จิตแพทย์แนะวิธีช่วยลูกน้อย ไปโรงเรียนอย่างมีความสุข

จิตแพทย์แนะวิธีช่วยลูกน้อย ไปโรงเรียนอย่างมีความสุข


ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะต้องนำลูกรักวัยอนุบาลเข้าสู่รั้วโรงเรียน และกลายเป็นภาพชินตาในวันแรกๆ มักจะเห็นภาพของน้องๆ ร้องไห้สะอึกสะอื้น กอดผู้ปกครองแน่น ภาพคุณครูที่ต้องคอยปลอบเด็ก และคอยอธิบายให้ผู้ปกครองฟังว่าไม่ต้องห่วงลูกมากเกินไป แม้ว่าเด็กๆ จะร้องไห้ก็ตาม คุณพ่อคุณแม่บางรายถึงกับลงทุนลางานเพื่อมาเฝ้าเจ้าตัวน้อยด้วยความเป็นห่วงในวันแรกของการไปโรงเรียนเลยทีเดียว


จะว่าไปแล้วความกังวลที่มีต่อลูกนั้นเป็นเรื่อง

ธรรมดา พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า การที่เด็กร้องไห้เมื่อไปโรงเรียนวันแรกๆ นั้น ถือเป็นพัฒนาการตามปกติของเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่เข้าใจในเหตุผลว่าทำไมต้องไปเรียนหนังสือ แม้พ่อแม่จะบอกว่าลูกไปเรียนเถอะจะได้ฉลาด โตขึ้นจะได้มีงานทำ แต่เด็กๆ ก็ยังไม่เข้าใจภาพที่ผู้ใหญ่บอก เพราะไม่สามารถจินตนาการถึงภาพอนาคตที่ไกลขนาดนั้นได้ ยิ่งพ่อแม่บางคนขู่ว่าถ้าไม่ไปเรียนไม่มีงานทำ จะต้องไปเป็นขอทาน กลับยิ่งทำให้เด็กเกิดความกลัวและกังวลมากขึ้น


“พ่อแม่ไม่ควรไปขู่เด็กว่าถ้าไม่ไปเรียนจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะจริงๆ แล้วการที่เด็กร้องไห้เมื่อต้องไปโรงเรียน อาจจะเป็นเพราะยังไม่เข้าใจว่าการไปโรงเรียน ต่างจากการถูกทอดทิ้งอย่างไร ซึ่งในเด็กบางคนอาจจะมีความจำฝังใจที่พ่อแม่ มักจะขู่ตอนที่ร้องไห้หรือดื้อว่า ถ้าร้องไห้เดี๋ยวแม่ไม่รัก เดี๋ยวแม่ไม่เลี้ยงแล้ว เดี๋ยวส่งไปอยู่โรงเรียนประจำอยู่กับครู ไม่ต้องกลับบ้าน ดังนั้น พอถึงเวลาที่ต้องไปโรงเรียนจริงๆ ความทรงจำเรื่องที่พ่อแม่ขู่และอาจฝังอยู่ในใจ ก็ถูกกระตุ้นขึ้นมา ทำให้เข้าใจไปว่า นี่คงถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่จะทอดทิ้งฉัน”

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยให้เด็กน้อยไปโรงเรียนได้อย่างมีความสุขและมั่นใจมากขึ้น พญ.เพียงทิพย์ ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่อาจจะต้องช่วยเตรียมพร้อมลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง มีการส่งเสริมพัฒนาการการใช้มือ ใช้ขาให้แข็งแรง รวมถึงการฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักใช้ช้อน ฝึกการขับถ่าย ฝึกการใส่เสื้อผ้าเอง

“เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย พอไปโรงเรียนครูฝึกให้ทำอะไรแล้วทำไม่ได้ แต่เพื่อนทำได้ เด็กก็จะรู้สึกด้อย ไม่มั่นใจ รู้สึกแตกต่าง หรือรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลเหมือนที่บ้าน เขาก็จะยิ่งไม่อยากไปโรงเรียน บางรายพบว่าเหตุผลที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เพราะติดพี่เลี้ยง เนื่องจากตอนอยู่บ้านพี่เลี้ยงทำให้ทุกอย่าง ดังนั้น พ่อแม่ต้องช่วยเหลือลูกให้ถูกทาง คือช่วยให้เขาช่วยตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ทำให้เขาสบาย จนทำอะไรไม่เป็นเลย ขณะที่คุณครูก็อาจจะต้องลดความดุลง เพราะการที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน บางครั้งเป็นเพราะกลัวครูดุ หรือมีการขู่เด็กเกิดขึ้น ซึ่งด้วยความเป็นเด็ก เขาอาจไม่สามารถบ่นออกมาเป็นคำพูดได้ เลยสะท้อนออกมาเป็นอาการทางกาย”

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ทิ้งท้ายว่า นอกจากการร้องไห้ไม่ไปโรงเรียนแล้ว ความเครียดที่เกิดขึ้น พ่อแม่อาจพบว่าลูกจะมีการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดขา ปวดแขน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปโดนหรือหกล้ม ทั้งนี้ เป็นเพราะเด็กเกิดความกังวล หรือเครียด ทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดหลั่งออกมา ดังนั้น พ่อแม่และครูก็ต้องช่วยกันสังเกตดู อย่าด่วนไปตัดสินว่าเด็กแกล้งทำสำออย แต่ควรรับฟัง โดยคุณครูอาจจะให้เด็กไปนอนพักห้องพยาบาลก่อน เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีที่ปลอดภัยมาหลบภัย เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้กลับไปเรียนเหมือนเดิม

“ในรายที่พบว่าลูกร้องไห้ไม่หยุด ไม่ยอมไปโรงเรียน และไม่รู้จะหาสาเหตุอย่างไร พ่อแม่อาจจะปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันพ่อแม่รุ่นใหม่ให้ความสำคัญและเข้าใจงานด้านนี้มากขึ้นแล้วว่าเป็นการพัฒนาลูก และหากช่วยเหลือได้ทันจะไม่เพียงทำให้ลูกไปโรงเรียนอย่างมีความสุข แต่ยังมีความมั่นใจด้วย”


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์