ทำอย่างไร..ให้หนี้ระงับ!!!


        ในปัจจุบันหลายๆ ท่านอาจประสบปัญหาก่อหนี้เกินรายได้ ทำให้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้น แต่ท่านทราบหรือไม่ว่านอกจากหนี้จะระงับด้วยการชำระหนี้แล้ว หนี้ยังระงับได้ด้วยวิธีอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อมีหนี้เกิดขึ้นแล้วการจะทำให้หนี้ระงับนั้นกฎหมายกำหนดไว้ 5 กรณี ได้แก่

1. การชำระหนี้ ซึ่งเป็นวิธีการง่ายที่สุดที่จะทำให้หนี้ระงับ (หนี้มี 3 ลักษณะ ได้แก่ กระทำการไม่กระทำการ โอนทรัพย์สิน) โดยลูกหนี้อาจเป็นผู้ชำระหนี้เอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นชำระก็ได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องกระทำด้วยตนเอง เช่น งานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะบุคคล เป็นต้น หรือคู่สัญญาตกลงกันว่าลูกหนี้ต้องเป็นผู้ชำระหนี้เองเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องชำระให้ถูกต้องทั้ง จำนวน ปริมาณ คุณภาพ ระยะเวลา หรือ เงื่อนไขต่างๆ ตามที่ได้ตกลงกัน หนี้จึงจะระงับ

2. การปลดหนี้ หากเจ้าหนี้แสดงเจตนาปลดหนี้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ประสงค์ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าว หนี้นั้นเป็นอันระงับ แต่ถ้าหนี้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย หรือคืนเอกสารนั้นให้ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้น

3. แปลงหนี้ใหม่ กระทำได้โดยคู่สัญญาแสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเกี่ยวกับหนี้ เช่น เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ เปลี่ยนตัวลูกหนี้ หรือเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ เมื่อคู่สัญญาแสดงเจตนาที่จะผูกพันตามหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นเช่นกรณีเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เจ้าหนี้อาจตกลงกับผู้ที่จะเข้าเป็นลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการฝืนใจลูกหนี้เดิมหนี้เดิมจะระงับและไปผูกพันตามหนี้กับลูกหนี้รายใหม่แทน

4. หักกลบลบหนี้ หากบุคคลสองคนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกันอาจแสดงเจตนาที่จะทำให้หนี้ระงับในจำนวนที่ตรงกันก็ได้ แต่ต้องเป็นหนี้ประเภทเดียวกัน และต้องถึงกำหนดที่เจ้าหนี้ทั้งสองฝ่ายจะเรียกให้ลูกหนี้ของตนชำระหนี้ได้ เช่น นาย ก. เป็น หนี้นาย ข. 1000 บาท นาย ข. เป็นหนี้นาย ก. 800 บาท ทั้งสองคนอาจแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ในจำนวนที่ตรงกันคือ 800 บาท ดังนั้น นาย ก. เหลือหนี้ที่ต้องต้องชำระแก่ นาย ข. 200 บาท ส่วนนาย ข. ไม่มีหนี้ต้องชำระแก่นาย ก. อีก อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ไม่สามารถหักกลบลบหนี้ได้ เช่น คู่สัญญาตกลงไม่ให้มีการหักกลบลบหนี้ หนี้ที่ขัดต่อกฎหมาย กรณีที่ศาลสั่งห้ามลูกหนี้ใช้เงินแก่เจ้าหนี้ เป็นต้น

5. หนี้เกลื่อนกลืนกัน คือ ความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ในหนี้รายใดตกอยู่กับบุคคลเดียวกัน หนี้นั้นย่อมระงับ เช่น กรณีที่เจ้าหนี้ตาย ความเป็นเจ้าหนี้จะตกทอดแก่ทายาท หากทายาทนั้นเป็นลูกหนี้ของผู้ตายด้วยหนี้ก็ระงับ เป็นต้น เนื่องจากความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้อยู่ในบุคคลเดียวกันนั่นเอง

ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากการระงับหนี้ด้วยวิธีการชำระหนี้ที่ทุกท่านทราบกันเป็นอย่างดี ยังสามารถทำให้หนี้ระงับด้วยวิธีอื่นๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม อยากให้เสริมสร้างวินัยไม่ก่อหนี้เกิดตัว เพราะหนี้เกิดง่าย แต่ทำให้ระงับไม่ง่ายนะจ๊ะ...จะบอกให้





นางสาววรปรานี สิทธิสรวง

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

facebook.com/สำนักกฎหมาย-สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


ทำอย่างไร..ให้หนี้ระงับ!!!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์