ตำนานเงินไทย

ตำนานเงินไทย

บังเอิญไปค้นเจอสมุดสะสมเหรียญเข้า แล้วเห็นเหรียญพดด้วงและเหรียญรูซึ่งน่าสนใจดี แล้วก็คิดว่าหลายๆคนอาจยังไม่เคยเห็นมาก่อนเลยเอามาให้ดูกันว่าเหรียญสมัยก่อนมีรูปร่างแปลกดี....


 เงินตราไทยถือว่ามีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเริ่มตั้งแต่อาณาจักรฟูนันเป็นต้นมา ชนชาติไทยในอดีตสามารถคิดค้นรูปแบบของเงินพดด้วงขึ้นใช้เป็นเงินชนชาติไทยโดยเฉพาะซึ่งไม่เหมือนกับเงินตราชาติใดในโลกจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาติไทยมานานหลายศตวรรษ  ลักษณะพิเศษของเงินพดด้วงคือการใช้เงินแท่งทุบปลายให้โค้งงอเข้าหากันแล้วประทับตราของผู้มีอำนาจผลิตเงินตราลงไป



********พดด้วงเงินตราไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ.......


เงินพดด้วงมีการใช้สืบต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศในยุโรปโดยเริ่มจากพ.ศ.2398เป็นต้นไป  ความจำเป็นที่ต้องผลิตเงินตราให้เพียงพอต่อการค้าต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ต้องสั่งเครื่องจักรผลิตเหรียญชนิดกลมแบนเข้ามาผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้แทนเงินพดด้วงและเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้นำธนบัตเข้ามาใช้ควบคู่กับเหรียญกษาปณ์ในพ.ศ.2445แล้ว  จึงประกาศเลิกใช้เงินพดด้วงในปีพ.ศ. 2447และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเงินตราของประเทศไทยจึงประกอบด้วยเหรียญกษาปณ์และธนบัตรมาจนปัจจุบัน...


วิวัฒนาการเงินตราไทย


ก่อนที่จะมีเหรียญกษาปณ์ไทยและธนบัตรไทยที่ใช้เป็นเงินตราในปัจจุบันจะผลิตออกมาใช้สอยกันอย่างทุกวันนี้ได้ผ่านวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปทรงและวัสดุที่ใช้มาเป็นเวลายาวนานนับหลายร้อยปี


ประวัติ


ประวัติหน่วยเงินในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อชุมชนขยายตัวในดินแดนที่เป็นแหลมอินโดจีนในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันในสมัยก่อนว่า "สุวรรณภูมิ" ซึ่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชนหลายเชื้อชาตินับตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ มีสร้างเมือง เขตแคว้นและพัฒนามาเป็นราชอาณาจักร โดยเงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และเงินตราไทยเริ่มมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเมื่ออาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจ โดยได้ผลิตเงินตราที่ทำขึ้นจากโลหะเงิน มีสัณฐานกลม เรียกว่า “เงินพดด้วง” ออกใช้ และสืบทอดสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินพดด้วงเป็นเงินตราประจำชาติไทยมายาวนานกว่า 600 ปี ก่อนที่จะมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้เป็นเงินตราจนกระทั่งทุกวันนี้


 สมัยอาณาจักรฟูนัน


อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองทางการค้าขายและมีอำนาจในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6 – 11 อาณาจักรฟูนันได้รับเอาวัฒนธรรมมาจากอินเดียที่เด่นชัด ได้แก่ การปกครองในระบอบกษัตริย์ และศาสนาพราหมณ์ ทำให้เงินตราที่ชาวฟูนันใช้ในการค้าขาย มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครองและศาสนา มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะเงิน ลวดลายของเหรียญที่พบด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงแผ่รัศมี มีจุดไข่ปลาเรียง 2 แถว อีกด้านมีสัญลักษณ์ศรีวัตสะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์อยู่ตรงกลาง ข้างหนึ่งของศรีวัตสะเป็นบัณเฑาะว์ หมายถึง กลองเล็กชนิดหนึ่งที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่าง ๆ อีกข้างหนึ่งเป็นเครื่องหมายสวัสดิกะ ส่วนบนสุดของเหรียญเป็นรูปดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ลวดลายที่ปรากฏบนเหรียญแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ของชาวอินเดียโบราณ



