับวัฏจักรดวงจันทร์หรือวัฏจักรเมตอน (Metonic cycle) ที่ทุกๆ 19 ปี ดิถีจันทร์จะกลับมาซ้ำเดิมในวันและเดือนเดียวกันในปฏิทิน หลังจากผ่านพ้นปี 2571 ไปแล้ว อีกเกือบ 400 ปี ประเทศไทยจึงจะเกิดจันทรุปราคาในช่วงรอยต่อของปีอีกครั้งในวันสิ้นปี พ.ศ. 2943 (เป็นจันทรุปราคาบางส่วนในช่วงใกล้เช้ามืดวันที่ 1 ม.ค. ปีพ.ศ. 2944) ปีหน้ามีจันทรุปราคาที่เห็นได้ในประเทศไทยเพียงครั้งเดียว เป็นจันทรุปราคาบางส่วนในช่วงหัวค่ำของวันเสาร์ที่ 26 มิ.ย. 2553 ซึ่งตรงกับวันสุนทรภู่ ปรากฏการณ์ดำเนินอยู่ในระหว่างที่ดวงอาทิตย์ตกและดวงจันทร์ขึ้นบนท้องฟ้าประเทศไทย

ท้องฟ้าในรอบสัปดาห์ (20-27 ธ.ค.)

ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าในเวลาหัวค่ำของทุกวันตลอดสัปดาห์นี้ ค่ำวันจันทร์ที่ 21 ธ.ค. จะเห็นดวงจันทร์ปรากฏทางขวามือของดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร –2.1) ห่างกันประมาณ 3 ถึง 4 องศา หากไม่มีเมฆหรือสิ่งอื่นใดบดบัง มองต่ำลงไปใกล้ขอบฟ้าอาจสังเกตเห็นดาวพุธอยู่สูงห่างจากขอบฟ้าไม่มากนัก หลังจากวันนั้น ดวงจันทร์จะเคลื่อนห่างออกจากดาวพฤหัสบดีมากขึ้น พร้อมกับมีพื้นผิวด้านสว่างเพิ่มขึ้น คืนวันที่ 24 ธ.ค. ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืน วันที่ 22 ธ.ค.
 
ดวงอาทิตย์จะผ่านตำแหน่งเหมายัน (Winter Solstice) ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ทางทฤษฎีคือวันที่ความยาวนานของกลางคืนยาวกว่ากลางวันมากที่สุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนในซีกโลกใต้ วันนั้นดวงอาทิตย์จะคล้อยไปทางทิศใต้มากที่สุด สังเกตได้จากตอนเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์จะเบนไปทางใต้ ไม่ผ่านเหนือศีรษะ สัปดาห์นี้ดาวพฤหัสบดีตกลับขอบฟ้าในเวลาก่อน 4 ทุ่มเล็กน้อย หลังจากนั้นไม่นาน เป็นเวลาที่น่าจะเริ่มเห็นดาวอังคาร (โชติมาตร –0.6) อยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกด้วยมุมเงย 15 องศา ดาวเสาร์ (โชติมาตร +0.9) เริ่มปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศเดียวกันตั้งแต่เวลาประมาณตี 1 ครึ่ง
 
เมื่อถึงเช้ามืด ดาวอังคารอยู่ทางทิศตะวันตกที่มุมเงย 60 องศา ส่วนดาวเสาร์เคลื่อนสูงขึ้นไปเกือบถึงจุดเหนือศีรษะ
กลางสัปดาห์ กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.37 น. ตกเวลา 17.56 น. เชียงใหม่ขึ้นเวลา 06.53 น. ตกเวลา 17.53 น. ภูเก็ตขึ้นเวลา 06.35 น. ตกเวลา 18.15 น. อุบลราชธานีขึ้นเวลา 06.23 น. ตกเวลา 17.36 น. (จังหวัดอื่นๆ รวมทั้งเวลาดวงจันทร์ขึ้น-ตก ดูได้จาก  


ที่มา
ผู้หญิงนะคะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์