ทำไมจึงต้องกวดวิชา?

ภาพประกอบอินเตอร์เน็ตภาพประกอบอินเตอร์เน็ต


กวดวิชา...อาจไม่ใช่คำตอบ

ขณะนี้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาที่เราจะเห็นเยาวชนในวัยต่างๆ ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ จนถึงอายุประมาณ 18-19 ปี  ที่เดินขวักไขว่ตามโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนสอนพิเศษต่างๆ เช่น โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนดนตรี โรงเรียนศิลปะ ฯลฯ

หลายต่อหลายปีที่ผู้เขียนมีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ที่มาเรียนกวดวิชา แล้วได้เห็นภาพที่ส่งสัญญาณอันตรายต่ออนาคตของพวกเขาหลายครั้ง คิดขยับจะเขียนเรื่องนี้อยู่หลายหน แต่ก็มีเหตุการณ์อื่นมาแทรกบ้าง และบางทีก็กังวลอยู่เหมือนกันว่า หากเขียนบทความนี้ด้วยความไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาเข้าใจผิด คิดว่าผู้เขียนตั้งใจทำให้ภาพลักษณ์ของโรงเรียนกวดวิชามัวหมอง อันมีผลกระทบต่อธุรกิจของท่านเหล่านั้นได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนสงกรานต์ปีนี้ก็ขอเขียนเรื่องของเยาวชน และการตัดสินใจของเยาวชนร่วมกับผู้ปกครองในการใช้เวลาว่างของวันหยุดสุดสัปดาห์และวันปิดภาคเรียนในการเรียนกวดวิชา หรือเรียนวิชาต่างๆ นอกหลักสูตรปกติที่มีสอนในโรงเรียนทั่วไปว่า มีประเด็นที่ต้องใคร่ครวญอะไรบ้าง จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการกวดวิชา หรือจากการศึกษาหลักสูตรพิเศษต่างๆ นอกโรงเรียน ทั้งนี้จุดมุ่งหมายหลักของผู้เขียนก็คือ เรื่องคุณภาพชีวิตของเยาวชนซึ่งจะเติบใหญ่เป็นกำลังของชาตินั่นเอง

ทำไมจึงต้องกวดวิชา?

สมัย 30 กว่าปีก่อนที่ผู้เขียนอยู่ในวัยศึกษา จำได้ดีว่าสมัยนั้นไม่ค่อยมีโรงเรียนกวดวิชามากนัก จะมีก็แต่การกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเตรียมสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น พอวันปิดภาคเรียนพวกนักเรียนทั้งหลายก็ใช้เวลาอยู่บ้านกับผู้ปกครอง ใช้เวลาช่วยงานบ้านบ้าง แล้วก็ไปพักผ่อนตามต่างจังหวัดกับครอบครัว ตัวผู้เขียนเองและเพื่อนๆ หลายคนที่เรียนหนังสือมาด้วยกันไม่เคยต้องเรียนพิเศษเลย จะมีบ้างก็ไม่เกิน 10 คนที่สอบตก หรือไม่ก็เรียนอ่อนมากประมาณว่าเกือบๆ จะสอบตก ที่จำเป็นต้องเรียนพิเศษในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อกวดวิชาให้เรียนทันเพื่อนฝูง

ส่วนการเรียนพิเศษอื่นๆ เช่น เรียนเปียโน ศิลปะ หรือกีฬาต่างๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ใช้เวลามากนักในแต่ละสัปดาห์ เด็กๆ จึงมีเวลาอยู่บ้านกับผู้ปกครองและพี่น้องคนอื่นๆ มีโอกาสวิ่งเล่นตามแบบเด็กๆ มากพอสมควร

แต่ในปัจจุบันนี้ผู้เขียนเห็นว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ ที่เรียนหนังสือตามโรงเรียนต่างๆ ต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียนในชั้นเรียนปกติ และเวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์เรียนวิชาต่างๆ ที่โรงเรียนเองเป็นผู้จัดเตรียมไว้ หรือที่ผู้ปกครองพาเด็กไปเรียนเพิ่มเติมเองอีกมากมาย เช่น เรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ร้องเพลง เต้นบัลเลต์ เรียนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ เรียนฝึกพูด ฯลฯ เด็กบางคนต้องเรียนทุกวันเลยค่ะ! และพอสอบถามดูปรากฏว่า เด็กหลายคนเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนย่ำแย่ หรือได้เกรดต่ำแต่ประการใด ทั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้เด็กไปโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษ ดังนี้

1.เรียนอ่อนไม่ทันเพื่อนจริงๆ

2.กลัวแข่งขันกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่เรียนพิเศษไม่ได้ ต้องสร้างความมั่นใจ

