ทำไมเราควรเสือก(SEUK)ทุกเรื่อง...


ทำไมเราควรเสือก(SEUK)ทุกเรื่อง...


วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนและนักวิจารณ์ ชื่อดัง โพสต์บทความที่น่าสนใจผ่านทางเฟ๊ชบุ้กระบุว่า

"ผมเป็นนักเรียนสายวิทย์ที่ไปเรียนต่อสายศิลปะคือสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังนั้นจะว่าไปแล้ว วิชาวิทยาศาสตร์สายต่างๆ ที่เรียน ก็เป็นแค่ทางผ่านในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ในชั้นมัธยมปลาย (สมัยนั้นมีแค่ ม.ศ. 4-5) ผมเรียนวิทยาศาสตร์หลักๆ คือ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ทำคะแนนได้ดี เพราะตอนนั้นนิวรอนทำงานเต็มร้อย ท่องจำได้หมด การสอบ เข้าคณะสถาปัตย์ต้องการวิทยาศาสตร์แค่ฟิสิกส์ ดังนั้นจึงเรียนเน้นฟิสิกส์มากกว่าชีววิทยา เคมี ทั้งสามวิชานี้ เรียนไปเพื่อสอบเท่านั้น บอกตรงๆ ว่า ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม

พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็ทิ้งวิชาทั้งหมดนี้ไปอย่างไร้เยื่อใย จนกระทั่งเรียนจบ ไปอยู่เมืองนอก เริ่มอ่านหนังสือแนววิชาการอย่างจริงจัง คราวนี้อ่านหนังสือแนว pop science มากมาย ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะหาหนังสือภาษาไทยด้านเหล่านี้ไม่ได้เลย

เริ่มอ่านดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี ลามไปถึงพันธุกรรมศาสตร์ ทฤษฎีวิวัฒนาการ ฯลฯ จำไม่ได้ว่าอ่านไปกี่เล่ม ระยะเวลาที่อ่านราว 25 ปี ก็คงหลายเล่มอยู่

หนังสือของ Carl Sagan, Richard Dawkins, Arthur C. Clarke ฯลฯ อ่านหมดทุกเล่มฟิสิกส์จักรวาล ควอมตัม สตริง กวาดหมดเกลี้ยงแผง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง ค่อยๆ งมเอาทีละนิดอ่านลึกเข้าไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกทึ่งว่าโลกนี้มีความรู้มากมายเหลือเกิน จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อปะติดปะต่อเชื่อมแต่ละเรื่องที่อ่านด้วยกัน ก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมเราควรเรียนวิทยาสาสตร์

และเริ่มเห็นว่าวิธีการเรียนวิทยาศาสตร์ของบ้านเรานั้นใช้ไม่ได้ แทบไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากแค่เอาไว้สอบ พูดง่ายๆ คือ เราจะรู้สูตรเคมีไปทำไม ถ้าเราไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับโครงสร้างโลกและชีวิต มันสนุกเมื่อเรารู้ว่าระบบการทำงานของประสาทสมองเป็นเคมีและไฟฟ้า และมันอาจเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของเราผ่านพฤติกรรมที่อาจเกิดจากเคมี

การเรียนดาราศาสตร์เฉยๆ ไม่สนุกหรอก หากไม่รู้ว่าโครงสร้างของดวงดาวต่างๆ เป็นอะตอมเดียวกับที่ประกอบเป็นร่างกายเรา และโครงสร้างจักรวาลทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า เรามาอยู่ในโลกนี้อย่างไร วิวัฒนาการทำให้เข้าใจว่าเราแปลงจากปลามาเป็นคนได้อย่างไร

เรียนแบบนี้สนุกและน่าค้นหาเพิ่มเติมกว่าเยอะ วิชาวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เหล่านี้ยังพาเราไปสู่พื้นที่ของปรัชญา ศาสนาไปโดยปริยาย เมื่อมันเชื่อมกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และอื่นๆ ทำให้เราเข้าใจชีวิตในสเกลใหญ่และเล็ก มันทลายกรอบคิดเดิมหลายกรอบลง เพราะหากโครงสร้างใหญ่บอกว่า สิ่งที่รู้มานั้นไม่ใช่อย่างที่คิด แม้จะสวนทางกับสามัญสำนึก มันก็เผยข้อเท็จจริงออกมา ที่ทำให้เราเข้าใจโลกดีขึ้นกว่าการเรียนรู้แค่ศาสตร์สองศาสตร์

