ดู ริ้วเมฆ บอกฝน

ดู ริ้วเมฆ บอกฝน


เทคนิคพยากรณ์ด้วยตาเปล่า

        ช่วงนี้ฝนตกหนักทุกวัน สำหรับคนที่ทำงานกลางแจ้งไม่ว่าจะเป็นค้าขาย เดินทาง และอื่น ๆ บางส่วนอาจได้ รับผลกระทบ การเตรียมตัว   ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเอาใจใส่ในภาวะฟ้าฝนกระหน่ำ และสิ่งหนึ่งที่ช่วยรับมือกับ ฝนที่เกิดขึ้นได้คือ การสังเกตเมฆบนฟ้า ที่เสมือนการเตือนล่วงหน้า
   
เพื่อเตือนให้ประชาชนทั่วไปรับทราบถึงเมฆฝนฟ้าคะนองที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา แนะนำการดูเมฆว่า การดูเมฆไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่ความชำนาญ ซึ่งสถานที่ในการดูถือเป็นส่วนสำคัญ โดยพื้นที่เหมาะสมต้องอยู่ในพื้นที่โล่ง หรือบนตึกสูง ไม่ควรดูในพื้นที่ซึ่งมีตึกสูงล้อมรอบ เพราะจะทำให้เห็นเมฆบนผืนฟ้าไม่หมด
   
เมฆฝนที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดคือ เมฆที่อยู่ในระดับต่ำบนผืนฟ้า ที่จะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง โดยก่อตัวเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งเมฆที่ก่อตัวเป็น แนวตั้ง (เมฆคิวมูโลนิมบัส) มีความอันตรายมากที่สุด เนื่องจากก่อให้เกิดลมกระโชกแรง และฝนตกอย่างหนัก ประกอบกับมีฟ้าผ่าเป็นอันตราย ต่อมนุษย์
   
เมฆก่อตัวในแนวตั้ง สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ โดยจะค่อย ๆ ก่อตัวสูงขึ้นคล้ายกะหล่ำปลี และยิ่งก่อตัวสูงเท่าไหร่จะเกิดฝนฟ้าคะนอง แรงขึ้นเท่านั้น การก่อตัวสูงของเมฆเกิดจากการเคลื่อนตัวของกระแสอากาศภายในเมฆที่ขึ้นและลง ซึ่งหากเมฆก่อตัวได้สูง ๆ จะทำให้เกิดลูกเห็บขนาดใหญ่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้
   
ช่วงกลางคืนสามารถสังเกตเมฆก่อตัวในแนวตั้งได้ด้วยการดูฟ้าแลบในกลุ่มก้อนเมฆ ถ้าฟ้าแลบในแนวตั้งมากกว่าแนวนอนแสดงว่า กลุ่มเมฆฝนกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาหาเรา แต่ถ้าฟ้าแลบ ในแนวนอนมากกว่าแนวตั้งแสดงถึงกลุ่มเมฆฝนเหล่านั้นกำลังเคลื่อนตัวไปจากพื้นที่ซึ่งเรายืนอยู่
   
การก่อตัวของเมฆในแนวตั้งจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง หากประชาชนเห็นการก่อตัวของเมฆเหล่านี้ควรเตรียมตัวเก็บข้าวของที่อยู่กลางแจ้งซึ่งจะเสียหายได้ ตลอดจนเตรียมอยู่ในอาคารหรือที่กำบังต่าง ๆ เพราะเมื่อเกิดฝนจะมีฟ้าผ่าถ้าอยู่กลางแจ้งอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตได้
   
ถ้าเกิดฟ้าผ่าควรอยู่ในที่กำบัง เช่น อาคาร ไม่ควรอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งจะเป็นจุดเสี่ยงที่ฟ้าจะผ่า และควรถอดเครื่องประดับที่เป็นสื่อนำ เช่น ทองแดง ออกจากร่างกาย ตลอดจนดึงปลั๊กทีวีและเสาอากาศออก และปิดมือถือเมื่ออยู่กลางแจ้ง

   
“หากเมฆสูงเป็นริ้วเหมือนหางม้าแสดงว่า อากาศวันนั้นดี แต่ถ้าท้องฟ้าเหลือง แดงลมสงบให้เตรียมตัวเพราะไม่นานจะมีพายุฝนเกิดขึ้น”
   
 
ขณะเดียวกันปัจจัยทำให้เกิดฝนที่ไม่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่า คือ