3.เก่งอยู่แล้ว...แต่อยากเก่งที่ซู้ด

4.สนใจอยากเรียนวิชาต่างๆ เหล่านั้นเพิ่มเติมเอง

5.ผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรมดูแล จึงส่งมาไว้ที่โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษต่างๆ โดยหวังว่าเด็กจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และมีครูที่โรงเรียนคอยดูแล

6.เด็กอยู่บ้านเฉยๆ เลยเบื่อ สู้ไปโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษไม่ได้ จะได้เจอเพื่อนฝูง

จะเห็นได้ว่าจากเหตุผลทั้ง 6 ประการดังกล่าวนี้ เป็นเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ อยู่เพียง 3 เหตุผลเท่านั้น คือ เรียนไม่ทัน อยากส่งเสริมทักษะความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เด็กสนใจเป็นพิเศษ และอยากเก่งที่สุดในสาขาที่เก่งอยู่แล้ว นอกนั้นเป็นเหตุผลทางจิตวิทยาและเหตุผลทางสังคมเสียมากกว่า ทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องขวนขวายหาสตางค์มาส่งเสียให้ลูกเรียนทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เด็กบางคนพอลงจากรถก็ไม่ได้เดินเข้าโรงเรียนกวดวิชาหรอกนะคะ แต่ไปเดินเที่ยวเตร็ดเตร่ กินขนม ดูหนัง เห็นแล้วเสียดายสตางค์แทน แต่แค่เที่ยวเตร่ไม่เรียนก็ยังพอทน บางรายที่เป็นวัยรุ่นก็คบเพื่อนต่างเพศเดินโอบกอดกัน หรือแอบสูบบุหรี่ในซอยที่ลับตาคน แบบนี้แหละที่เห็นแล้วกลุ้มใจแทนผู้ปกครอง เสียทั้งเงินและอาจจะต้องเสียอนาคตของลูกหลานด้วย

การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา และการใช้เวลาว่างของเยาวชนในบ้านเราจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครองและสถาบันการศึกษา คำว่าสถาบันการศึกษาไม่ได้หมายความถึงเฉพาะโรงเรียนที่เด็กสังกัดอยู่เท่านั้น แต่หมายถึงสถาบันการศึกษาทุกแห่งที่มีส่วนรับผิดชอบในการสร้างเยาวชนของชาติให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ค่านิยม และพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำตัวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้

ทุกวันนี้สังคมบ้านเรามุ่งเน้นการแข่งขันชิงเด่นเป็นที่ 1 มากเกินไป ทำให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็ก มีค่านิยมที่ต้องแข่งขันมากเกินความพอดี กล่าวคือ เกิดความเครียด ความกลัวว่าตัวเองจะเก่งไม่พอ จะสู้ไม่ได้ จนต้องเรียนอะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอดเวลาจนขาดสมดุลของชีวิต ชีวิตเด็กที่มีคุณภาพคือ มีชั่วโมงเรียน ชั่วโมงเล่น ชั่วโมงพักผ่อน ชั่วโมงอยู่กับครอบครัว ชั่วโมงเรียนรู้โลกเพื่อเข้าสังคมและรู้จักโลกในมุมกว้าง และชั่วโมงเรียนรู้ศีลธรรมจรรยาบรรณ

ทั้งหมดนี้ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาต้องปรึกษาหารือกันเพื่อหาวิธีสร้างสมดุลชีวิตให้เด็ก ไม่ใช่มุ่งแต่เรียน เรียน และเรียนในโรงเรียน พอออกจากโรงเรียนก็เดินเข้าโรงเรียนกวดวิชา หรือโรงเรียนพิเศษ ในขณะที่โรงเรียนต้องมีความรับผิดชอบ ผู้ปกครองเองก็ต้องมีความรับผิดชอบเช่นกันในการดูแลลูกหลานของตนเอง ไม่ใช่เห็นโรงเรียนกวดวิชา หรือโรงเรียนพิเศษเป็นสถานรับเลี้ยงและดูแลเด็กแทนตัวเอง นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลก็น่าจะยื่นมือเข้ามาจัดกิจกรรมช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้ความรู้และการสนับสนุนต่อผู้ปกครองและเด็กๆ ให้มีการใช้เวลาว่างของเด็กให้เป็นประโยชน์ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ปกครองและเด็กพร้อมกันไป โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองควักสตางค์กันจนกระเป๋าแห้งทุกปิดเทอมแบบนี้ มาช่วยกันทำให้ลูกหลานของท่านมีชีวิตวัยเด็กที่มีคุณภาพกันเถิดนะ


รายงานโดย :รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

ขอบคุณบทความจาก รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์