จากใจ “ลูก” ถึง “พ่อ”

ผ่านไป 13 วันหลัง “ในหลวงเสด็จสวรรคต”...วันนี้ผมมานั่งเปิดดูไฟล์ภาพที่ผมเคยมีโอกาสบันทึกภาพพระองค์ท่าน 

แม้ผมจะเป็นช่างภาพ แต่เนื่องจากไม่ได้เป็น “ช่างภาพสายวัง” ผมจึงแทบไม่มีโอกาสได้ฉายพระรูปในหลวง เท่าที่จำได้มีเพียงครั้งสองครั้งที่ผมได้ฉายพระรูปพระองค์ท่านในงานสวนสนามในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 

แต่ผมก็ยังโชคดี เพราะมีโอกาสได้เข้าร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกมหาสมาคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 

ผมถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตช่างภาพข่าวธรรมดาสามัญคนหนึ่ง 

วันนั้นคลื่นพสกนิกรนับล้านพร้อมใจกันสวมเสื้อเหลืองหลั่งไหลกันมาทั่วสารทิศ แน่นขนัดเต็มลานพระบรมรูปทรงม้า ไปจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ในส่วนของช่างภาพข่าวมีการจัดให้อยู่ทั้งรอบใน และรอบนอก ผมได้อยู่โซนรอบนอกซึ่งเจ้าหน้าที่จัดให้ช่างภาพอยู่บริเวณสแตนด์เพื่อความสะดวกในการบันทึกภาพไม่ต้องเบียดเสียดกับประชาชน 

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น 

ก่อนที่พระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จฯ มาถึงไม่นาน ทั้งช่างภาพและประชาชนถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ผมเข้าใจดีว่านาทีนั้นทุกคนต่างก็ต้องการจะชื่นชมพระบารมีให้ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้กระทั่งผมเอง 

แม้ด้านหนึ่งผมจะไปอยู่ตรงนั้นเพื่อทำหน้าที่ “ช่างภาพ” เพื่อบันทึกภาพประวัติศาสตร์ แต่อีกด้าน ผมก็คือพสกนิกรของพระองค์ท่าน ที่ปรารถนาจะเข้าใกล้พระองค์ท่านให้มากที่สุดเช่นกัน 

แม้วันนั้นผมจะนำเลนส์เทเลโฟโต้ 400 มิลลิเมตร เอฟสต็อป 5.6 ติดตัวไปด้วย แต่เนื่องจากระยะห่างจากจุดที่ยืนถ่ายภาพ กับสีหบัญชรที่พระองค์ท่านเสด็จออกมา ห่างประมาณ 100 เมตร ทำให้ภาพที่บันทึกได้ เล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับของช่างภาพคนอื่น และมุมภาพที่ได้ก็จำกัดไม่หลากหลาย เพราะไม่สามารถเดินไปไหนได้สะดวก 

ความรู้สึกในขณะนั้นตอนแรก เสียดายว่าเราน่าจะถ่ายภาพให้ได้ดีกว่านี้ แต่เมื่อมององค์ประกอบรวมทั้งหมด การที่ได้ภาพมาขนาดนี้ก็ภูมิใจแล้ว เพราะสำคัญที่สุดคือ ได้มีส่วนร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์ต่างหาก  

ไฟล์ภาพชุดนี้ไว้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งส่งเข้ากองบรรณาธิการ อีกส่วนหนึ่งผมนำติดตัวกลับชายแดนใต้ที่ผมมาประจำอยู่ตั้งแต่ปี 2547   

นับตั้งแต่นั้นมา ผมใฝ่ฝันอยากจะบันทึกภาพพระองค์ท่านอีก แต่สุดท้ายก็ไม่มีโอกาส...  

10 ปีผ่านไป วันนี้ผมนำภาพชุดนี้มาเปิดดูอีกครั้ง กับไฟล์ภาพที่หลงเหลืออยู่ แม้คุณภาพของภาพอาจจะด้อยกว่าของช่างภาพท่านอื่นๆ ในเหตุการณ์เดียวกันไปบ้าง แต่ผมก็มีความภาคภูมิใจ ที่ครั้งหนึ่ง ได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่าน แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจสูงที่สุดในชีวิตช่างภาพธรรมดาสามัญคนหนึ่ง 

ทำไมผมมานั่งเปิดดูไฟล์ภาพที่เหมือนเป็น “ลิ้นชักแห่งความทรงจำ” 

เพราะผมรำลึกถึง “ในหลวง” เหลือเกินครับ 

จากใจ “ลูก” ถึง “พ่อ”