เงินตราสมัยอาณาจักรฟูนัน


 สมัยอาณาจักรทวารวดี


เมื่ออาณาจักรฟูนันได้ล่มสลายลง ได้มีแคว้นและอาณาจักรหลายแห่งตั้งตัวเป็นอิสระและผลัดเปลี่ยนกันครองอำนาจ รวมทั้งดินแดนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณภาคกลาง ได้แก่ เมืองนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ได้รวมตัวกันขึ้นเป็นอาณาจักรทวารวดี และมีความรุ่งเรืองอย่างมาก ในพุทธศตวรรษที่ 11 -16 โดยยังคงสืบทอดการปกครองในระบอบกษัตริย์ และในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ขอมเรืองอำนาจ อาณาจักรทวารวดีจึงรับเอาความเชื่อจากขอมไว้ด้วย เงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการค้าขายจึงมีลวดลายและสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ อำนาจรัฐ และความอุดมสมบูรณ์ ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ


เหรียญทวารวดีที่สำคัญคือ เหรียญรูปสังข์ใหญ่ รูปสังข์เล็ก รูปกระต่ายบนดอกบัว และรูปแพะ รอบขอบเหรียญมีจุดไข่ปลา อีกด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์ ศรีวัตสะ ขนาบข้างด้วยอังกุศ (ขอช้าง) ด้านบนมีรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ ด้านล่างมีรูปปลา นอกจากนี้มีการค้นพบเหรียญที่มีลักษณะกลมแบน มีลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปปูรณกลศ (หม้อน้ำ) รูปธรรมจักร รูปวัว อีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณ เป็นต้น



เงินตราสมัยอาณาจักรทวารวดี


สมัยอาณาจักรศรีวิชัย


ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 การค้าทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้เมืองที่อยู่บนคาบสมุทรมลายู ได้แก่ ไชยา และนครศรีธรรมราช มีความสำคัญมากขึ้น จนในที่สุดดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตราได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัย ที่มีระบบการปกครองในระบอบกษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน และเนื่องจากมีความสามารถทางด้านการค้าขาย จึงมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันมาก หลักฐานการขุดพบสื่อกลางหรือเงินตราในอาณาจักรแห่งนี้มี 2 ประเภท คือ “เงินดอกจัน” ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกลมแบน ทำด้วยโลหะเงินและทองคำ ด้านหนึ่งเป็นตรา 4 แฉก ส่วนอีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณอ่านได้ว่า “วร” แปลว่า “ประเสริฐ” อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เงินนโม” มีลักษณะค่อนข้างกลมแบน มีขนาดเล็ก ด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณคล้ายอักษร “น” ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรอยบากเป็นร่องตรงกลาง ทำจากแร่เงินผสมพลวงซึ่งเป็นแร่ที่หาได้ง่ายทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือศาสนาพุทธ จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร “น” ว่า “เงินนโม”



เงินตราสมัยอาณาจักรศรีวิชัย


สมัยสุโขทัย..


อาณาจักรสุโขทัยมีอำนาจและพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการขยายอาณาเขตลงไปทางใต้จนตลอดแหลมมลายู รวมทั้งมีการผลิตถ้วยชาม และเครื่องปั้นดินเผาที่สวยงามและมีคุณภาพ เรียกว่า “สังคโลก” ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของสุโขทัย


การค้าขายในอาณาจักรสุโขทัยพบว่ามีการใช้สื่อกลางการแลกเปลี่ยนรูปแบบต่าง ๆ แต่สื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่เป็นเอกลักษณ์ คือ “เงินพดด้วง” ซึ่งนับเป็นเงินตราไทยโดยแท้และใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนมายาวนานกว่า 600 ปี พดด้วงที่ใช้ในรัชสมัยนี้มีลักษณะเป็นก้อนกลม ทำด้วยโลหะเงิน ปลายขางอเข้าหากันเป็นปลายแหลม มีรูขนาดใหญ่ระหว่างขา มีตราประทับเพื่อแสดงถึงแหล่งผลิตตั้งแต่ 1 ตรา ไปจนถึง 7 ตราส่วนใหญ่ตราที่พบได้แก่ ตราราชสีห์ ช้าง หอยสังข์ ธรรมจักร บัว กระต่าย และราชวัตร



