ต้านอนุมูลอิสระ-ชะลอแก่ เปิบมะขามป้องมะเร็ง

ต้านอนุมูลอิสระ-ชะลอแก่ เปิบมะขามป้องมะเร็ง


หากกะเทาะเปลือกหุ้มเม็ดมะขามทิ้งจะพบประโยชน์ซ่อนอยู่ ซึ่งนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) วิจัย เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระชนิดอัดเม็ดจากสารสกัดเปลือกหุ้มเม็ดมะขาม โดย น.ส.นันทิดา หมวกเหล็ก นายบวร บุตรดีสิงห์ และ ผศ.ดร.ทรงวุฒิ ยศวิมลวัฒน์ พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเทียบเท่าสารสกัดจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ 

จากสภาพปัจจุบันที่ผู้บริโภคให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ต้านอนุมูลอิสระ พืชพื้นบ้านอย่าง 'มะขาม' จึงได้นำมาศึกษา พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบฟีนอลลิกอยู่ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ดีต่อสุขภาพ 

สารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความเสี่ยงต่อโรค เช่น มะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น รวมทั้งช่วยชะลอกระบวนการบางขั้นตอนที่ทำให้แก่ ซึ่งปกติร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้เอง แต่หากร่างกายได้รับสารอนุมูลอิสระมากเกินไป จะกำจัดไม่ทันก็อาจสร้างความเสียหายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อได้

เม็ดมะขามที่นำมาศึกษาวิจัยปลูกใน จ.เพชรบูรณ์ โดยไม่ระบุสายพันธุ์ เริ่มจากการสกัดด้วยเอทานอลความเข้มข้นร้อยละ 70 ที่อุณหภูมิ 60 C เป็นเวลา 24 ชั่วโมง สารสกัดที่ได้จะถูกนำมาระเหยตัวทำละลายออกด้วยเครื่องระเหยแบบลดความดัน

เมื่อนำสารสกัดมาวิเคราะห์หาฤทธิ์ต้านออก ซิเดชั่นด้วยวิธีดีดีพีเอช พบว่าสารสกัดเปลือกหุ้มเม็ดมะขามมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นที่ดีกว่าวิตามินอี 3.14 เท่า ยับยั้งอนุมูลอิสระได้ร้อยละ 50 เท่ากับ 53.42 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงให้เห็นว่าสารต้านอนุมูลอิสระในเปลือกหุ้มเม็ดมะขามมีปริมาณสูง 

ส่วนการพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทีมวิจัยใช้วิธีตอกอัดเป็นเม็ด สูตรตำรับที่ดีที่สุดประกอบด้วย ผงสารสกัดเปลือกหุ้มเม็ดมะขาม 300 ม.ก. แลกโตสแอนไฮดรัส ร้อยละ 20 ไมโครคริสตอลลีนเซลลูโลส ร้อยละ 20 พอลีไวนิลไพโรลลิโดน ร้อยละ 0.0013 คลอสคาร์เมลโลสโซเดียม ร้อยละ 3 ทัลคัม ร้อยละ 2 แมกนีเซียมสเตียเรต ร้อยละ 0.5 

โดยสารสกัดเปลือกหุ้มเม็ดมะขามพบว่ามีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ที่ดีกว่าวิตามินอี 3.14 เท่า คำนวณขนาดการรับประทานของผลิตภัณฑ์เม็ดสารสกัดเปลือกหุ้มเม็ดมะขามต่อวัน มีค่าเท่ากับ 85.50-341.98 mg ต่อวัน โดยผู้วิจัยเลือกขนาดรับประ ทานต่อเม็ด เป็น 300 mg รับประทานง่ายเพียงวันละ 1 เม็ด 

'สารสกัดจากเปลือกหุ้มเม็ดมะขามมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นที่สูงมากใกล้เคียงกับสารสกัดจากเม็ดองุ่น การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นแนวโน้มที่ดี ในการนำพืชพื้นบ้านไทยมาใช้ประ โยชน์ด้านสุขภาพ ก่อนนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป'

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์