ชมลูกอย่าง “ถูกวิธี” By พญ.สาริณี



ชมลูกอย่าง "ถูกวิธี" By พญ.สาริณี

คนไทยสมัยโบราณไม่ชมเด็ก โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน พวกเขาคิดว่าชมมาก เดี๋ยวเด็กเหลิง ทุกวันนี้คนจีนในประเทศจีนก็ยังยึดถือคตินี้กันอยู่ คนไทยปัจจุบันชมลูกมากขึ้นมาก เลียนแบบชาวตะวันตก พวกเขามีงานวิจัยออกมามากมายว่า "ชมดีกว่าไม่ชม"

งานวิจัยบอกว่าการชมทำให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเอง มั่นใจในตัวเอง กล้าหาญ กล้าลองสิ่งใหม่ๆ
แต่ในชีวิตจริงกลับพบว่า เด็กที่ได้รับคำชมบางคนก็มีปัญหา

1. ถ้าไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครชม จะรู้สึกแย่ และไม่มั่นใจเลย
2. รู้สึกสงสัยในคำชมว่าตัวฉันดีอย่างนั้นจริงหรือ
3. คิดว่าที่คนอื่นชม เพราะต้องการอะไรบางอย่างจากตัวเขา ไม่ใช่คำชมที่จริงใจหรอก
ใครที่มีประสบการณ์ตรงว่าลูกเรามีปัญหาอย่างนี้ คงไม่ค่อยประทับใจกับการชมสักเท่าไหร่

หมออยากให้ความรู้ที่ถูกต้อง 2 เรื่องก่อน
1. ในเด็กเล็กถึงวัยอนุบาล ให้พ่อแม่ชมลูกให้มากที่สุด ไม่ต้องกลัวว่าจะเยอะเกิน ไม่ต้องกลัวอันตรายจากการชมลูกแต่อย่างใด
2. ในวัยประถมขึ้นไป คำชมที่ "มีคุณภาพ" สำคัญกว่า "ปริมาณ" คำชม

แล้วอย่างไรคือคำชมที่ถูกต้อง เหมาะสม
1. ต้องเป็นคำชมที่ "จริงใจ" และ "เจาะจง"
เด็กที่รู้เรื่องพอสมควรแล้วจะเริ่มไม่แน่ใจว่าพ่อแม่ชมเขาอย่างจริงใจหรือเปล่า ถ้าพ่อแม่ชม "บ่อยไป" และชมเรื่อยเปื่อย ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับอะไรสักอย่าง รวมถึงคำชมที่ "เว่อร์เกิน"
ขอให้หลีกเลี่ยงการชมลักษณะนี้ ถ้าคิดอะไรไม่ออกจริงๆ ไม่พูดอะไรเลยเสียยังจะดีกว่า

2. ชมสิ่งที่ "พยายามทำให้ดีขึ้นได้" ดีกว่าการชมสิ่งที่ติดตัวเด็กมา และ "เปลี่ยนแปลงไม่ได้"
เช่น ชมว่าลูก "ขยัน" ฝึกซ้อมร้องเพลง และมีความ "มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ" ทำให้ลูกร้องเพลงเก่งขึ้นอย่างมากจริงๆ ดีกว่าการชมลูกว่า เสียงของลูกไพเราะอย่างกับเสียงนางฟ้า เสียงสวรรค์
คำชมอย่างหลังไม่ทำให้ลูกรู้สึกดีได้เต็มที่ และกลับจะกลัวว่าถ้าวันหนึ่งเสียงของเขาเป็นอะไรไป คงไม่มีใครชื่นชมเขาอีกแล้ว

3. ชมด้วยการ "บรรยาย" สิ่งที่ลูกทำ ดีกว่าชมแบบคำสั้นๆ สำเร็จรูปอย่าง เก่งมาก ดีมาก เยี่ยมมาก
เช่น ลูกเอางานศิลปะทำที่โรงเรียนมาอวดพ่อแม่ ท่านสามารถชมด้วยการบรรยายว่า แม่ชอบไอเดียของลูกจัง ดูแล้วรู้สึกสดชื่น สีมันสดใสดี ตรงที่เอากากเพชรมาโรยนี่ก็แจ๋ว อย่างกับนั่งมองพลุวันสิ้นปีของจริงเลย

4. ไม่ชมในสิ่งที่ดูง่ายและธรรมดาเกินไป เมื่อเทียบกับวัยของเด็ก เช่น ชมลูก 10 ขวบว่าแต่งตัวเองเป็นแล้วถ้าชมอย่างนี้กับเด็ก 3 ขวบ ลูกคงมีความสุขมาก แต่พอใช้ประโยคนี้กับเด็ก 10 ขวบ ลูกอาจรู้สึกว่าคำชมนี้ไม่จริงใจเลย หรือเห็นเขาโง่ใช่ไหม ของจิ๊บจ๊อยอย่างนี้คิดว่าเขาทำไม่ได้หรือยังไง