จรูญ ทองนวล 

ช่างภาพศูนย์ภาพเนชั่นประจำชายแดนใต้

26 ตุลาคม 2559


จากใจ “ลูก” ถึง “พ่อ”

เมื่อฝิ่นต้นสุดท้ายหายไป

      เมื่อผมอายุเยาว์วัยแปดเก้าขวบ ราวๆ สามสิบปีที่แล้ว ผมมีคำถามในใจว่าป่าบนดอยอินทนนท์ทำไมมันหายไปไหนเกือบหมด แต่เมื่อผมนำคำถามนี้ไปถามคุณปู่ที่กำลังนั่งจักสานตะกร้าไผ่ผสมหวายพร้อมบุหรี่ม้วนโตๆ แล้วควันขาวลอยกระทบจมูกผมแบบแสบๆ มึนๆ เมาๆ คุณปู่เล่าว่า “เมื่อราวตอนปู่อายุได้ประมาณสามสิบห้าต้นๆ ในดึกๆ ค่ำคืนเดือนหงายคืนหนึ่งต้นน้ำของคุณปู่และชาวบ้านได้ถูกรุกรานโดยผู้ไม่หวังดี เสียงต้นไม้ล้มพาดดังกังวานไปทั่วป่า และใจของปู่แทบจะสลายเมื่อรู้ว่าป่าต้นน้ำนั้นเริ่มถูกทำร้ายเข้าให้แล้ว” 

      นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดีของผืนป่าดอยอินทนนท์ และนำไปสู่ความเลวร้ายลงเรื่อยๆ จากหนึ่งต้นกลายเป็นหลายร้อยต้น จากหนึ่งร้อยต้นกลายเป็นภูเขาหัวโล้น จากภูเขาหัวโล้นกลายเป็นไร่ฝิ่นมาแทนที่ เป็นทุ่งมีดอกไม้หลากสีที่สวยสดงดงาม แต่แฝงไปด้วยภยันตราย จากนั้นระบบเศรษฐกิจเฟื่องฟูก็กระจายไปทั่วดอยอินทนนท์ มีการปลูกฝิ่นกันเป็นล่ำเป็นสัน และมีพ่อค้าจากเมืองหลวงขึ้นมาทำมาค้าขายกันแบบเสรี ชีวิตผู้คนก็เริ่มแปรเปลี่ยน ต่างนำตัวเองเข้าสู่กระแสการค้าขายโดยมีฝิ่นเป็นสะพานเชื่อม ผู้คนมาเป็นกลุ่มก้อน เมื่อเศรษฐกิจเดินก็น่าจะมีชีวิตที่ดีและสดใสขึ้น ครอบครัวน่าจะสบายขึ้นกว่าเดิม 

      ชุมชนส่วนใหญ่ที่ดอยอินทนนท์นั้นเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ การทำมาหากินอาชีพหลักคือเกษตรกรปลูกนาขั้นบันไดและทำไร่หมุนเวียน และดอยอินทนนท์นั้นเป็นดอยที่สวยงามสภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ยิ่งสูงก็ยิ่งเย็น จึงเป็นที่ชื่นชอบของพืชชนิดฝิ่นเป็นอย่างมากและสามารถเจริญเติบโตได้ดี ชีวิตคนกะเหรี่ยงปกาเกอะญออย่างพวกเราก็จะพึ่งธรรมชาติเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของแต่ละวันแต่ละครอบครัว แต่เมื่อฝิ่นคือพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาแทนที่ จากที่ไม่รู้จักฝิ่นก็มารู้จักปลูก ลองดมชิมแล้วก็ติด จากหนึ่งคนก็กลายเป็นสองคน หนักๆ เข้าก็ติดกันแทบทุกครัวเรือน จากที่เคยอยู่แบบพอดีพอเพียงก็ไม่พอเสียแล้ว 

