ดื้อยา ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

ดื้อยา ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม



 ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ระบบยาของไทยมีปัญหามาช้านาน โดยเฉพาะในเรื่องการเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนแอ ส่งผลให้การสะท้อนข้อมูลกลับไปยังผู้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบยายังไม่ดีพอ

"จากรายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2552 สรุปปัญหาหลักๆ ที่พบตามกรอบของระบบยา พบว่า
            
1. ในขั้นตอนการผลิตและพัฒนายาในประเทศจากตัวชี้วัดการพึ่งตนเองด้านยาของไทย พบว่าศักยภาพของอุตสาหกรรมยาไทยอยู่ในขั้นวิกฤตยาที่ใช้ในประเทศมากกว่า 75% ต้องพึ่งพายาสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 25% ซึ่งเป็นการผลิตในประเทศ ก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากกว่า 90%"    
            
2. ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยของยาสะท้อนให้เห็นว่า ยังคงพบยาที่ไม่เหมาะสมอยู่ในโรงพยาบาลร้านยา และชุมชน
            
3. คนไทยต้องกินยาที่มีราคาแพงกว่า เมื่อเทียบกับราคาสากลในต่างประเทศ
            
4. ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พบว่า มีการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สูงถึง 42%

             "การแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวร่วมที่เข้มแข็งและการสั่งสมชุดประสบการณ์ร่วมกัน ระหว่างส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงลดปริมาณการใช้ยาโดยรวมของทั้งประเทศที่เกินจริงเป็นเรือนหมื่น"

             "โครงการสานศิลป์ในป่าสวย" จึงเกิดขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ เห็นถึงความสำคัญในการใช้ศิลปะแนะนำยา ดึงดูดความสนใจของประชาชนให้เห็นผลเสียของการกินยาเกินขนาด

             โดย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ยอมรับว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ เป็นเรื่องยากที่จะไปกระตุ้นความคิดความเข้าใจ และความตระหนักของประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ให้เข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้การนำศิลปะเข้ามาสู่เรื่องการรณรงค์เพื่อให้คน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกระตุ้นและแสดงความห่วงใยออกมาผ่านงานศิลปะ

             "ความจริงแล้วปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะไม่ใช่แค่เรื่องของโรงพยาบาล แต่ได้ก้าวล้ำไปสู่เรื่องปัญหาใหญ่ทางสังคมการให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เห็นธรรมชาติจะได้สร้างสรรค์งานศิลปะ เรื่องไมโครของจุลินทรีย์ที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งในการดื้อยา เพื่อสะท้อน ชี้จุด และเพิ่มแรงบันดาลใจ ซึ่งเชื่อว่าการใช้ศิลปะในการรณรงค์จะได้ผลและตัวเราต้องเข้าใจศิลปะ ไม่ใช่ว่าภาพที่ออกมาคนอ่านแล้วจะเข้าใจเลย และทำให้มีความรู้เลย แต่ศิลปะสามารถเป็นแรงบันดาลใจ เพราะศิลปะมีความพิเศษเป็นสิ่งที่ดี    

             "การที่เลือกศิลปะมาเป็นสื่อนั้น เนื่องจากมีตัวอย่างบางประเทศได้ทำมาแล้ว เพราะสามารถดึงคนมาเป็นส่วนร่วมได้ สามารถกระตุ้นให้คนตระหนักคิด ฉุกคิดตามได้ความตื่นตัวตรงนี้นับว่าดี ซึ่งอาจจะมีการขยายการจัดต่อบางพื้นที่ได้ ซึ่งทุกคนก็ตื่นตัวเรื่องปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะอยู่บ้าง" ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว  

             ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยง รองสสส.สะท้อนพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศไทยว่าข้อมูลจากสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา (อย.)ระบุว่า ประเทศไทยผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ รวมถึงยาปฏิชีวนะสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของการผลิตและนำเข้ายาทั้งหมด โดยในปี2550 การผลิตและนำเข้ายากลุ่มปฏิชีวนะ มีมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาทหรือประมาณ 20% ของมูลค่ายาทั้งหมด

             "ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานสี่ จากข้อมูลจะพบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการใช้ยา จึงเป็นความจำเป็นที่ สสส. จะเข้าไปสนับสนุนแผนงาน กพย. เพื่อเน้นให้เกิดการเฝ้าระวังการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มยาบางกลุ่มที่มีการใช้มาก ใช้โดยไม่จำเป็นและเกิดผลเสียสูง"

             แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายในการกระตุ้นความคิดความเข้าใจ และความตระหนักของประชาชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้ แต่คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งแก้ไขและกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงภัยร้ายที่กำลังคืบคลานใกล้ตัวเราเข้าไปทุกที



 



ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส. และ วิชาการดอทคอม
thaihealth

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์