จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิด ที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้รู้สึกเจ็บป่วยง่าย จึงควรดูแลตัวเองรวมถึงปกป้องลูกน้อยเพื่อห่างไกลโรคเหล่านี้ 
โรคสำคัญที่มากับหน้าฝนที่ควรเฝ้าระมัดระวังเป็นพิเศษ มีอะไรบ้าง

จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

ไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน

โรคไข้เลือดออก ที่ต้องคอยระวังในช่วงหน้าฝน สาเหตุจากน้ำฝนที่กลายเป็นน้ำขังจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่วางไข่ของยุงได้เป็นอย่างดี “ยุงลาย” จึงเป็นพาหะนำโรคชั้นดีของ “ไข้เลือดออก” 

อาการต้องสงสัย : หากได้รับเชื้อลูกจะมีไข้สูง กินยาเช็ดตัวเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล รู้สึกอ่อนเพลีย มีอาการปวดหัว ปวดท้อง ปวดกระบอกตา ถ้าปล่อยให้ไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดงขึ้น อาจมีจ้ำเลือดขึ้น หรือมีเลือดออก ควรพาลูกไปหาหมอก่อนที่จะมีอาการรุนแรงมากถึงขั้นช็อค อาเจียนเป็นเลือด และเสียชีวิตได้ 

วิธีป้องกันโรคเลือดออกให้ลูกน้อย 

พยายามป้องกันไม่ให้ลูกถูกยุงกัด เช่น การตรวจดูภายในห้องก่อนพาลูกขึ้นนอน และปิดประตูเพื่อป้องกันยุง หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่เหมาะสำหรับผิวของลูกน้อย เป็นต้น 
พยายามอย่าให้มีน้ำขังอยู่ตามภาชนะต่างๆ กำจัดแหล่งที่คิดว่ายุงลายจะมาวางไข่ 
หากลูกมีไข้ในระยะ 2-3 วันแรกที่อาการไม่ชัดเจน ให้รักษาอาการเบื้องต้นด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น และกินยาลดไข้ ดื่มน้ำให้มาก และคอยเฝ้าสังเกตอาการ เมื่อพบอาการที่ผิดปกติให้รีบพาลูกไปหาหมอทันที

จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

โรคไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคฮิตที่แถบจะเกิดได้ทั้งปีและทุกฤดู แต่จะพบผู้ป่วยมากที่สุดในช่วงหน้าฝน ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้สำหรับคนทุกวัย 

อาการต้องสงสัย : อาการไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นสำหรับเด็กมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่เด็กจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว และปวดเมื่อยร่างกาย มีอาการไอ เจ็บคอ ซึ่งหากเกิดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ อาจมีอาการรุนแรง เช่น เด็กจะหายใจเร็ว หายใจลำบาก จนถึงหยุดหายใจได้ หากลูกตัวร้อนติดต่อกัน 2-3 วัน ควรรีบนำไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการทันที 

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้ลูกน้อย 

พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนเสริมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาล โดยสามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป 
สอนให้ลูกหมั่นล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งหลังจากเล่นหรือกลับมาจากนอกบ้าน 
ทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย กินร้อน และใช้ช้อนกลางเสมอ

จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

โรคตาแดง

โรคตาแดงที่มักระบาดในช่วงหน้าฝนเกือบทุกปีเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส adenovirus ปะปนมากับฝุ่นละออง น้ำไม่สะอาดเข้าตา หรือพาหะอย่างแมงหวี่ แมลงวัน และมักแพร่ระบาดในที่ชุมชน เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือสถานที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เด็กๆ จึงมักจะติดโรคตาแดงกันได้ง่าย 

อาการต้องสงสัย : เด็กจะมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา มีน้ำตาไหล ขี้ตาเยอะ ทำให้ขยี้ตาบ่อย เยื่อบุตาจะค่อยๆ แดงขึ้น จนถึงขั้นทำให้ตาแดงก่ำ และอาจเกิดการลามไปที่ตาอีกข้างหนึ่งได้หากไม่ได้รับการป้องกัน 