      โดยภาพรวมเศรษฐกิจนั้นดี พ่อค้ารวยมีเงินมหาศาลไหลเวียนในชุมชนต่างๆ ทั่วดอย ผู้คนในชุมชนมีอาชีพรับส่งฝิ่นดิบให้พ่อค้าสะพายอาวุธปืนสงครามเดินข้ามดอยเพื่อเอาฝิ่นไปส่งในตัวเมืองหรือตัวอำเภอตามแต่พ่อค้าใครอยู่ที่ไหน ชีวิตชุมชนที่มองว่าน่าดีแต่แล้วในที่สุดความสูญเสียของชุมชนก็เริ่มก่อตัวขึ้น คนที่ติดฝิ่นเริ่มขี้เกียจและไม่พอใช้จ่าย ต่างเริ่มหาของใกล้ตัวเอาไปขายเพื่อซื้อฝิ่นมาสูบ จากข้าวของเล็กๆ เริ่มจะเป็นชิ้นใหญ่และใหญ่ขึ้น และในที่สุดบางครอบครัวก็เริ่มจะสูญเสียที่นาขายฝิ่นเพื่อเอาสูบ เพราะนิสัยคนสูบฝิ่นจะไม่ทำอะไรทั้งวันและจะมีจินตนาการสูง ส่วนครอบครัวผมก็สูญเสียที่นาไปให้คนอื่นจนแทบไม่เหลือถ้าแม่ไม่ได้ห้ามพ่อเอาไว้ 

       ทุกๆ เช้าในหน้าหนาวเวลาผมตื่นนอนและมองไปบนยอดสูงรอบๆ อินทนนท์ สิ่งที่เห็นคือฝิ่นและก็ฝิ่น แต่เมื่อใดก็ตามเข้าสู่หน้าร้อน ยอดภูเขาต่างๆ กลายเป็นทุ่งดอยทะเลทราย เพราะเวลาลมพัดมาทีผมจะเห็นแต่ฝุ่นที่โดนลมพัดไปฟุ้งสู่อากาศเต็มไปหมด ยอดภูเขาสุดสายตาไม่มีต้นไม้มีแต่ดินแดงกับทรายเท่านั้นที่เห็น และตามมาด้วยไฟป่าที่เผาไหม้ป่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ ปี ต้นไม้แทบไม่มีเวลาจะเติบโตได้ทัน ในความเป็นเด็กผมก็มองว่าเราคงไม่มีวันจะได้เห็นต้นไม้ขึ้นตามยอดดอยอีกแล้วและเราคงจะได้เห็นต้นฝิ่นบานสะพรั่งแบบนี้ทุกปีสินะ และเราคงจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตของฝิ่นนำเอาไปขายให้พ่อค้าได้เงินมาแล้วไปซื้อขนมกินและรองเท้าสวยๆ เพื่อใส่ไปอวดเพื่อนๆ ที่โรงเรียน 

      แต่ในช่วงระหว่างนั้น แทบทุกปีพวกเราเด็กๆ จะตื่นกันมากเมื่อได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินมายังดอยอินทนนท์ บางปีก็มาจอดในท้องทุ่งชุมชนบ้านผาหมอน บางปีก็ไปลงจอดที่บ้านขุนกลาง สิ่งที่คุณครูและผู้ใหญ่บอกให้เรารับรู้คือองค์พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาที่ดอยอินทนนท์ หลายๆ ครั้งพวกเราก็ไปรับเสด็จร่วมกับชาวบ้านและไปรับยา เพราะสมัยนั้นพวกเด็กจะเป็นพยาธิกันเยอะมาก บางคนเจ็บป่วยมากๆ หลังจากพระองค์เสด็จฯ กลับผู้ป่วยเหล่านั้นก็ได้รับการไปรักษาต่อไปยังโรงพยาบาลในเมือง แต่การไปรับเสด็จแต่ละครั้งนั้นมีผู้คนเยอะมาก ส่วนตัวผมก็ไม่ได้เห็นพระองค์แบบใกล้ชิด 

      ชีวิตในวัยเด็กทุกๆ เย็นจะต้องเดินไปไล่ควายกลับบ้าน แต่ก่อนจะไปถึงที่ควายอยู่นั้น ผมและเพื่อนๆ จะต้องเข้าไปในไร่ฝิ่นก่อนเพื่อไปเก็บเมล็ดฝิ่นแกะกิน เพราะรสชาติของเมล็ดฝิ่นจะมันๆ เหมือนงาขาว ยิ่งกินยิ่งเพลินแต่ไม่มีผลข้างเคียงกับร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันทุกๆ ปีผมรู้สึกว่าฝิ่นนั้นเริ่มหายไปๆ จากดอยและน้อยลงเรื่อยๆ 