5. ไม่ชมพร่ำเพรื่อกับสิ่งที่เป็น "ความชอบ" ของลูกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น ลูกชอบกินมะเขือเทศ
แม่ชอบมากที่ลูกชอบ เพราะแม่มีความเชื่อว่ามะเขือเทศมีวิตามินซีสูง กินแล้วผิวพรรณดี ไม่เจ็บป่วยง่ายทุกครั้งที่ลูกกินเพราะเขาอยากกินของเขาเอง แม่ก็ชมเสียยกใหญ่ ชมทุกครั้ง
วันหนึ่งลูกจะเริ่มสงสัยในตัวเองว่า นี่เขากินมะเขือเทศเพราะอยากได้คำชมจากแม่ หรือว่าเขากินเพราะอะไรกันแน่ ซึ่งความรู้สึกอย่างนี้สามารถเปลี่ยนแปลง "ทัศนคติ" ที่เขามีต่อมะเขือเทศไปได้เลย

6. ไม่ชมด้วยการ "เปรียบเทียบ" กับคนอื่น เพราะทำให้เกิด

ปัญหา 2 อย่างหลักๆ คือ
แรงจูงใจในการทำเรื่องนั้น เป็นเพียงเพราะอยากทำให้ดีกว่า หรือเสร็จก่อน ถ้าโอกาสไหนไม่มีใครให้เปรียบเทียบ ก็แทบจะไม่เหลือแรงจูงใจดีๆ ในการทำอะไรเลย
และสอง เด็กจะมีทัศนคติว่า ต้องชนะ แพ้ไม่ได้ ผู้แพ้ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่มีใครมาชื่นชม
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เหมือนเป็น "ศิลปะขั้นสูง" สำหรับพ่อแม่ที่ชมลูกเป็นเรื่องปกติกันภายในครอบครัวอยู่แล้ว ท่านแค่ค่อยๆ ฝึกฝนตนเองให้เก่งขึ้นวันละนิด วันละหน่อยก็พอ คำชมที่มีคุณภาพจะส่งผลดีต่อลูกๆ และความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกอย่างแน่นอน
แต่สำหรับพ่อแม่อีกจำนวนมากที่ยัง "ปากหนัก" ชมลูกไม่เป็น เพราะท่านก็ไม่ได้เติบโตมากับคำชม ท่านไม่เคยเห็นต้นแบบดีๆ หรือแม้กระทั่งตัวท่านเองก็ "โหยหา" คำชมจนกระทั่งท่านไม่รู้จะเอาคำชมตรงไหนแบ่งไปให้ลูกๆ เพราะในจิตใจของท่านยังขาดสิ่งนี้เอาเสียมากๆ

ขอให้พ่อแม่ "ฝึกฝน" การชมลูก แค่พูดชม ยังไม่ต้องกังวลว่าคำชมนี้ถูกหรือผิด ไม่ต้องกลัวว่าจะมีผลข้างเคียงแย่ๆ อะไรกับลูกหรือไม่ขอแค่ชมลูกให้ลูกได้ยิน แค่นี้ก็เหมือน "น้ำทิพย์" ชโลมจิตใจที่แห้งแล้ง และโหยหาคำชมจากพ่อแม่มานานเหลือเกินแล้วหลังจากนั้นพ่อแม่ค่อยๆ ฝึกศิลปะขั้นสูงในการชมลูกต่อไป ทักษะนี้จะติดตัวท่าน มีประโยชน์ต่อตัวพ่อแม่เองเป็นอย่างยิ่งอีกด้วยหมอรับรองว่าเมื่อพ่อแม่ทำสิ่งนี้ ทำไปเรื่อยๆ ลูกๆ ของท่านจะน่ารักขึ้น เป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่มากยิ่งขึ้นและพ่อแม่จะยิ่งประหลาดใจขึ้นไปอีก เมื่อพบว่าเพียงแค่ลูกได้รับคำชม อะไรๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมลูก และความสัมพันธ์กับพ่อแม่มันจะดีได้ขนาดนี้เชียวหรือถ้าบังเอิญลูกของท่านเป็นเด็กที่มีภาษารักหลักเป็น "ถ้อยคำที่เสริมสร้าง"

สุดท้าย หมออยากให้พ่อแม่ที่มีลูกวัยเรียนทุกท่านได้อ่านเพิ่มเติมว่าท่านจะสามารถให้คำชม แล้วลูกๆ ของท่านจะมีแรงจูงใจในการเรียน และรับผิดชอบมากขึ้นได้อย่างไร

ชมลูกอย่าง “ถูกวิธี” By พญ.สาริณี


ชมลูกอย่าง “ถูกวิธี” By พญ.สาริณี


ชมลูกอย่าง “ถูกวิธี” By พญ.สาริณี



ขอบคุณที่มา >> Facebook >>> Dad Mom and Kids


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์