ที่มาของกระดาษทิชชูสีชมพูตามร้านอาหาร


ได้ชม “เดี่ยว 8″ ของ “โน้ส อุดม แต้พานิช” ผู้บุกเบิกและเป็นเจ้าพ่อตลกสแตนด์อัพ คอมเมดี้ ในเมืองไทย นั่งๆ ดูไปสังเกตได้ชัดว่า มีอยู่ “มุข” หนึ่งไม่ค่อยตลก แต่ออกจะไปทางให้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ จนทำให้กลุ่มผู้ฟังนั่งเงียบ-อึ้งกันไปทั้งโรง

นั่นคือมุขที่คุณโน้สให้ข้อมูลบอกว่า อันกระดาษทิชชู “สีชมพู” ที่เราเห็นวางกันตามร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ นั้น แท้จริงแล้วมันมีที่มาจาก “กระดาษ เอ 4″ เปื้อนหมึก ซึ่งเอามาผ่านกระบวนการรีไซเคิลใหม่!

แล้วคุณโน้สก็ตบมุข เนียนๆ ว่า ตามร้านอาหารทั่วๆไป หรือจะเป็นร้านอาหารตามข้างทาง หรือว่าโต๊ะจีน อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่เห็น กระดาษทิชชู่สีชมพูดูน่ารัก แล้วเราก็เกิดอาการคันไม้คันมือ อยากจะทำอะไรสักอย่างกับกระดาษทิชชู่อันนี้ แล้วพอบริกรเอาจานกับช้อนส้อมมาวางเราก็จะ…….? ใช่แล้ว เอากระดาษทิชชู่อันนั้นมาเช็ดช้อนส้อม จานหรือว่าแก้วน้ำที่เราจะใช้ดื่มกิน เพราะคิดว่ามันคงจะสะอาดขึ้น

พี่น้องครับ พี่น้องรู้อะไรกับกระดาษทิชชู่สีชมพูนี้หรือเปล่า กระดาษทิชชู่อันนี้เป็นกระดาษทิชชู่เกรดต่ำ ราคาถูก ทำมาจาก “กระดาษ ขนาดเอ4 ที่ใช้แล้ว” คือจะมีการพิมพ์อะไรต่างๆนานา แล้วนำมาบดทำลายเป็นเส้นเล็กๆ จากนั้นเอามาบดเข้าด้วยกัน ก็นะครับ ก็ทั้งเศษกระดาษหมึกพิมพ์ก็รวมกันในนั้น จากนั้นก็มาตากแห้งทำเป็นแผ่นยาวๆ จะได้เป็นกระดาษที่มีหมึกปนอยู่ในเนื้อกระดาษ แต่ว่ากลัวว่า ถ้าเอาไปขายเป็นกระดาษขาว จะไม่ได้ราคาดี ก็เลยไปย้อมสีชมพู ให้มันดูน่ารัก แล้วก็มาทำเป็นทิชชู่ นำออกขาย

พี่น้องครับ ยังคิดว่า ระหว่างช้อนซ้อมกับกระดาษทิชชู่สีชมพู อะไรสะอาดกว่ากัน? แล้วหลังจากที่รู้แบบนี้ จะใช้ต่ออีกมั้ยครับ?

ทีนี้คงรู้แล้วนะว่า ระหว่างช้อนส้อมที่วางอยู่เฉยๆ กับการที่เราเอากระดาษทิชชูที่ว่ามาเช็ดช้อนส้อมนั้น อะไรสะอาดกว่ากัน!?

ประเด็นนี้ คุณโน้สพูดถูก แต่ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะอาจไม่มีเวลาเล่าทั้งหมด โดยถ้าจะขยายข้อมูลให้ชัดเจนมากขึ้น คงต้องฟังจากสิ่งที่นายช่างใหญ่ ผู้ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตกระดาษทิชชูชื่อดังมา 30 ปี กรุณาให้ความรู้เอาไว้ว่า ทิชชูสีชมพูนั้นรีไซเคิลจากกระดาษ เอ 4 รวมถึงกระดาษที่เราใช้พิมพ์เอกสารต่างๆ จริง และกระดาษทิชชูส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่มีกระดาษ เอ 4 ผสมอยู่เช่นกัน

ข้อแตกต่างอยู่ตรงที่ ยิ่งทิชชูคุณภาพดีเท่าไหร่ สัดส่วนการผสมเอ 4 รีไซเคิลลงไปก็จะน้อยลงเท่านั้น เพราะจะมีปริมาณเยื่อไม้มากขึ้น จึงทำให้เนื้อทิชชูคุณภาพดีมีความนุ่มสูง ไม่สาก แต่ราคาแพง

อย่างไรก็ตาม ก่อนนำเอ 4 รีไซเคิลมาใช้ มันจะถูกทิ้งลงไป ในหม้อต้มเพื่อดึง หรือดูด เอา “หมึก” ออกไป เรียกว่าขั้นตอน “ดี-อิงก์” ทั้งยังต้องผ่านความร้อนถึง 200 องศาเซลเซียส

ฉะนั้นไม่ว่าเชื้อโรค สิ่งสกปรกใดๆ ก็ไม่มีทางเล็ดรอดผ่านกระบวนการนี้ไปได้ ส่วนจุดประสงค์การใส่ “สี” ก็เพื่อกลบเนื้อของทิชชูที่ดูไม่ค่อยนวล และทำให้ดูน่าใช้ยิ่งขึ้น

เรื่องราวการเดินทางของทิชชูสีชมพูในเดี่ยว 8 ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ล่ะครับ นำมาเล่าให้ฟังอีกที จะได้ทราบที่ไปที่มากันชัดๆ

ข้อมูล makemai.blogspot.com


ที่มาของกระดาษทิชชูสีชมพูตามร้านอาหาร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์