      จนมาปีสุดท้ายที่ผมจำได้คือ ผมไปไล่เก็บเศษยางฝิ่นที่ติดเหลืออยู่บนผลฝิ่นและเอาผลฝิ่นติดมือมาด้วยสี่ห้าลูกมาเก็บเสียบไว้ที่บ้านและไม่ได้คิดว่าเก็บมาเพื่ออะไร จากนั้นผมก็วิ่งออกจากบ้านอย่างดีใจสุดๆ พร้อมฝิ่นก้อนประมาณเหรียญบาทขนาดเล็กเพื่อเอาไปแลกขนมจีนน้ำเงี้ยวปลากระป๋องกับแม่ค้าที่มาตั้งร้านค้ามานมนานแสนนานมาแล้วในหมู่บ้าน ผมได้ยื่นฝิ่นให้แม่ค้าและเขาก็เอาไปชั่งและถามผมกลับมาว่าจะเอาอะไรแลกกับฝิ่น ผมก็ตอบเขาว่า “อยากกินขนมจีนน้ำเงี้ยวปลากระป๋อง” แม่ค้าคนนั้นก็จัดมาให้ผมหนึ่งถ้วยพร้อมกับเงินทอนอีกห้าบาท และในช่วงสามสิบห้าปีที่แล้วนั้นถือว่าเงินยังไม่เฟ้อข้าวของก็ยังไม่แพง 

      หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ยุ่งอะไรกับฝิ่นอีกเลยและมันก็หายไปจากดอยโดยที่ไม่รู้ว่ามันหายไปจากดอยได้ยังไง ผมก็จะสนุกกับการไปโรงเรียน เลี้ยงควายไถนาเมื่อถึงฤดูนามาถึง ไปทอดแหหาปลาลำห้วยได้บ้างไม่ได้บ้าง วันๆ จะมีความสุขกับเวลาที่ใช้ไปในวัยเด็ก 

      ฝิ่นหายไปจากใจผมและทุ่งฝิ่นตามยอดดอยก็หายไปเช่นกันพร้อมกับหญ้าคาขึ้นแทน เมื่อมันถึงฤดูดอกมันแก่เวลาถูกลมพัดมันก็ปลิวไปตามลมสีขาวนวลไปทั้งดอยพร้อมทั้งท้องฟ้าสีสดใส ป่าเริ่มถูกฟื้นฟูถูกปลูกทดแทนขึ้นมาและบางส่วนธรรมชาติก็ซ่อมแซมตัวมันเองโดยการดูแลไม่ให้ไฟป่าเกิดขึ้นอีก 

      ฝิ่นหายไปตอนไหนไม่รู้และสิ่งที่ตามมาหลังจากฝิ่นหายไปคือชีวิตของพวกเรานั้นเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น เราเริ่มเรียนรู้การเพาะปลูกผักผลไม้เมืองหนาวเข้ามาทั้งพืชผักอายุสั้นและอายุยาวเข้ามาแทนที่ฝิ่น ข้าวที่ไม่พอกินพวกเราเริ่มมีข้าวไว้กินมากขึ้นในชุมชน 

      ในเวลาต่อมาพวกเราก็เริ่มได้ยินคำว่าโครงการหลวงเข้ามาแทนที่พร้อมกับชีวิตใหม่โดยไม่มีฝิ่นจากดอยอีกแล้ว ชีวิตชุมชนต่างกลับมาสดใสอีกครั้งพร้อมกับเศรษฐกิจที่ไม่ใช่มาทำร้ายผู้คนบนดอยพื้นที่สูง มาวันนี้ฝิ่นต้นสุดท้ายที่หายและเราได้ป่าต้นน้ำคืนมา มันที่สุดของที่สุดในการทำงานหนักและพระองค์ท่านได้ทำงานเพื่อพวกเราชาวดอยอินทนนท์ 

      พระองค์คือพระผู้ทรงคุณธรรมในการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรของท่านด้วยวิธีที่ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความบอบช้ำทางจิตใจ ทรงทำให้รู้ ให้เข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามวิถีธรรมชาติให้พอดีที่พึงจะมี แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแต่พระองค์มิได้สอนให้เราว่าจะต้องเปลี่ยนตามกระแสโลกทุกอย่างจนไม่มองความสมดุลทางระบบนิเวศธรรมชาติที่คอยหล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลกให้ควบคู่กับการใช้ชีวิตไปด้วยกันได้ 

      ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นคือหนทางแห่งความอยู่รอดในการพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องไปเบียดเบียนธรรมชาติจนเกินความสมดุลกับตัวเองกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ได้พระราชทานไว้นั้นเพียงเพื่อให้คนไทยทุกหมู่เหล่าเกิดความรักความสามัคคีกับคนในชาติ เพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีความสุขกายสุขใจ อยู่ได้อย่างสบายบนผืนแผ่นดินไทยกันทุกคน 


สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ 

อายุ40 ปี

อาชีพ มัคคุเทศก์ และ นักวิจัยท้องถิ่น

จากใจ “ลูก” ถึง “พ่อ”

ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก http://welovethaiking.com/


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์