ซูมชัดทุกรายละเอียดข่าวใหญ่ ! นาซ่า เจอ น้ำบนดาวอังคาร!


การค้นพบครั้งใหม่จากยานอวกาศมาร์ส รีคอนเนสซองส์ ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter / MRO) แสดงถึงหลักฐานว่าดาวอังคารในปัจจุบันมีน้ำในสถานะของเหลว


รูปที่ 1 แนวเส้นแคบๆสีคล้ำ ยาวประมาณ 100 เมตร เรียกว่า "แนวลายเส้นปรากฏซ้ำตามเนินลาดเอียง" (Recurring Slope Lineae: RSL) ที่ปรากฏไล่จากด้านบนลงมายังด้านล่างของพื้นที่ลาดเอียงบนดาวอังคาร ถูกใช้เป็นข้อสรุปว่าเกิดจากการไหลของน้ำบนดาวอังคารเกิดชั่วขณะตามฤดูกาล

นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ได้ตรวจพบเกลือไฮเดรต บนพื้นที่ลาดเอียงที่มีแนวลายเส้น RSL ที่หลุมอุกกาบาตเฮล (Hale Crater) ซึ่งยืนยันสมมติฐานที่ว่าแนวลายเส้นนี้ เกิดขึ้นจากน้ำในสถานะของเหลว

ส่วนบริเวณด้านบนของพื้นที่ลาดเอียงมีสีฟ้า ไม่เกี่ยวกับน้ำ แต่เป็นเพราะแร่ไพรอกซีน (Pyroxene)

[Credit ภาพ: NASA/JPL/University of Arizona]

 

ด้วยข้อมูลจากอุปกรณ์ถ่ายสเปกตรัมบนยาน MRO นักวิจัยได้ตรวจพบ "แร่ที่มีโมเลกุลน้ำเป็นองค์ประกอบ" (Hydrated minerals) ในบริเวณที่ปรากฏแนวร่องตามพื้นที่ลาดเอียงบางแห่งบนดาวอังคาร แนวร่องสีคล้ำนี้ปรากฏเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา โดยจะคล้ำขึ้นและชัดขึ้นจากด้านบนลงมาด้านล่างของเนินลาด ในช่วงฤดูร้อน ก่อนที่จะจางลงในช่วงฤดูหนาว ซึ่งการปรากฏชัดขึ้น-จางลงสลับกันของแนวร่องบนเนินลาดนี้ พบตามพื้นที่บนดาวอังคารบางแห่งที่มีอุณหภูมิมากกว่า -23 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน

 

"การสำรวจดาวอังคารเคยเป็น "การไล่ตามหาน้ำ" เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตในเอกภพ และตอนนี้ พวกเราก็ได้ตรวจสอบถึงสิ่งนี้ให้แน่ชัดแล้ว" คำกล่าวจาก John Grunsfeid นักบินอวกาศและรองผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารภารกิจวิทยาศาสตร์ ขององค์การ NASA ของสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน "นี่เป็นก้าวสำคัญที่ยืนยันว่ามีน้ำไหลอยู่บนดาวอังคารในปัจจุบัน แม้จะเป็นน้ำเค็ม"

 

การไหลลงเนินเหล่านี้ เรียกกันในชื่อ "แนวลายเส้นปรากฏซ้ำตามเนินลาดเอียง" (Recurring Slope Lineae; RSL) ซึ่งเคยคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำในสถานะของเหลว การค้นหาถึงเกลือไฮเดรต (Hydrated salt: เกลือที่มีโมเลกุลน้ำเป็นองค์ประกอบ) บนเนินลาดเอียง จะช่วยบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างน้ำกับแนวร่องสีคล้ำ โดยการที่เกลือไฮเดรตเป็นส่วนประกอบนี้ จะทำให้จุดเยือกแข็งของน้ำต่ำลง

 

นักวิทยาศาสตร์คิดว่าน่าจะมีน้ำเค็มไหลอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคารในระดับตื้นๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำมากพอที่จะทำให้พื้นผิวดาวชุ่มชื้นขึ้นและปรากฏคล้ำลง


ซูมชัดทุกรายละเอียดข่าวใหญ่ ! นาซ่า เจอ น้ำบนดาวอังคาร!