วิธีป้องกันโรคตาแดงให้ลูกน้อย 

สอนและดูแลลูกน้อยไม่ให้นำมือที่ไม่สะอาดมาขยี้ตา 
ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อต้องจับบริเวณใบหน้าหรือขยี้ตา 
หากมีฝุ่นละอองเข้าตาควรพาลูกไปล้างด้วยน้ำสะอาด 
ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า 
หากลูกมีอาการคล้ายตาแดง ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่หากไม่เกิดการติดเชื้อรุนแรง อาการจะหายไปเองภายใน 1-3 สัปดาห์ 
งดกิจกรรมที่ใช้สายตาเป็นเวลานาน และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง

โรคท้องเสียเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า และอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากการที่ลูกใช้มือไปสัมผัสกับของเล่น หรือเมื่อมือไม่สะอาดก็นำมาหยิบจับอาหารเข้าปาก อันเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าตัวเล็ก ซึ่งทำให้เด็กเล็กมีการติดเชื้อได้ง่าย 

อาการต้องสงสัย : มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน เด็กบางคนอาจมีไข้สูง แต่หากมีอาการท้องเสียถ่ายเป็นน้ำ จะทำให้เด็กขาดน้ำ และช็อคได้ 

วิธีป้องกันโรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วงให้ลูกน้อย 
ดูแลสุขภาพลูกน้อย ในด้านความสะอาดทั้งทางร่างกาย และอาหารการกิน การเล่นร่วมกัน การใช้ของเล่นอย่างเหมาะสม 
การพาลูกไปฉีดวัคซีนโรต้าเพื่อป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรต้าไวรัส สามารถพาลูกไปรับวัคซีนได้ตั้งแต่ 2 เดือน เพราะช่วงนี้เด็กจะเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อที่อยู่รอบตัวแล้ว ภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กยังไม่เต็มที่จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากจะพบมากและเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กๆ ในช่วงวัยเรียนอนุบาลถึงประถม และสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส เอนเตอโรไวรัส 71 ที่สามารถติดต่อกันด้วยการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ อาจจะเกิดจากการสัมผัสผ่านสิ่งต่างๆ และติดต่อกันโดยไม่รู้ตัว เพราะโรคมือเท้าปากจะมีอาการให้เห็นภายหลังที่ได้รับเชื้อ 1-2 สัปดาห์ 

อาการต้องสงสัย : สังเกตเห็นว่าเด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มใสๆ ขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ที่ขา มีแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก หรือก้นร่วมด้วย เมื่อเป็นแล้วเด็กจะกินอาหารและน้ำไม่ค่อยได้เพราะอาการเจ็บแผลในปาก อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ไม่ควรปล่อยให้เด็กมีไข้สูงเกินไป อาจทำให้ชักได้และบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เมื่อสังเกตว่าลูกมีอาการผิดปกติควรรีบพาไปหาหมอทันที 

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปากให้ลูกน้อย 

ควรจัดหาอุปกรณ์หรือภาชนะส่วนตัวสำหรับลูกน้อยเมื่อลูกไปโรงเรียน เช่น แก้วน้ำหรือกระติกน้ำ 
สอนลูกให้ใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อทานอาหารร่วมกับคนอื่น 
ปลูกฝังให้ลูกล้างมือทุกครั้งในกรณีที่สัมผัสของเล่นหรือมีการใช้ของร่วมกัน 
ดูแลความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกอย่างที่เด็กอาจจะนำเข้าปาก 
ยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ แต่โดยปกติโรคนี้เมื่อเป็นแล้วหากไม่มีอาการรุนแรงหรือโรคแทรกซ้อนจะหายเองประมาณ 1 สัปดาห์

จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

ป้องกันโรคที่มากับหน้าฝน

เพราะลูกน้อยยังมีภูมิต้านทานไม่เท่ากับผู้ใหญ่ การป้องกันและดูแลสุขภาพของลูกน้อยจึงเป็นเรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยปลูกฝังวินัยลูกให้ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ กินช้อนกลางร่วมกับผู้อื่น การดื่มน้ำ รับประทานอาหารที่สะอาด และสุกเสมอ การชวนลูกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และการเข้านอนหลับเป็นเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นวิธีการการป้องกัน ระมัดระวัง และรับมือโรคของเด็กที่มาในช่วงหน้าฝน หรือในทุกฤดูได้อย่างง่ายๆ 

จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน

ที่มา th.theasianparent.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์