ทุกคนสามารถมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ 20 คำถามกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

1. ใครเป็นผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก กอช.
- บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือสมาชิกกองทุนหรืออยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญอื่น ที่มีการจ่ายสมทบโดยรัฐบาลหรือนายจ้าง

2. เริ่มสมัครสมาชิกได้แล้วหรือยัง
- กอช. จะเริ่มรับสมัครสมาชิกเมื่อกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ
ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ครม. ได้อนุมัติหลักการของร่างกฎกระทรวงแล้ว (เริ่มรับสมัครแล้วเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2558)

3. อายุเกินกว่า 60 ปี แต่อยากสมัครเป็นสมาชิก กอช. ด้วย ทำได้หรือไม่
- ตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 กำหนดให้ภายใน 1 ปีแรกที่เปิดรับสมาชิกเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆสามารถออมต่อไปได้อีก 10 ปี โดยมีสิทธิขอรับบำนาญได้เมื่ออายุครบ 60 ปีเป็นต้นไป

4. สมัครสมาชิก กอช. ต้องส่งเงินสะสมอย่างไร
- ท่านต้องเริ่มสะสมเงินงวดแรกพร้อมไปกับการสมัครสมาชิก สำหรับการส่งเงินสะสมของสมาชิกนั้น จะต้องสะสมไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินกว่า 13,200 บาทต่อปี

5. รัฐบาลจะสมทบเงินให้เท่าใด อย่างไร
- เมื่อสมาชิกส่งเงินสะสม รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ ภายในสิ้นเดือนถัดไป โดยเงินสมทบที่จ่ายจะเป็นสัดส่วนของเงินสะสมแต่ละงวดนั้นๆ และสัมพันธ์กับอายุของสมาชิกในขณะที่ส่งเงินสะสมนั้น ทั้งนี้ ได้กำหนดเพดานการสมทบเงินสูงสุดในแต่ละปีไว้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระทางการคลังของประเทศมากจนเกินไป ดังนี้
-อายุของสมาชิกขณะส่งเงินสะสม ตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่เกิน 30 ปี เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ 50% ของเงินสะสม เพดานเงินสมทบจากรัฐบาลไม่เกิน 600 บาท/ปี
-อายุมากกว่า 30 ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้
เพดานเงินสมทบจากรัฐบาล* 80% ของเงินสะสม เพดานเงินสมทบจากรัฐบาลไม่เกิน 960 บาท/ปี
-อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ 100% ของเงินสะสม เพดานเงินสมทบจากรัฐบาลไม่เกิน 1,200 บาท/ปี

6. จะสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมได้ที่ใดบ้าง
- ในเบื้องต้นนี้ได้พิจารณาให้ธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางหลักในการรับสมัครสมาชิกรวมถึงรับเงินสะสมจากสมาชิกด้วย

7. สมาชิกต้องส่งเงินสะสมทุกเดือนหรือไม่ และต้องส่งเป็นจำนวนเท่ากันหรือไม่
- ไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือน
นอกจากนี้ หากในปีใดท่านไม่สามารถนำส่งเงินสะสมได้กอช.จะยังคงสิทธิ์ความเป็นสมาชิกและคงบัญชีรายบุคคลของท่านไว้ ทั้งนี้ หากท่านมิได้ส่งเงินสะสม รัฐก็จะไม่ส่งเงินสมทบให้ โดยหลักการแล้วในขณะที่ท่านไม่มีรายได้เพียงพอ ท่านอาจหยุดส่งเงินสะสมได้แต่เมื่อท่านมีรายได้ ก็ควรต้องส่งเงินสะสมเพื่อชดเชยส่วนที่ได้ขาดส่งไปเพื่อรักษาวินัยการออม มิฉะนั้นท่านอาจมีเงินออมน้อยทำให้ได้รับเงินบำนาญในอนาคตในจำนวนน้อย

8. อยากออมเงินมากกว่าปีละ 13,200 บาท จะทำได้หรือไม่
- เนื่องจากรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนให้กับสมาชิก กอช.ทุกคน โดยคิดคำนวณอัตราผลประโยชน์ให้ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง ดังนั้น สมาชิกจะมีสิทธิออมได้ไม่เกินปีละ 13,200 บาท
ทั้งนี้จะมีการทบทวนเพดานเงินสะสมและเงินสมทบทุก 5 ปี ตามความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ

9. มีเงินออมน้อย จะได้รับบำนาญหรือไม่
- หากเงินที่สมาชิกสะสมมารวมกับเงินที่รัฐสมทบให้และดอกผลจากการลงทุน มีจำนวนค่อนข้างน้อย ซึ่งเมื่อหารเฉลี่ยตามสูตรการคำนวณบำนาญของกอช. แล้ว ได้จำนวนเงินต่อเดือนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น น้อยกว่า 600 บาทต่อเดือน แล้ว กอช.
จะไม่สามารถจ่ายบำนาญให้แก่ท่าน แต่จะจ่ายเป็น "เงินดำรงชีพ"แทน โดยการจ่ายเงินจะจ่ายเป็นเงินดำรงชีพเท่าๆ กันทุกเดือนจนกว่าเงินในบัญชีของท่านจะหมดลง เช่น หากเงินในบัญชีตอนสมาชิกอายุ 60 ปีมีจำนวน 6,000 บาท และเมื่อนำมาคำนวณบำนาญแล้วได้ประมาณ 30 บาท ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 600 บาท ซึ่งทำให้สมาชิกจะไม่ได้รับบำนาญแต่จะได้รับเงินดำรงชีพเดือนละ 600 บาท เป็นเวลา 10 เดือน