รูปที่ 2 แอนิเมชันแสดงการเปลี่ยนแปลงของลักษณะแนวลายเส้น RSL บนพื้นที่ลาดเอียงของหลุมอุกกาบาตนิวตัน (Newton Crater) บนดาวอังคารในช่วงฤดูร้อน ซึ่งภาพนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในรายงานการวิจัย เมื่อปี ค.ศ.2011

[Credit ภาพ: NASA/JPL/University of Arizona]

 

"พวกเราตรวจพบเกลือไฮเดรตเฉพาะในช่วงที่แนวร่องที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเหล่านี้ขยายตัวกว้างที่สุด ซึ่งตัวแนวลายเส้นสีคล้ำเอง หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดแนวลายเส้นเป็นแหล่งของกระบวนการไฮเดรชัน (hydration: กระบวนการที่โมเลกุลน้ำเข้ามาเป็นส่วนประกอบของแร่หรือสารประกอบ) ซึ่งไม่ว่าจะในกรณีไหนก็ตาม การตรวจพบเกลือไฮเดรตบนเนินลาดเอียง หมายถึงการที่น้ำมีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของแนวร่องเหล่านี้" คำกล่าวโดย Lujendra Ojha จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Tech) ผู้วิจัยหลักในการศึกษาที่ตีพิมพ์รายงานลงในวารสารวิจัย Nature Geoscience เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.2015

 

Ojha ได้เริ่มสังเกตเห็นร่องรอยที่น่าสงสัยเหล่านี้ ในขณะที่เขายังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยแอริโซนา เมื่อปี ค.ศ.2010 ด้วยภาพถ่ายจากกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง HiRISE (ย่อมาจาก High Resolution Imaging Science Experiment) ของยาน MRO ซึ่งกล้อง HiRISE ได้สังเกตการณ์แนวลายเส้น RSL นับสิบพื้นที่บนดาวอังคาร งานศึกษาใหม่นี้ได้ทำการเปรียบเทียบผลจากสังเกตการณ์จากกล้อง HiRISE กับแผนที่การกระจายตัวของแร่ โดยอุปกรณ์ถ่ายสเปกตรัม CRISM (ย่อมาจาก Compact Reconnaissance Imaging Spectrometer for Mars) บนยาน MRO เช่นเดียวกัน


ซูมชัดทุกรายละเอียดข่าวใหญ่ ! นาซ่า เจอ น้ำบนดาวอังคาร!

รูปที่ 3 ภาพถ่ายบริเวณหลุมอุกกาบาต Garni แสดงแนวลายเส้น RSL จำนวนมากปรากฏจากสันขอบหลุมอุกกาบาตลงมาตามความลาดเอียงลงมาด้านล่าง แนวร่องเหล่านี้มีความยาวในระดับไม่กี่ร้อยเมตร

[Credit ภาพ: NASA/JPL/University of Arizona]

 

การสังเกตการณ์โดยอุปกรณ์ถ่ายสเปกตรัม พบเกลือไฮเดรตตามพื้นที่ที่มีแนวลายเส้น RSL หลายแห่ง เฉพาะช่วงฤดูร้อนที่แนวร่องปรากฏคล้ำและกว้าง แต่เมื่อตรวจสอบพื้นที่เดียวกันในช่วงฤดูหนาวที่แนวลายเส้น RSL ปรากฏจางๆ กลับไม่ตรวจพบเกลือไฮเดรต

 

Ojha และคณะผู้ร่วมวิจัย ได้ตีความจากข้อมูลสเปกตรัมเหล่านี้ว่ามาจากแร่ที่มีโมเลกุลน้ำเป็นองค์ประกอบ ที่ชื่อ "เปอร์คลอเรต" (Perchlorates; ClO4-) ซึ่งเกลือไฮเดรตชนิดที่สอดคล้องที่สุดกับข้อมูลที่ได้จากยาน MRO น่าจะเป็นสารผสมระหว่าง แมกนีเซียมเปอร์คลอเรต (Mg(ClO4)2), แมกนีเซียมคลอเรต (Mg(ClO3)2) และโซเดียมเปอร์คลอเรต (NaClO4) โดยสารประกอบเปอร์คลอเรตบางตัวที่กล่าวถึงนี้ เมื่อละลายเจือปนกับน้ำ สามารถทำให้สารละลายอยู่ในสถานะของเหลวในอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำบริสุทธิ์ (0 องศาเซลเซียส) ได้ถึงอุณภูมิประมาณ -70 องศาเซลเซียส ขณะที่บนโลกนี้ สารประกอบเปอร์คลอเรตตามธรรมชาติมักพบได้ตามทะเลทราย และสารประกอบเปอร์คลอเรตบางชนิดก็ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงจรวด

 


ซูมชัดทุกรายละเอียดข่าวใหญ่ ! นาซ่า เจอ น้ำบนดาวอังคาร!