1.มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นำความร้อนจากคาบสมุทรอินเดียมาไทย ส่วนใหญ่ตกในภาคใต้และภาคตะวันออก จะตกในช่วงบ่ายและค่ำ มีโอกาสที่จะก่อตัว เป็นเมฆในแนวตั้ง

2.ร่องมรสุม เกิดจากกระแสลม  ฝั่งเหนือและใต้พัดเข้าหากัน จนมีการยกตัวของอากาศ   ทำให้ฝนตกทั้งวันทั้งคืน แต่ ไม่มีลมแรง ถ้าเป็นมรสุมแรงจะเกิดฟ้าผ่าได้
 
3. พายุหมุนเขตร้อน เกิดจากพายุไต้ฝุ่น-ดีเปรสชัน-ไซโคลน ทำให้ฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างหลายจังหวัด ซึ่งถ้ามีการประสานของสองพายุจะทำให้มีความแรงขึ้น
   

“การดูเมฆเป็นการพยากรณ์อย่างง่าย ๆ ซึ่งเยาวชนควรสนใจ เพราะถ้าเรารู้จักสังเกตและดูปรากฏการณ์ ต่าง ๆ อย่างเข้าใจจะเป็นผลดีต่อตัวเอง เพราะการเดินทางหรือใช้ชีวิตประจำวันท้องฟ้าอากาศเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ถ้าเรามีความรู้และเข้าใจจะทำให้การดำเนินชีวิตสะดวกขึ้น”
   
หลายคนมักบอกว่า ปีนี้แล้ง แต่จริงแล้วปริมาณฝนยังเท่าเดิม ปัญหาอยู่ที่การจัดการน้ำ เนื่องจากแต่ละปี ประเทศไทยเก็บน้ำไว้ใช้เพียง 40% ส่วนอีก 60% ปล่อยทิ้งทะเล ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบริหารจัดการด้วยแนวทางที่ไม่ทำลายทรัพยากร
   
ฝนฟ้าอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากมีความเข้าใจ และการป้องกันคือวิถีทางหนึ่งที่ช่วยไม่ให้ทรัพย์สินต้องเสียหาย.


ดู ริ้วเมฆ บอกฝน


มารู้จักเมฆกันเถอะ
   
เมฆ เกิดจากการรวมตัวหรือเกาะกลุ่มของไอน้ำในที่สุดก็จะเกิดการควบแน่นและตกลงมาเป็นฝน ละอองน้ำและเกล็ดน้ำแข็งที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนลอยตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศ ที่เราสามารถมองเห็นได้ ไอน้ำที่ควบแน่น เป็นละอองน้ำ (โดยปกติแล้วจะมีขนาด 0.01 มม.) หรือ เป็นเกล็ดน้ำแข็ง ซึ่งเมื่อเกาะตัวกันเป็นกลุ่มจะเห็นเป็นก้อนเมฆ
   
ก้อนเมฆนี้สะท้อนคลื่นแสงในแต่ละความยาวคลื่นในช่วงที่ตามองเห็นได้ ในระดับที่เท่า ๆ กัน จึงทำให้เรามองเห็นก้อนเมฆนั้นเป็นสีขาว แต่ก็สามารถมองเห็นเป็นสีเทาหรือสีดำ ถ้าหากเมฆนั้นมีความหนาแน่น สูงมากจนแสงผ่านไม่ได้
   
เมฆบนดาวดวงอื่น ประกอบด้วยสารอื่นนอกจากน้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพบรรยากาศ ของดาวนั้น (เช่นว่า มีก๊าซอะไรอยู่ และ ระดับอุณหภูมิ)
   
เมฆ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แบบเป็นชั้น (layered) ในแนวนอน และ แบบลอยตัวสูงขึ้น (convective) ในแนวตั้ง โดยจะมีชื่อเรียกว่า สตราตัส (stratus ซึ่งหมายถึงลักษณะเป็นชั้น) และ คิวมูลัส (cumulus ซึ่งหมายถึงทับถมกันเป็นกอง) ตามลำดับ
   
นอกจากนี้แล้วยังมีคำที่ใช้ในการบอกลักษณะของเมฆคือ สตราตัส (stratus) หมายถึง ลักษณะเป็นชั้น, คิวมูลัส (cumulus) หมายถึง ลักษณะเป็นก้อนสุมกัน, เซอร์รัส (cirrus) หมายถึง เมฆชั้นสูง, อัลโต (alto) หมายถึง เมฆชั้นกลาง, นิมบัส (nimbus) หมายถึง ฝน.

(ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)



การก่อตัวของเมฆคิวมูโลนิมบัส - Cumulonimbus


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์