นอกจากนี้ ยังพบว่าในสมัยสุโขทัยมีการนำโลหะชนิดอื่นซึ่งไม่ใช่โลหะเงิน เช่น ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี มาหลอมให้มีลักษณะคล้ายพดด้วงแต่มีขนาดใหญ่กว่า เรียกแตกต่างกัน เช่น พดด้วงชิน เงินคุบ เงินชุบ หรือเงินคุก รวมทั้งการใช้เบี้ยเป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำด้วย


  เงินปลีกที่ชาวสุโขทัยใช้ทั่วไปนั้นเป็นเปลือกหอยน้ำเค็มชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  หอยเบี้ย  ที่พ่อค้าชาวต่างประเทศนำมาขายให้โดยเก็บมาจากหมู่เกาะมัลดิฟ  บริเวณใกล้เกาะศรีลังกาบ้างหรือเก็บมาจากเกาะบางแห่งในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เบี้ยที่ใช้อยู่โดยทั่วไปมีประมาณ8ชนิด



เบี้ยนอกจากจะใช้เป็นเงินมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วยังใช้เป็นเงินในสมัยสุโขทัย  อยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกด้วย การใช้เบี้ยเป็นเงินปลีกนั้นจึงใช้กันอย่างแพร่หลาย  เงินที่มีค่าสูงขึ้ได้แก่ เงินพดด้วง  เงินพดด้วงโดยทั่วไปมีการตอกตราไว้ 2 ดวงเป็นตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล โดยมักจะตอกประทับตราที่ด้านบนและด้านหน้า



เงินพดด้วงสุโขทัย



อยุธยา


เงินตราหลักที่ใช้ยังคงเป็นพดด้วงเช่นเดียวกับสมัยสุโขทัย เพียงแต่มีการปรับปรุงให้สวยงามและมีขนาดเล็กกะทัดรัดขึ้น ปลายขาสั้นและไม่ชิดกันเหมือนของสุโขทัย รวมทั้งมีการทำรอยบากให้เล็กลงและตื้นขึ้น และเริ่มมีรอยเมล็ดข้าวสารมาแทนที่ เงินพดด้วงในสมัยนี้มีตราประทับเพียง 2 ตรา โดยตราที่ประทับอยู่ด้านบนคือ ตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนด้านหน้าเป็นตราประจำรัชกาลลักษณะต่าง ๆ เช่น ตราพุ่มข้าวบิณฑ์ ตราพระมหานครินทร์ ตราช่อดอกไม้ ตราช่ออุทุมพร ตราราชวัตร ตราช้าง และตราสังข์ เป็นต้น  นอกจากเงินพดด้วงที่มีมูลค่าสูงแล้ว ในสมัยนี้ยังมีการใช้เบี้ยอย่างกว้างขวาง



ธนบุรี


เงินตราที่ใช้ในช่วงต้นรัชกาลยังคงใช้พดด้วงของอยุธยาอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ผลิตพดด้วงประจำรัชกาลออกใช้ มีลักษณะเช่นเดียวกับพดด้วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ประทับตราพระแสงจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลนั้นใช้ ตราตรีศูล และตราทวิวุธ




รัตนโกสินทร์


ในสมัยรัชกาลที่ 1 – 3 เงินตราหลักที่ใช้ยังคงเป็นเงินพดด้วง เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงตราประจำรัชกาลที่ใช้ประทับเท่านั้น โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้มีการผลิตพดด้วง ประทับตรา “บัวอุณาโลม” ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำรัชกาล และตราพระแสงจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน มีขนาดและราคาต่าง ๆ เช่น ตำลึง บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง


รัชกาลที่2 ใช้ตราครุฑเป็นตราประจำรัชกาลตีบนเงินพดด้วงสืบเนื่องจากพระนามเดิมของพระองค์ คือ “ฉิม” อันหมายถึงฉิมพลี ซึ่งเป็นวิมานของพญาครุฑ


