ชื่อแม่น้ำ มาจากไหน?

ชื่อแม่น้ำ มาจากไหน? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


ชื่อแม่น้ำ มีที่มาให้เรียกได้หลายอย่างตั้งแต่โบราณกาล ไม่มีกำหนดตายตัว

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยอธิบาย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2485) ในบทความเรื่องชื่อลำน้ำแม่กลองวินิจฉัยนาม แต่สรุปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

1. เรียกตามตำบลที่ปากน้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา มี ต. บางเจ้าพระยา อยู่ปากน้ำ, แม่น้ำท่าจีน มี ต. บางท่าจีน อยู่ปากน้ำ, แม่น้ำบางปะกง มี ต. บางปะกง อยู่ปากน้ำ

2. เรียกตามตำบลที่ต้นน้ำ เช่น แม่น้ำปิง, แม่น้ำน่าน, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำแม่กลอง

3. เรียกตามชื่อย่านที่ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำท่าจีน เรียกชื่อต่างกันเป็นช่วงๆ ดังนี้ ทางต้นน้ำเรียกแม่น้ำมะขามเฒ่า เมื่อผ่านย่านมะขามเฒ่า (อ. วัดสิงห์ จ. ชัยนาท), เรียกแม่น้ำสุพรรณเมื่อผ่านเมืองสุพรรณ (จ. สุพรรณบุรี), เรียกแม่น้ำนครชัยศรีเมื่อผ่านเมืองนครชัยศรี (อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม)

4. เรียกตามความเคยชิน โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ และยังหาที่มาไม่ได้ เช่น แม่น้ำน้อย (ไหลแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ. ชัยนาท)

อาจมีอย่างอื่นอีกที่ผมไม่รู้

แม่น้ำบางปะกง มาจากไหน?

มีผู้ข้องใจเรื่องแม่น้ำบางปะกงที่ผมเคยเขียนย่อๆไปคราวก่อน จึงจะบอกเล่าให้ชัดเจนเพิ่มอีก

แม่น้ำบางปะกง
เกิดจากแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำนครนายก (จ. นครนายก) กับแม่น้ำปราจีนบุรี (จ. ปราจีนบุรี) ไหลรวมกันที่ อ. บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา แล้วเรียกชื่อใหม่ว่าแม่น้ำบางปะกง ไหลลงอ่าวไทยที่ ต. บางปะกง อ. บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา

แม่น้ำปราจีนบุรี มีต้นน้ำจาก 2 ทาง คือทางเหนือ กับทางใต้

ทางเหนือ ไหลลงใต้ จากทิวเขาใหญ่ มี 4 สาย คือ 1. แม่น้ำพระปรง 2. แม่น้ำหนุมาน 3. ห้วยยาง 4. ห้วยโสมง ทั้ง 4 สาย ไหลไปรวมกันที่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี เรียกแม่น้ำปราจีนบุรี

จากนั้นไหลผ่าน อ. ศรีมหาโพธิ, อ. ประจันตคาม, อ. เมืองปราจีนบุรี

ทางใต้ ไหลขึ้นเหนือ มี 1 สาย เรียกคลองพระสทึง (สทึง เป็นภาษาเขมร แปลว่า คลอง) จากทิวเขาอำเภอต่างๆใน จ. จันทบุรี คือ อ. มะขาม, อ. โป่งน้ำร้อน, และ อ. สอยดาว

ผ่านอำเภอต่างๆใน จ. สระแก้ว คือ อ. วังสมบูรณ์, อ. วังน้ำเย็น, อ. เขาฉกรรจ์, และ อ. เมืองสระแก้ว แล้วรวมกับแม่น้ำพระปรง ไหลไป อ. กบินทร์บุรี รวมกับแม่น้ำหนุมาน เรียกแม่น้ำปราจีนบุรี

(ท้องที่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี จะเห็นว่าเป็นที่รวมรับน้ำอย่างน้อย 5 สาย จากทิศทางต่างๆกัน จึงมีน้ำหลากมารวมท่วมมากกว่าที่อื่น)

บริเวณแนวคลองพระสทึง (ทำแนวเหนือ-ใต้) เป็นที่ดอนกลายเป็นสันปันน้ำ แบ่งน้ำเป็น 2 ส่วน ไหลไปทางตะวันตกลงอ่าวไทย กับไหลไปทางตะวันออกลงโตนเลสาบ กัมพูชา

แม่น้ำบางปะกง ยังมีลำน้ำสาขาอีก 1 สาย เรียกคลองท่าลาด (อยู่ใน จ. ฉะเชิงเทรา) เกิดจากแควระบม (อ. สนามชัยเขต) กับแควสียัด (อ. ท่าตะเกียบ) รวมกันที่ ต. เกาะขนุน อ. พนมสารคาม ไหลผ่าน อ. ราชสาส์น ลงรวมแม่น้ำบางปะกงที่ ต. ปากน้ำ (เจ้าโล้) อ. บางคล้า จ. ฉะเชิงเทรา

ปะกง (ในชื่อบางปะกง) กร่อนจากคำเขมรว่า บงกง แต่อ่าน บ็องกอง แปลว่า กุ้ง แสดงว่าแม่น้ำบางปะกงสมัยโบราณมีกุ้งชุกชุมเป็นที่รู้ทั่วกัน

ทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดหรือเดาขึ้นมาเองโดยไม่ตรวจสอบ แต่สรุปจากอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2545) และจากประสบการณ์ตรงที่เคยไปสำรวจถึงบริเวณต้นน้ำทุกสายหลายปีมาแล้ว

ถึงกระนั้นก็ไม่มั่นใจจะถูกต้องทุกอย่าง เพราะผมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือเข้าใจต่างจากหลายๆท่านก็ได้ ดังนั้นขอให้ทักท้วงที่เห็นว่าบกพร่อง


ชื่อแม่น้ำ มาจากไหน?

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์