ทำไมหางจิ้งจกถึงงอกได้อีก

ทำไมหางจิ้งจกถึงงอกได้อีก


จิ้งจกบ้าน ชื่อสามัญ House Gecko ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hemidactylus Frenatus ถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเริ่มแพร่พันธุ์ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งแอฟริกาตะวันออก นิวกินี เม็กซิโก มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย ฯลฯ พบเห็นได้ทั่วไปตามที่พักอาศัย

โดยเฉลี่ยลำตัวจะมีความยาว 3 นิ้ว ตัวเต็มวัยอาจจะถึง 5 นิ้ว มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม ตัวเมียจะวางไข่คราวละ 2 ฟอง ไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 50-65 วัน ตัวอ่อนที่ออกจากไข่จะมีขนาดประมาณ 2 นิ้ว

วงจรชีวิตมีอายุประมาณ 5-10 ปี การงอกใหม่ของหางจิ้งจกใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ ระยะเวลาขึ้นอยู่กับขนาดของหางที่ขาดหายไป อาหาร และสุขภาพของจิ้งจก

มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการสลัดหางของจิ้งจก ตุ๊กแก และจิ้งเหลน จากเว็บวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และเว็บไซต์วิชาการดอทคอม ระบุว่า สาเหตุที่สัตว์เหล่านี้สามารถสลัดหางได้ก็เพราะหางของพวกมันประกอบไปด้วยกระดูกอ่อน เส้นเลือดฝอยจำนวนมาก และยังอุดมไปด้วย โปรตีน ไขมันด้วย

หางของสัตว์เหล่านี้มีหน้าที่มากมาย ทั้งช่วยในการเคลื่อนที่ ทำให้ร่างกายสมดุล แสดงถึงฐานะทางสังคม และเป็นส่วนที่เก็บไขมันและโปรตีน เพื่อใช้เป็นอาหารและแหล่งพลังงานในช่วงขาดอาหาร ถ้าตัวผู้หางขาดในช่วงสืบพันธุ์ก็จะหาคู่ไม่ได้ และอาจถูกจับเป็นอาหารได้ง่ายด้วย

เมื่อตกอยู่ในอันตราย จิ้งจกสลัดหางทิ้งเพื่อหันเหความสนใจ เนื่องจากหางส่วนที่ถูกสลัดยังกระดุกกระดิกอยู่ประมาณ 2-3 นาที เพราะเซลล์ประสาทยังไม่ตาย แต่ผลที่ตามมาหลังการสลัดหางจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลง การสืบพันธุ์ลดลงและความสามารถในการป้องกันตัวได้ลดลง

สัตว์เหล่านี้สลัดหางได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ครั้งที่สองจะทำได้ยาก

ส่วนหางที่งอกใหม่จะไม่เหมือนกับหางเดิม เนื่องจากหางใหม่จะเป็นเอ็นที่สานกันเป็นแท่ง มีขนาดเล็กและทู่กว่า ยืดหยุ่นน้อยกว่า จะมีขนาดและรูปร่างต่างจากเดิม และสีของหางจะคล้ำลง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์