รัชกาลที่3  ใช้ตราพระมหาปราสาทเป็นตราประจำรัชกาลมีความหมายมาจากพระนามเดิมของพระองค์ คือ “ทับ” ซึ่งหมายถึงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คือ ปราสาท นั่นเอง นอกจากนั้นยังมีการเริ่มผลิตพดด้วงเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น พดด้วงตราครุฑเสี้ยว ตราเฉลว ตราดอกไม้ และตราใบมะตูม เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมีการผลิตเงินพดด้วงที่ระลึกขึ้นหลายครั้ง เงินพดด้วงดังกล่าวมีอยู่หลายตราด้วยกันเช่น ครุฑเสี้ยว  ตราหัวลูกศร.ฯลฯ



เงินพดด้วงร.3 ตราพระมหาปราสาท


รัชกาลที่4 ใช้ตราพระแสงจักรพระมหามงกุฏตีประทับบนเงินพดด้วง ในสมัยนี้เป็นเวลาที่ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน  โดยเฉพาะด้านการเงินนั้นได้รับผลกระทบอย่างมากจนมีผลทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีการผลิต  รูปแบบเงินตรา วัสดุที่ใช้และการจัดระบบเงินตราใหม่โดยชิ้นเชิง  ในสมัยนี้มีการทำเงินพดด้วงปลอมกันมากดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พิมพ์เงินกระดาษด้วยหมึกดำบนกระดาษปอนด์เป็นเงินตราให้เรียกว่า  หมายแทนเงิน ในพ.ศ. 2396  และในสมัยนี้เองก็มีการทดลองทำเงินเหรียญแบนแบบยุโรปด้วยมือขึ้น(ซึ่งก็เป็นต้นแบบของเหรียญกษาปณ์ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้)


พระมหามงกุฏ



เงินตราสมัยรัชกาลที่ 4



รัชกาลที่ 5


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะแรกได้มีการผลิตเหรียญดีบุกโสฬสออกใช้ในรัชกาล ด้านหน้าเป็นตราพระเกี้ยวหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตราพระจุลมงกุฎ อันเป็นตราประจำรัชกาลของพระองค์ ด้านหลังเป็นรูปช้างในวงจักร


ในปี พ.ศ. 2418 ได้โปรดให้สร้างโรงกษาปณ์แห่งใหม่ขึ้น พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักรใหม่ที่มีกำลังผลิตและประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม และได้เริ่มผลิตเหรียญเงิน ตราพระบรมรูป- ตราอาร์ม (ตราแผ่นดิน) ซึ่งนับเป็นเหรียญรุ่นแรกที่มีพระบรมรูปพระมหากษัตริย์บนหน้าเหรียญตามแบบสากลนิยมและได้ถือปฏิบัติมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน


นอกจากนั้นยังทรงปฏิรูประบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนหน่วยเงินตราของไทยที่มีมาแต่เดิมจากหน่วยเรียกตามน้ำหนัก ได้แก่ ทศ พิศ พัดดึงส์ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการจัดทำบัญชี ด้วยการนำเอาระบบทศนิยมตามแบบสากลมาใช้ คือหน่วยเงินบาท และสตางค์ อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงทุกวันนี้


สำหรับเงินพดด้วงซึ่งได้หยุดผลิตตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา แต่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกใช้อย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีศพพระองค์หญิงเจริญกมลศุขสวัสดิ์ พระราชธิดาองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 2 เนื่องในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระเทพสิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี และในวันที่ 28 ตุลาคม 2447 ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้พดด้วงทุกชนิดราคา หลังจากที่ได้ใช้มาเป็นเวลานานกว่า 6 ศตวรรษ ซึ่งนับว่าเป็นยุคสิ้นสุดของเงินพดด้วงอย่างแท้จริง


ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้โรงกษาปณ์ปารีส ผลิตเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต เพื่อนำออกใช้หมุนเวียนแทนเงินตรารุ่นเก่า แต่ยังไม่ทันออกใช้พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาเหรียญดังกล่าวได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนอย่างมาก และนิยมเรียกว่า “เหรียญหนวด”


(สมัยนี้ มีการใช้เงินเหรียญหลากหลายมากขึ้น  และใช้ตรา2ตราคือตราพระแสงจักรพระจุลมงกุฎ และตราช่อรำเพยเป็นตราตีประทับบนพดด้วง  และในสมัยนี้มีการใช้ธนบัตรอย่างเป็นทางการ  และที่สำคัญคือยกเลิกการใช้เงินพดด้วง)