10. อยากได้รับบำนาญใช้ตลอดชีวิตไม่อยากได้รับเป็นเงินดำรงชีพต้องทำอย่างไร
- ท่านจะต้องวางแผนการส่งเงินสะสมของท่านโดยรอบคอบโดย หากมีรายได้มากขึ้นก็ควรสะสมเงินเพิ่มขึ้น และที่สำคัญต้องส่งเงินสะสมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย
เพื่อให้มียอดเงินในบัญชี กอช.เพียงพอที่จะได้รับเงินบำนาญในวัยเกษียณ

11. เป็นสมาชิก กอช. กว่าจะได้ใช้เงิน ก็ต้องคอยจนถึงอายุ 60 ปีนานไปหรือไม่
- สะสมเงินวันละเล็กละน้อยในวันนี้ เพื่อให้ท่านมี "บำนาญ"ใช้ในอนาคต เป็นหลักประกันส่วนหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตยามชรา หากพิจารณาในกรณีเทียบเคียงกัน ข้าราชการที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข. ก็ต้องรอจนเกษียณอายุจึงจะได้เงินบำนาญ แม้แต่ลูกจ้างบริษัทเอกชนเมื่อเกษียณอายุเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคม และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

12. กรณีที่ได้รับบำนาญ จะได้รับไปจนถึงอายุเท่าใด
- เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และยอดเงินในบัญชี กอช. ของท่านมีจำนวนมากพอ ท่านจะได้รับบำนาญรายเดือน ซึ่งจะได้รับไปตลอดชีพโดย กอช. จะจ่ายบำนาญให้ท่านทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน แม้ว่าในความเป็นจริงจำนวนเงินในบัญชีรายบุคคลของท่านจะหมดลงไปแล้วก็ตาม กอช. ก็จะใช้เงินกองกลางจ่ายบำนาญให้แก่ท่านอย่างต่อเนื่องจนตลอดชีวิต
13. สมาชิกเมื่ออายุครบ 60 ปี แล้วยังคงได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกหรือไม่
- สมาชิกที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว หากเป็นสมาชิก กอช. ก็ยังคงมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่เช่นเดิม

14. เป็นสมาชิก กอช. แล้วมีสิทธิรับเงินอย่างไรบ้าง
- สิทธิรับเงินได้ 4 กรณี ได้แก่
1. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ : ได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต
2. ทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี : ได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
3. ลาออกจากกองทุน : ได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม
4. เสียชีวิต : ได้รับเงินเท่าจำนวนเงินในบัญชีของแต่ละบุคคล
15. เมื่อได้งานเป็นลูกจ้างเอกชนหรือข้าราชการต้องลาออกจาก กอช.หรือไม่
- ท่านไม่ต้องลาออกจากกองทุน กล่าวคือ เมื่อท่านได้งานและเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพอื่นๆ ท่านยังคงความเป็นสมาชิกและมีสิทธิส่งเงินสะสมกับ กอช. ได้แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ และเงินที่สะสมในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ถูกนำมารวมคำนวณเป็นเงินบำนาญ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ท่านออกจากงานและมาเป็นแรงงานนอกระบบอีกครั้ง ท่านสามารถกลับเข้า กอช. ได้โดยส่งเงินสะสมและได้รับเงินสมทบจากรัฐดังเดิม

16. ข้าราชการบำนาญ สมัคร กอช. ได้หรือไม่
- ตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติที่อยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่า ปีแรกที่กองทุนเปิดรับสมาชิก ให้ผู้สมัครที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีสิทธิออมต่อไปได้อีก 10 ปีนับจากวันที่เป็นสมาชิก โดยจะขอรับประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนเมื่ออายุครบ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้สมัครที่มีอายุ
ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปนี้ จะรวมถึงผู้ที่เกษียณอายุราชการ ให้มีสิทธิ
สมัครและออมต่อไปได้ 10 ปีด้วย เพราะถึงแม้ผู้ที่เกษียณอายุ
ราชการจะได้รับบำนาญอยู่แล้วทุกเดือน แต่ไม่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการชราภาพใดๆ จึงได้รับสิทธิดังกล่าว

17. ในระหว่างเป็นสมาชิก กอช. จะสามารถ ถอนเงินออกมาใช้ก่อน ได้หรือไม่

- กอช. จะให้ท่านถอนเงินออกได้เมื่อท่านลาออกจากการเป็นสมาชิกก่อนอายุ 60 ปีบริบูรณ์เท่านั้น และเงินที่ได้รับ ก็จะได้รับเฉพาะเงินสะสมของท่านและดอกผลของเงินสะสมนั้น

18. ออมเงินกับ กอช. ดีกว่าฝากเงินกับธนาคารอย่างไร
- สมาชิก กอช. จะได้เงินที่รัฐสมทบให้และผลประโยชน์จากเงินดังกล่าวนอกเหนือจากเงินต้นและดอกเบี้ยเงินฝากในกรณีฝากเงินกับธนาคาร
นอกจากนั้น รัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ย
เงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง

19. สมาชิก กอช.ขอรับสวัสดิการประเภทการกู้ยืมจากกองทุนได้หรือไม่
- ไม่ได้ เนื่องจาก กอช.จัดสวัสดิการด้านชราภาพให้แก่สมาชิกเท่านั้น

20. ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้หรือไม่
- ได้สำหรับผู้ประกันตน ทางเลือกที่ 1 ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี (กรณีได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อมีการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต)สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เลือกทางเลือกที่ 2 ซึ่งได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากทางเลือกที่ 1 ในส่วนของกรณีชราภาพ (บำเหน็จ) จะไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้

ทุกคนสามารถมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ 20 คำถามกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ที่มา https://www.facebook.com/pages/ข้อมูลเกี่ยวกับ-กองทุนการออมแห่งชาติ-กอช


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์