ดังตัวอย่างที่ผมบอกว่า คุณขับรถไปเที่ยวรอบโลก ตลอดทางถนนของคุณเป็นระนาบตรง แต่เนื่องจากเส้นรอบวงโลกกลม 'เส้นตรง' ที่คุณเดินทางก็ต้องโค้ง โครงสร้างใหญ่จะล้มความเชื่อเดิมลง ด้วยหลักฐานที่ใหญ่กว่า

และนี่ก็คือเหตุผลที่มันทลายความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ลง เพราะโครงสร้างใหญ่ชี้ว่าโครงสร้างเล็กไม่ใช่อย่างที่เห็น และอีกหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องศาสนาที่ในบ้านเราแทบแตะไม่ได้เลย เพราะกรอบคิดหลายเรื่องฝังแน่นลึก

การศึกษาแบบจับฉ่ายอย่างนี้ก็คือเหตุผลที่ผมบอกเสมอว่า เราไม่มีทางเข้าใจเรื่องศาสนาหากไม่ศึกษาจักรวาลวิทยา ไม่มีทางเข้าใจเรื่องสังคมมนุษย์หากไม่เข้าใจเรื่องเคมีในสมองและวิวัฒนาการ เราจะเชื่อคำทำนายของหมอดูหรือซินแสได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้กลไกการทำงานของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ (เหมือนกับที่ก่อนกินยาที่หมอจ่าย ก็ศึกษาก่อนว่ามันรักษาเรายังไง) ฯลฯ


ผมปฏิเสธคำกล่าวประเภท "ศาสตร์นี้มีมาในโลกตั้งหลายพันปี อะไรที่อยู่นานขนาดนี้ย่อมต้องมีค่า"หรือ "คัมภีร์เขียนไว้อย่างนี้ ก็ต้องถูก"

อาจจะจริง อาจจะไม่จริง

ผมปฏิเสธคำกล่าวประเภท "เรื่องบางเรื่องมนุษย์ไม่ควรรู้" หรือ "เรื่องบางเรื่องมนุษย์ไม่มีทางรู้"

เราควรรู้ทุกเรื่อง

เราควรเสือก (SEUK) ทุกเรื่อง

SEUK = Seek Education Until Known. (แสวงหาการศึกษาจนกว่าจะรู้)

เราจำเป็นต้องเรียนกว้าง เพราะทุกศาสตร์ในโลกสัมพันธ์กับเราหมด และมันอาจทำให้เราเข้าใจความหมายของชีวิตว่าเราเกิดมาทำไม และท้ายที่สุด ก็อาจทำให้เรามีความสุขขึ้นได้ จากความเข้าใจ ไม่ใช่จากความเชื่อ

และเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจก็คือวิทยาศาสตร์สายต่างๆ

แต่คุ้นๆ ไหมครับที่พอพูดแบบนี้ จะได้ยินคำแย้งตามมาเสมอว่า "วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายทุกเรื่องในโลก"

ประโยคนี้เกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจคำว่าวิทยาศาสตร์ผิดๆ

โดยหลักการ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เทคโนโลยีหรือบทเรียนหรือสูตรคำนวณ มันคือกระบวนการค้นหาความจริง ผ่านการทดลอง การค้นหา การทดสอบ จนได้หลักฐาน และพบความจริง

แน่ละ ณ วันนี้เครื่องมือชนิดนี้ยังตอบทุกอย่างไม่ได้ แต่มันยังคงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เรามี

และนี่เองที่คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเราต้องคิดแบบวิทยาศาสตร์

และทำไมเราควรเสือกทุกเรื่อง"

เครดิตแหล่งข้อมูล : FB วินทร์ เลียววาริณ

ทำไมเราควรเสือก(SEUK)ทุกเรื่อง...

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์