เหรียญทองแดงตราอุณาโลม  พระแสงจักร


สมัยรัชกาลที่ 6 - 8


ในสมัยรัชกาลที่ 6 - 8 เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนั้นยังเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของประเทศไทย


สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เงินตราที่ใช้ในช่วงต้นรัชกาลยังคงเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงทรงให้กรมกระสาปน์สิทธิการผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดเงินราคาหนึ่งบาท ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังเป็นรูปไอราพตออกใช้หมุนเวียน


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการผลิตเหรียญประจำรัชกาลออกใช้ เป็นเหรียญกษาปณ์เงินพระบรมรูป ชนิดราคา 50 สตางค์ และ 25 สตางค์


(รัชกาลที่6 มีการใช้คำว่าหนึ่งบาทตีลงบนเหรียญ  มีการใช้ธนบัตร1บาทและพิมพ์คำว่ารัฐบาลสยามเป็นครั้งแรก ............)


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการผลิตเหรียญชนิดราคา 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ และ 5 สตางค์ ออกใช้หมุนเวียนในรัชกาล 2 รุ่น รุ่นแรกมีพระบรมรูปขณะทรงพระเยาว์ประทับด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นพระครุฑพ่าห์ รุ่นที่สองมีลักษณะด้านหน้าและด้านหลังเหมือนกับรุ่นแรก แต่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเปลี่ยนเป็นพระบรมรูปเมื่อครั้งเจริญพระชนมพรรษา



เหรียญสมัยร.6-ร.8


 สมัยรัชกาลที่ 9


ในปี พ.ศ. 2493 ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนรุ่นแรกออกใช้ เป็นเหรียญอะลูมิเนียมบรอนซ์ หรือทองแดง ชนิดราคา 5 สตางค์ 10 สตางค์ 25 สตางค์ และ 50 สตางค์ ลวดลายด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชด้านหลังเป็นตราแผ่นดินของไทย


และในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนครั้งใหญ่ทุกชนิดราคา ทั้งส่วนผสม ขนาด และรูปแบบ รวมทั้งได้กำหนดให้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา 10 บาท และ 10 สตางค์ ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่นำออกใช้มี 8 ชนิดราคา ได้แก่ ชนิดราคา 10 บาท 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ และในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ชนิดราคา 2 บาท ออกใช้เพิ่มขึ้นอีก 1 ชนิดราคา ทำให้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ออกใช้ในปัจจุบันมี 9 ชนิดราคาด้วยกัน แต่เหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 1 สตางค์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ ไม่ได้นำออกใช้หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน หากแต่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในระบบบัญชีเท่านั้น


นอกจากนั้นยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกขึ้นในโอกาสและเหตุการณ์สำคัญ ๆ โดยมีสภาพเป็นเงินตราสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายตามราคาที่ปรากฏบนหน้าเหรียญ โดยเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกที่ผลิตเป็นเหรียญแรกในรัชสมัยนี้ คือ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเสด็จนิวัตพระนคร ซึ่งผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2504 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จนิวัตพระนครหลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในภาคพื้นยุโรป เป็นเหรียญชนิดนิกเกิล ราคา 1 บาท มีลวดลายด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งนับเป็นเหรียญแรกที่ปรากฏพระรูปเจ้านายฝ่ายหญิงบนเหรียญกษาปณ์ไทย ส่วนด้านหลังมีตราอาร์มและข้อความบอกราคา


ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการทดลองผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกชนิดพิเศษซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมเหรียญทั่วโลก เป็นเหรียญขัดเงา (Proof Coin) ขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเฉพาะราชวงศ์ ไม่ได้นำออกจ่ายแลกให้กับประชาชนทั่วไป จนกระทั่งในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา 12 สิงหาคม 2535 จึงได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกประเภทขัดเงาให้ประชาชนแลกซื้อได้เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงได้มีการผลิตเหรียญประเภทขัดเงาควบคู่ไปกับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศด้วย


และในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งนับเป็นปีแห่งการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสดังกล่าว กรมธนารักษ์ได้มีการผลิตเหรียญประเภทขัดเงาและลงสีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้เทคนิคการพิมพ์สีลงบนโลหะเงินบริสุทธิ์ ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการผลิตเหรียญกษาปณ์ไทย



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์