รูปที่ 4 ภาพถ่ายแสดงแนวลายเส้น RSL ปรากฏลงมาตามความลาดเอียงที่หันไปทางทิศตะวันตกของพื้นที่ Coprates Chasma ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาว

[Credit ภาพ: NASA/JPL/University of Arizona]

 

นักวิทยาศาสตร์เคยตรวจพบสารประกอบเปอร์คลอเรตบนดาวอังคารก่อนหน้านี้แล้ว โดยทั้งยานลงจอดฟีนิกซ์ (Phoenix) และรถหุ่นยนต์คิวริออซิตี้ (Curiosity) ขององค์การ NASA พบว่าเจือปนอยู่ในดินดาวอังคาร ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่ายานอวกาศไวกิ้ง (Viking) ได้ตรวจพบเกลือเหล่านี้ ในช่วงคริสตศตวรรษ 1970 แต่การตรวจพบสารประกอบเปอร์คลอเรตตามแนวลายเส้น RSL ในสภาพที่สารเหล่านี้มีน้ำเจือปน ตามพื้นที่ต่างๆนอกจากยานสำรวจที่อยู่บนพื้นผิวดาว นับเป็นการตรวจพบสารประกอบเปอร์คลอเรตบนดาวอังคารครั้งแรกจากยานที่โคจรรอบตัวดาว

 

ยานมาร์ส รีคอนเนสซองส์ ออร์บิเตอร์ (MRO) ได้ทำการสำรวจดาวอังคารตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 โดยมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 6 ตัว

 

"สมรรถภาพของยาน MRO ที่สังเกตการณ์ดาวอังคารได้หลายปีดาวอังคาร (687 วันของโลก) และอุปกรณ์บนยาน สามารถตรวจรายละเอียดของร่องรอยเหล่านี้ เปิดทางสู่การค้นพบอย่างในครั้งนี้ จากการพิสูจน์ถึงแนวร่องตามฤดูกาล สู่ความคืบหน้าในการอธิบายว่าพวกมันคืออะไร" Rick Zurek นักวิทยาศาสตร์ในโครงการยาน MRO จากห้องปฏิบัติการณ์เครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การ NASA กล่าว

 

สำหรับ Ojha แล้ว การตรวจพบครั้งใหม่นี้ เป็นการพิสูจน์มากขึ้นว่าแนวเส้นปริศนาที่เขาเริ่มพบว่าทำให้พื้นที่ลาดเอียงบนดาวอังคารดูคล้ำขึ้น เมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นผลมาจากน้ำที่มีอยู่บนดาวอังคารในปัจจุบัน

 

"เมื่อผู้คนส่วนใหญ่พูดถึงน้ำบนดาวอังคาร พวกเขามักพูดถึงน้ำสมัยดึกดำบรรพ์ หรือในสภาพน้ำแข็ง" Ojha กล่าว "ในตอนนี้พวกเราได้รู้ว่ามีเรื่องราวมากกว่านั้น นี่เป็นการตรวจพบทางสเปกตรัมครั้งแรกที่สนับสนุนสมมติฐานว่าการเกิดแนวลายเส้น RSL เกิดจากน้ำในสถานะของเหลวอย่างชัดเจน"

 

การค้นพบครั้งนี้นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง จากการสำรวจดาวอังคารขององค์การ NASA

 

"มียานอวกาศหลายลำในเวลาไม่กี่ปีทำการไขปริศนานี้ และตอนนี้พวกเรารู้ว่ามีน้ำในสถานะของเหลวบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ที่หนาวเย็นและแห้งแล้งดวงนี้" คำกล่าวของ Michael Meyer นักวิทยาศาสตร์หลักในโปรแกรมสำรวจดาวอังคารขององค์การ NASA กล่าว "เมื่อพวกเราศึกษาดาวอังคารกันมากขึ้น ก็ได้เรียนรู้ว่าสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นอย่างไร และพื้นที่ใดที่มีทรัพยากรสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในอนาคต"


ซูมชัดทุกรายละเอียดข่าวใหญ่ ! นาซ่า เจอ น้ำบนดาวอังคาร!

รูปที่ 5 ภาพถ่ายแสดงแนวลายเส้น RSL ตามพื้นที่ลาดเอียงที่หลุมอุกกาบาต Horowitz

[Credit ภาพ: NASA/JPL/University of Arizona]


ซูมชัดทุกรายละเอียดข่าวใหญ่ ! นาซ่า เจอ น้ำบนดาวอังคาร!

ขอบคุณ narit.or.th
แปลและเรียบเรียงโดย

 

พิสิฏฐ นิธิยานันท์

เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์

ศูนย์บริการวิชาการและสารสนเทศดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

แหล่งที่มาของข่าว: http://solarsystem.nasa.gov/news/2015/09/28/nasa-confirms-evidence-that-liquid-water-flows-on-todays-mars



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์